ชีวิตพลิกผันเพราะพวงมาลัยพวงเดียว(ตอน2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (28 กรกฎาคม 2567)

ชีวิตพลิกผันเพราะพวงมาลัยพวงเดียว(ตอน2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

ปี 1959  เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียได้ประกาศว่า  เขาจะเดินทางไปทำพิธีเปิดเขื่อนปานเชต (PANCHET DAM) ซึ่งตั้งอยู่บนแม่น้ำดาโมดาร์(DAMODAR RIVER) ในอำเภอปานเชต  จังหวัดธานบาด  รัฐจาร์คฮาน

ถือเป็นการโครงการแรกๆที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างยิ่ง  เป็นโครงการที่ประกอบไปด้วยเครือข่ายของเขื่อนกักน้ำ  และ โรงงานผลิตไฟฟ้าทั้งแบบกังหันน้ำ(HYDROLELECTRIC PLANT)  ควบคู่กับ ระบบไฟฟ้าพลังความร้อน (THERMAL PLANT) เพราะในลุ่มน้ำแห่งนี้  มีถ่านหินเป็นทรัพยากรจำนวนมหาศาล 


(เขื่อนปานเชต ที่นายเนห์รู เดินทางไปทำพิธีเปิดในปี 1959 – ภาพจากวิกิพีเดีย)

ในขณะที่อินเดียกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นชาติอุตสาหกรรม  ซึ่งต้องใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก

ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีของชาวอินเดียอย่างยิ่ง  เพราะในวันนั้น  เขื่อนใหญ่ที่เมืองอัสวานของอียิปต์ ในปี 1971 ถือเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกยังไม่ได้ลงมือสร้างด้วยซ้ำ

               องค์การบริหารจัดการลุ่มน้ำดาโมดาร์ (DAMODAR VALLEY CORPORATION) ตัวย่อว่า  DVCซึ่งเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ดูแลจัดการเขื่อนดังกล่าว  จึงรีบเตรียมการต้อนรับนายกรัฐมนตรีอย่างเต็มที่ให้สมเกียรติ

               DVC  ได้คัดเลือกเจ้าหน้าที่ขององค์กรจำนวนหลายคน ทำหน้าที่เป็นพนักงานต้อนรับในแถวหน้าสุด   มีทั้งชายและหญิง  ผู้ชายที่ถูกเลือกมีชื่อว่า ราวาน มานจฮี (RAVAN MANJHII) ส่วนผู้หญิงที่ถูกเลือกมีชื่อว่า บุดห์นี มานจฮิยาน(BUDHNI MANJHIYAIN)  


(ภาพถ่ายของ บุดห์นี กับ นายกรัฐมนตรีเนห์รู ในปี 1959 – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ขณะนั้น   บุดห์นี มานจฮิยาน อายุ 15 ปีเท่านั้น

การต้อนรับเป็นไปตามปกติ และ ตามประเพณีของชาวอินเดีย

ประเพณีหนึ่งที่ขาดไม่ได้   แม้จนกระทั่งทุกวันนี้ก็คือ  การมอบพวงมาลัยดอกไม้สดให้แก่แขกผู้มาเยือน   

มาลัย เป็นคำในภาษาสันสกฤต ที่ยืมมาจากภาษาบาลี  ที่ถูกใช้กันบ่อยมากในศาสนาฮินดู   มีใช้ทั้งในรูปแบบหรือนัยยะที่ดี และ โหดร้าย  


(รูปปั้นที่ทำจากกระดาษและดิน ของพระแม่ทุรคา ในพิธีเฉลิมฉลอง ทุรคา บูชา ที่กอลกัตตา-ภาพโดยผู้เขียน)

นัยยะที่โหดๆสักหน่อยก็คือ  พวงมาลัยหัวกะโหลกมนุษย์ของพระแม่ทุรคา  และ พระแม่กาลี ซึ่งทั้งสองปางนี้อาจจะถือว่าเป็นองค์เดียวกันก็ได้

เทศกาลทุรคาบูชา(DURGA PUJA) จะจัดขึ้นทุกปีในรัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดีย ในราวเดือนตุลาคม   เป็นเทศกาลที่เต็มไปด้วยสีสรร และ ความสนุกสนานมาก  ใครยังไม่เคยไปผมขอแนะนำให้ลองไปชมสักครั้งที่เมืองกอลกัตตา   สำหรับปี 2024  จะตรงกับวันที่ 9  ถึง 13 ตุลาคมครับ

หรือแม้กระทั่ง  พวงมาลัยของบุคคลในประวัติศาสตร์ทางศาสนาพุทธเช่น องคุลีมาน  ก็สวมมาลัยที่ทำด้วยนิ้วของมนุษย์

แต่มาลัยที่ใช้ในตามความเชื่อของศาสนาฮินดู จะทำด้วยดอกไม้ที่จำแนกแยกแยะออกไปตามประเภท  ว่าในโอกาสใดจะใช้ดอกไม้อะไร  เช่น  ดอกบัวเป็นดอกไม้ที่ใช้ในการบูชาทั่วไปในหลายๆศาสนาของอินเดีย  เช่น  ฮินดู  พุทธ และ เชน


(ดอกลำโพงม่วง ดอกไม้โปรดของพระศิวะ – ภาพจากวิกิพีเดีย) 

บูชา พระศิวะ จะใช้ดอก Datura  หรือ ที่เรียกว่า  ดอกลำโพงม่วง  ซึ่งเป็นดอกไม้มีพิษ    ในขณะที่  ดอกไม้ที่ใช้ในการบูชา หนุมาน ก็คือ  ดอกมะลิ   ในขณะที่  ดอกไม้ หรือ ใบไม้ที่จะถวายแด่พระกฤษณะ ก็คือ ดอก หรือ ต้นกะเพรา

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .