ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน 1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (11 สิงหาคม 2567)

ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน 1)

ก่อนอินเดียแยกประเทศ

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ข่าวใหญ่สุดๆของของอินเดียในเดือนสิงหาคม ปี 2019 ก็คือ  การยกเลิกกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 370  ที่ดำเนินการอย่างกล้าหาญและแยบยลโดย นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรี จากพรรค BJP

               เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญอย่างมาก จนมีผู้นำไปสร้างเป็นภาพยนต์ออกฉากทางช่อง NETFLIX ซึ่งแม้ว่า  ภาพยนต์จำเป็นที่จะต้องดัดแปลงเรื่องราวบางส่วน  และ เปลี่ยนชื่อบุคคลหลายคนในเหตุการณ์จริงเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกฟ้องร้อง  แต่ก็ยังเป็นภาพยนต์ที่น่าติดตาม และ มีสาระสำคัญใกล้เคียงกับเหตุการณ์จริงมาก


(ภาพยนต์เรื่อง “มาตรา 370 ทาง NETFLIX ซึ่งผมขอแนะนำให้ชมครับ) 

               การยกเลิกมาตรา 370 ทำให้ชาวอินเดียส่วนใหญ่แสดงความชื่นชมต่อความกล้าหาญของโมดี  ที่ทำให้ชาวฮินดูแคชเมียร  ชาวอินเดียในรัฐอื่นๆเหมือนได้เกิดใหม่อีกครั้ง

               หลังจากที่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของอินเดียมาหลายปี ได้เห็นความขัดแย้ง การต่อสู้ที่ทำให้ประชาชนนับหมื่นต้องสังเวยชีวิตเพื่ออิสรภาพ   ผมจึงอยากนำเรื่องราว และ ประวัติศาสตร์ความเป็นมา  และ  การสิ้นสุดของมาตรา 370 มาเล่าสู่กันฟัง

               ผมพยายามคัดเลือกเอาเหตุการณ์ และ  สาระสำคัญมาร้อยเรียงเพื่อความเข้าใจได้ง่ายที่สุดของท่านผู้อ่าน  และพยายามที่จะไม่ให้ตกหล่นประวัติศาสตร์สำคัญของอินเดียไป  


(นายนเรนทรา โมดี-ภาพจากวิกิพีเดีย)

ที่สำคัญก็คือ   ผมจะเจาะลึกลงไปถึงเหตุผลที่นายนเรนทรา โมดี จะต้องยกเลิกกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 370 ให้ได้   แม้ว่ากฎหมายมาตรานี้จะถูกบังคับใช้มานานถึง 69 ปีแล้วก็ตาม   และไม่ว่ามันจะเป็นภารกิจที่ยากเย็นแสนเข็ญขนาดไหนก็ตาม  

ขอเชิญพบกับ  มหากาพย์ที่ยาวนานของการต่อสู้ของชาวภารตะ  เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบประวัติศาสตร์ความเป็นมา   เผื่อจะเป็นอุทาหรณ์มาถึงบ้านเราบ้าง 

               หลังจากชาวอินเดียต่อสู้เพื่อเรียกร้องอิสรภาพมาอย่างยาวนานจากทั้งราชวงศ์โมกุล  และจากอังกฤษ  ทั้งด้วยความรุนแรงแบบตาต่อตา  และ  การต่อสู้แบบอหิงสา ตามแบบของคานธี มาเป็นเวลานับร้อยปี   ในที่สุด   อังกฤษก็มองเห็นว่า  ไม่สามารถยึดครองอินเดียได้อีกต่อไป 

               ไม่ใช่เพียงแค่การต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพของชาวอินเดียเท่านั้น   สิ่งที่สร้างปัญหาให้แก่อังกฤษไม่น้อยกว่ากันก็คือ  ผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2  และ  ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำในอังกฤษ  

แม้ว่าอังกฤษ จะเป็นหนึ่งในชาติพันธมิตรที่ชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ตาม 

               และที่สร้างผลกระทบในทางเสียหายอย่างมากต่อภาพพจน์ของอังกฤษเป็นอย่างมากก็คือ  การสังหารโหด ที่สวนจัลเลียนวาลา บากห์ (THE JALLIANWALA BAGH MASSACRE)   หรือบางครั้งก็เรียกว่า  การสังหารโหดที่อัมริตสาร์

               โศกนาฎกรรมครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 เมษายน ปีค.ศ. 1919  ในขณะที่กลุ่มคนผู้ประท้วงอย่างสงบกลุ่มหนึ่งกำลังรวมตัวกันในสวน  เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่อังกฤษจับตัวผู้นำของพวกเขาสองคน คือ  ดร.สัตยาปาล และ ดร.ไซฟุดดิน ไปคุมขัง


(ทางเข้าสวนจัลเลียนวัลลา บากห์-ภาพจากวิกิพีเดีย)

วันนั้น   บังเอิญตรงกับวันแรกของเดือน ไวสาคห์ (VAISAKH) ซึ่งเป็นเดือนที่ 2 ตามปฎิทินของชาวปัญจาบ  และถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวปัญจาบด้วย 

ดังนั้น  จึงมีชาวบ้านจำนวนมากมาร่วมเฉลิมฉลองวันปีใหม่ในสวนจัลเลียนวาลา บากห์ ในอัมริตสาร์ รัฐปัญจาบ  ร่วมกับผู้แสวงบุญนิกายไบชัคห์(BAISHAKHI PILGRIMS)   โดยชาวบ้านเหล่านี้ไม่ทราบเลยว่า  รัฐบาลอังกฤษได้ประกาศเคอร์ฟิว ห้ามออกจากบ้าน และ ห้ามการรวมตัวชุมนุมกัน

ผู้คนหลายพันคนมารวมตัวกันอย่างสงบ  โดยไม่รู้ว่า   ความตายกำลังคืบคลานเข้ามาหาเขา

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .