ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน3)

ซอกซอนตะลอนไป                           (25 สิงหาคม 2567)

ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน3)

ก่อนอินเดียแยกประเทศ

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ข่าวการสังหารโหดชาวฮินดู และ ชาวซิกห์ ในสวนจัลเลียนวาลา บากห์ ของทหารอังกฤษแพร่ออกไปทั่วโลก  สร้างความขายหน้าและขยะแขยงต่อนานาประเทศเป็นอย่างยิ่ง

               สถานะของการเป็นผู้ปกครองอินเดียของรัฐบาลอังกฤษจึงย่ำแย่ลงเรื่อยๆในสายตา และ ความรู้สึกของชาวอินเดีย  เกิดความรู้สึกต่อต้านอย่างเงียบๆอย่างกว้างขวาง

               ในขณะที่ในเมืองอัมริตสาร์  เมืองทั้งเมืองตกอยู่ภายใต้ความเงียบงัน  เป็นความเงียบที่น่าสะพรึงอย่างยิ่ง   ประชาชนในเมืองต่างปิดร้านค้าของตนเอง   หยุดทำการค้าขาย  มีนัยยะแสดงความไม่เห็นด้วยต่อเหตุการณ์ดังกล่าว และการประท้วงเงียบ  


(หนังสือที่บันทึกความโหดร้ายของนายพลไดเออร์ – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ไดเออร์ ได้พบกับตัวแทนของชาวเมืองที่มายื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล   แต่ไม่ยอมรับข้อเรียกร้องจากชาวบ้าน   ซ้ำยังปราศรัยกับชาวบ้านด้วยกิริยายะโสโอหัง อีกว่า

               “พวกคุณประชาชนทั้งหลายรู้ดีว่าผมเป็นทหาร  และ เป็นทหารเต็มตัว   คุณต้องการอะไร   สงคราม หรือ ความสงบสุข   หากพวกคุณต้องการสงคราม   รัฐบาลของเราพร้อมที่จะมอบสงครามให้   แต่หากคุณต้องการความสงบสุข   ก็จงเชื่อฟังคำสั่งของผม  และเปิดร้านค้าขายซะ   หรือไม่  ผมก็จะยิงพวกคุณ   สำหรับผม   สนามรบในฝรั่งเศส  หรือ  ในอัมริตสาร์ มันก็ไม่ต่างกัน”

               คำพูดของไดเออร์ ที่บันทึกไว้ในหนังสือ “THE BUTCHER OF AMRITSAR” เขียนโดย NIGEL  COLLETT

               ที่ไดเออร์ กล้าแสดงความกร่างแบบนี้ก็เพราะเขารู้ว่า  เขาได้รับการสนับสนุนจากเจ้านายเหนือหัวของเขาขึ้นไปทุกระดับ

               หลังจากไดเออร์ เดินทางกลับอังกฤษ   วันที่ 8 กรกฎาคม 1920  สภาผู้แทนราษฎร์ได้ลงมติอย่างท่วมท้น 247 ต่อ 37 เสียงให้ประนามไดเออร์   แม้ว่า  ที่ประชุมของกองทัพ (ARMY COUNCIL) จะไม่เห็นด้วยก็ตาม 

               แต่วุฒิสภา  หรือ  สภาขุนนาง ของอังกฤษ กลับประกาศยกย่องการกระทำของไดเออร์   ยิ่งไปกว่านั้น  ยังได้รวบรวมเงิน 26000 ปอนด์สเตอริง (เทียบเท่ากับประมาณ 1,319,142 ปอนด์ในปี 2023)   เพื่อมอบให้แก่ไดเออร์  ประหนึ่งเป็นการปูนบำเหน็จในการกระทำของเขาในครั้งนี้ 

               เหมือนราดน้ำมันลงไปในกองเพลิง  และเป็นการกระทำที่ฝืนความรู้สึกของชาวอินเดีย และ ชาวโลกอย่างยิ่ง 

รัฐบาลอังกฤษผลักดันตัวเองไปอยู่ในมุมอับอย่างช่วยไม่ได้  

การสังหารโหดที่สวนจัลเลียนวาลา บากห์  เป็นบาดแผลที่อยู่ในใจชาวอินเดียส่วนใหญ่ที่มองเห็นความไม่เป็นธรรมที่ผู้ปกครองชาวอังกฤษเป็นผู้มอบให้  และ  แสดงให้เห็นถึงการเหยียดหยามชาวอินเดียและปฎิบัติต่อพวกเขาราวกับไม่ใช่คน


(บากัต ซิงห์ นักสู้เพื่อเอกราชของอินเดียในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 – ภาพจากวิกิพีเดีย)

เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างนักปฎิวัติต่อต้านการปกครองของอังกฤษขึ้นมาจำนวนมาก  หนึ่งในนั้นคือ บากัต ซิงห์ (BHAGAT SINGH)  

บากัต ซิงห์ เกิดในปี 1907  ก่อนเกิดเหตุการณ์สังหารโหดที่สวนจัลเลียนวาลา บากห์ 12 ปี   ดังนั้น   เขาจึงรับรู้เรื่องราวความโหดร้ายนี้อย่างเต็มหัวใจ 

เขาจะทำอย่างไรต่อไป   โปรดติดตามในสัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .