ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน4)

ซอกซอนตะลอนไป                           (1 กันยายน 2567)

ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน4)

ก่อนอินเดียแยกประเทศ

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               เหตุการณ์สังหารโหดที่สวนจัลเลียนวาลา บากห์ ได้สร้างจิตสำนึกของเด็กหนุ่มคนหนึ่งให้เกิดความรักชาติ และ เข้าร่วมต่อสู้ในอุดมการณ์ชาตินิยมของอินเดีย

               เขาชื่อ  บากัต  ซิงห์  

เขารู้สึกหดหู่  เศร้าใจ  และ  โกรธแค้นต่อทหารอังกฤษอย่างยิ่ง  เขาเคยเดินเข้าไปในสวนแห่งนี้  เพื่อสัมผัสกับความโหดร้ายดังกล่าว   เขาได้เห็นร่องรอยของรูกระสุนปืนที่ยังคงได้รับการอนุรักษ์เอาไว้เพื่อเป็นบทเรียนแก่ชนรุ่นหลัง  และเกิดความสะเทือนใจอย่างมาก 


(ร่องรอยของกระสุนปืนที่ติดอยู่ตามผนังภายในสวนจัลเลียนวัลลา บากห์ สร้างความสะเทือนใจให้แก่บากัต ซิงห์ จนนำไปสู่การต่อสู้เพื่ออิสรภาพ-ภาพจากวิกิพีเดีย)

เลือดรักชาติของเขาพลุ่งพล่าน

               เดือนธันวาคม ปี 1928   บากัต ซิงห์  กับ  ศิวาราม ราชกูรู เพื่อนร่วมอุดมการณ์ของเขา ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มปฎิวัติกลุ่มเล็กๆที่เรียกว่า สหพันธรัฐสังคมนิยมฮินดูสถาน  ได้ร่วมกันวางแผนเพื่อจะสังหาร เจมส์ สก๊อตต์ เพื่อแก้แค้นในการที่สก๊อตต์ สั่งการให้ตำรวจทำร้าย ลาลา ลาชพัต ไร  ซึ่งเป็นผู้นำของขบวนการชาตินิยมอินเดีย


(ลาลา ราชพัต ไร นักต่อสู้เพื่ออิสรภาพของอินเดีย -ภาพจากวิกิพีเดีย)

               สก๊อตต์ เป็นคนสั่งให้ตำรวจลุยทำร้ายเขาด้วยไม้ตะบองจน ราชพัต ไร ได้รับบาดเจ็บสาหัส   และหลังจากนั้นอีกเพียง 2 สัปดาห์  ไรก็เสียชีวิตเพราะอาการหัวใจวายเฉียบพลัน  ตามคำประกาศของตำรวจอังกฤษ  

               แต่บากัต ซิงห์ ยิงผิดตัว  ด้วยความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นสก๊อตต์  แต่กลายเป็นนายตำรวจ จอห์น ซอนเดอร์ส แทน   เพราะสก๊อตต์กำลังอยู่ในระหว่างภาคฑัณฑ์  และถูกสั่งให้หยุดทำงานจากกรณีการตายของไร  

               อาจจะเรียกได้ว่า  เป็นครั้งแรกที่ชาวอินเดียหาญกล้าลุกขึ้นมาต่อต้านอย่างตรงไปตรงมา  แบบฟันต่อฟันกับผู้ปกครองชาวอังกฤษ

               แน่นอนว่า   ย่อมสร้างความสะพรึงกลัวต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นชาวอังกฤษ  เพราะไม่รู้ว่าตัวเองจะโดนล้างแค้นแบบนี้เมื่อไหร่

               เรื่องราวของ บากัต ซิงห์ ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนต์โดยช่องทาง NETFLIX สำหรับท่านที่สนใจจะทราบเรื่องราวของเขาในรูปแบบของภาพยนต์สามารถติดตามชมได้


(ราชกูรู ซึ่งได้รับการรำลึกถึงด้วยการทำเป็นสแตมป์ในปี 2013 ในฐานะนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพ- ภาพจากวิกิพีเดีย)

               บากัต ซิงห์ , จันดรา เชคการ์ อาซาด  กับศิวาราม ราชกูรุผู้ทำหน้าที่ชี้เป้าซุ่มรอจนสก๊อตต์ขับรถมอเตอร์ไซด์ออกจากสถานีตำรวจ   ราชกูรู ลั่นกระสุนเพียงนัดเดียว  สก๊อตต์ก็ล้มลง   บากัตตามเข้าไปซ้ำจนสก๊อตต์เสียชีวิต

               ผลการชันสูตรปรากฎว่า  สก๊อตต์เสียชีวิตด้วยกระสุน 8 นัด 

               บากัต ซิงห์ และเพื่อนร่วมอุดมการณ์หลบหนีการจับกุมของตำรวจไปนานหลายเดือน  ในระหว่างนั้น   เขาใช้นามแฝงเผยแพร่อุดมการณ์ของพวกตนในการล้างแค้นให้แก่ลาลา ราชพัต ไร เพื่อสร้างกระแสความรักชาติของชาวอินเดียให้ลุกขึ้นมาร่วมต่อสู้

               สุดท้ายในเดือนเมษายน ปี 1929  เขาและพรรคพวกก็เข้าไปที่อาคารรัฐสภา ในกรุงเดลี  แล้วโปรยใบปลิว และ ตะโกนประกาศเจตนารมณ์อุดมการณ์ของพวกตน เพื่อให้ประชาชนชาวอินเดียได้ตระหนักถึงการกู้ชาติของพวกเขา

ในทันที  ตำรวจก็เข้ามาควบคุมตัวเขาไว้

เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร   รอติดตามในสัปดาห์ครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .