ชีวิตพลิกผันเพราะพวงมาลัยพวงเดียว(ตอน1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (21 กรกฎาคม 2567)

ชีวิตพลิกผันเพราะพวงมาลัยพวงเดียว(ตอน1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

ผมขอเปลี่ยนบรรยากาศมาสู่เรื่องที่จะว่าเบาก็ไม่ได้  จะว่าหนักก็ไม่เชิง   แต่น่าสะเทือนใจพอสมควรเป็นเรื่องของผู้หญิงชนเผ่าคนหนึ่งในประเทศอินเดียที่ทั้งชีวิตของเธอพังทะลายลงอย่างสิ้นเชิง  เพียงเพราะพวงมาลัยดอกไม้เพียงพวงเดียว 

ก่อนที่จะลงไปในรายละเอียด    ขอเรียนว่า   ประชากรอินเดียนั้นประกอบไปด้วยชนเผ่าต่างๆมากมายกว่า 700 ชนเผ่า  ที่กระจายตัวไปทั่วทั้งอนุทวีปอินเดีย   ชนเผ่าเหล่านี้   ได้รับการรับรองสิทธิ์ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญของอินเดีย ฉบับแรก  และ  ฉบับเดียวในปี 1950

เมื่อมีชนเผ่าต่างๆมากมายกว่า 700 ชนเผ่า    จึงแน่นอนว่า   ความเชื่อ  ประเพณี  และ ภาษาพูดของแต่ละชนเผ่าก็ย่อมแตกต่างกันด้วย


(แผนที่แสดงที่ตั้งของรัฐจาร์คฮาน(ลูกศรชี้))

แต่ในวันนี้  ผมจะพูดถึงชนเผ่าหนึ่งที่เรียกว่า  ชนเผ่าซานทาล(THE SANTHAL) ซึ่งมีถิ่นฐานส่วนใหญ่อยู่ในรัฐจาร์คฮาน(JHARKHAND)  มีพรมแดนติดกับภาคตะวันตกของรัฐเบงกอลตะวันตก

จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยออสโล (UNIVERSITY OF OSLO) ระบุว่า   ชนเผ่าซานทาล มีถิ่นกำเนิดมาจากอาณาจักรจามปา (CHAMPA KINGDOM)ที่อยู่ทางด้านเหนือของประเทศกัมพูชา

งานวิจัยนี้ระบุว่า  ชนเผ่าซานทาล ได้อพยพออกจากถิ่นฐานดั่งเดิมของตัวเองไปทางทิศตะวันตก  เข้าไปในดินแดนอนุทวีปอินเดียเมื่อราว 3000 – 4000 ปีที่แล้ว  และมาลงหลักปักฐานบนที่ราบสูงโชทานักปูร์ (CHOTANAGPUR PLATEAU) ในรัฐจาร์คฮาน ในที่สุด

ปัจจุบัน   ชนเผ่านี้แทบจะไม่มีอะไรแตกต่างจากจากชาวอินเดียอื่นๆเลย  ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกาย  หรือ  ภาษาพูดที่เขาสามารถพูดเลือกพูดภาษาของตนเองในรัฐที่อาศัยอยู่  และ  ภาษาอื่นๆที่เป็นภาษา  ราชการที่รัฐบาลกำหนด  เช่น  ภาษาฮินดี  ภาษาอังกฤษ  เป็นต้น


(ชนเผ่า ซานทราล ในปัจจุบัน – ภาพจากอินเตอร์เน็ต)

               แม้กระทั่ง  ท่านประธานาธิบดีคนปัจจุบัน(ปี 2024) และ เป็นประธานาธิบดีคนที่ 15 ของอินเดีย คือ นางเดราปาตี มุรมู (DROUPADI MURMU) ก็เป็นชนเผ่าซานทราลด้วย


(นางเดราปาตี มุรมู ประธานาธิบดีที่เป็นชนเผ่าของอินเดีย)

               สำหรับท่านที่ยังไม่ทราบขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งอินเดีย  ผมขอเรียนว่า   ตำแหน่งประธานาธิบดีจะถูกเรียกขานอย่างให้เกียรติว่า “ประชาชนคนที่ 1 ของอินเดีย”  และ จะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดของอินดีย (SUPREME COMMANDER OF THE INDIAN ARMED FORCES) อีกด้วย


(ประธานาธิบดีคนที่ 15 ของอินเดีย นางเดราปาตี มุรมู ขณะกำลังตรวจพลสวนสนาม)

ผมขอเข้าเรื่อง “ชีวิตพลิกผันเพราะพวงมาลัยพวงเดียว” ต่อเลยครับ

หลังจากที่อินเดียได้รับเอกราชจากอังกษในปี 1947 แล้ว   นายกรัฐมนตรีเยาวะหะลาล เนห์รู  นายกรัฐมนตรีคนแรกก็เริ่มบริหารประเทศต่อจากอังกฤษ

ปี 1959  เนห์รู ได้ประกาศว่า   เขาจะเดินทางไปรัฐจาร์คฮาน(JHARKHAND) เพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดใช้งานเขื่อนที่มีชื่อว่า ปานเชต (PANCHET DAM)  ในยุคนั้น อินเดียเริ่มที่จะพัฒนาตนเองขึ้นมาเป็นชาติอุตสาหกรรม  โดยเฉพาะอุตสาหกรรมทางด้านสิ่งทอ  ซึ่งริเริ่มมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้วโดยตระกูลตาต้า 

อุตสาหกรรมเหล่านี้   จำเป็นต้องใช้พลังงานจำนวนมาก  และที่ใกล้ตัวมากที่สุด  และ  สร้างได้รวดเร็วที่สุดก็คือ  พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ  หรือ  เขื่อนนั่นเอง

การเดินทางครั้งนี้ของเนห์รู   จะเปลี่ยนชีวิตของผู้หญิงชนเผ่าคนหนึ่งไปโดยสิ้นเชิง

ติดตามตอนต่อไปในสัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .