ซอกซอนตะลอนไป (21 กรกฎาคม 2567)
ชีวิตพลิกผันเพราะพวงมาลัยพวงเดียว(ตอน1)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ผมขอเปลี่ยนบรรยากาศมาสู่เรื่องที่จะว่าเบาก็ไม่ได้ จะว่าหนักก็ไม่เชิง แต่น่าสะเทือนใจพอสมควรเป็นเรื่องของผู้หญิงชนเผ่าคนหนึ่งในประเทศอินเดียที่ทั้งชีวิตของเธอพังทะลายลงอย่างสิ้นเชิง เพียงเพราะพวงมาลัยดอกไม้เพียงพวงเดียว
ก่อนที่จะลงไปในรายละเอียด ขอเรียนว่า ประชากรอินเดียนั้นประกอบไปด้วยชนเผ่าต่างๆมากมายกว่า 700 ชนเผ่า ที่กระจายตัวไปทั่วทั้งอนุทวีปอินเดีย ชนเผ่าเหล่านี้ ได้รับการรับรองสิทธิ์ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญของอินเดีย ฉบับแรก และ ฉบับเดียวในปี 1950
เมื่อมีชนเผ่าต่างๆมากมายกว่า 700 ชนเผ่า จึงแน่นอนว่า ความเชื่อ ประเพณี และ ภาษาพูดของแต่ละชนเผ่าก็ย่อมแตกต่างกันด้วย
![](http://www.whiteelephanttravel.co.th/wp-content/uploads/2024/07/512_1.png)
(แผนที่แสดงที่ตั้งของรัฐจาร์คฮาน(ลูกศรชี้))
แต่ในวันนี้ ผมจะพูดถึงชนเผ่าหนึ่งที่เรียกว่า ชนเผ่าซานทาล(THE SANTHAL) ซึ่งมีถิ่นฐานส่วนใหญ่อยู่ในรัฐจาร์คฮาน(JHARKHAND) มีพรมแดนติดกับภาคตะวันตกของรัฐเบงกอลตะวันตก
จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยออสโล (UNIVERSITY OF OSLO) ระบุว่า ชนเผ่าซานทาล มีถิ่นกำเนิดมาจากอาณาจักรจามปา (CHAMPA KINGDOM)ที่อยู่ทางด้านเหนือของประเทศกัมพูชา
งานวิจัยนี้ระบุว่า ชนเผ่าซานทาล ได้อพยพออกจากถิ่นฐานดั่งเดิมของตัวเองไปทางทิศตะวันตก เข้าไปในดินแดนอนุทวีปอินเดียเมื่อราว 3000 – 4000 ปีที่แล้ว และมาลงหลักปักฐานบนที่ราบสูงโชทานักปูร์ (CHOTANAGPUR PLATEAU) ในรัฐจาร์คฮาน ในที่สุด
ปัจจุบัน ชนเผ่านี้แทบจะไม่มีอะไรแตกต่างจากจากชาวอินเดียอื่นๆเลย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกาย หรือ ภาษาพูดที่เขาสามารถพูดเลือกพูดภาษาของตนเองในรัฐที่อาศัยอยู่ และ ภาษาอื่นๆที่เป็นภาษา ราชการที่รัฐบาลกำหนด เช่น ภาษาฮินดี ภาษาอังกฤษ เป็นต้น
![](http://www.whiteelephanttravel.co.th/wp-content/uploads/2024/07/512_2.png)
(ชนเผ่า ซานทราล ในปัจจุบัน – ภาพจากอินเตอร์เน็ต)
แม้กระทั่ง ท่านประธานาธิบดีคนปัจจุบัน(ปี 2024) และ เป็นประธานาธิบดีคนที่ 15 ของอินเดีย คือ นางเดราปาตี มุรมู (DROUPADI MURMU) ก็เป็นชนเผ่าซานทราลด้วย
![](http://www.whiteelephanttravel.co.th/wp-content/uploads/2024/07/512_3.png)
(นางเดราปาตี มุรมู ประธานาธิบดีที่เป็นชนเผ่าของอินเดีย)
สำหรับท่านที่ยังไม่ทราบขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งอินเดีย ผมขอเรียนว่า ตำแหน่งประธานาธิบดีจะถูกเรียกขานอย่างให้เกียรติว่า “ประชาชนคนที่ 1 ของอินเดีย” และ จะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดของอินดีย (SUPREME COMMANDER OF THE INDIAN ARMED FORCES) อีกด้วย
![](http://www.whiteelephanttravel.co.th/wp-content/uploads/2024/07/512_4.png)
(ประธานาธิบดีคนที่ 15 ของอินเดีย นางเดราปาตี มุรมู ขณะกำลังตรวจพลสวนสนาม)
ผมขอเข้าเรื่อง “ชีวิตพลิกผันเพราะพวงมาลัยพวงเดียว” ต่อเลยครับ
หลังจากที่อินเดียได้รับเอกราชจากอังกษในปี 1947 แล้ว นายกรัฐมนตรีเยาวะหะลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกก็เริ่มบริหารประเทศต่อจากอังกฤษ
ปี 1959 เนห์รู ได้ประกาศว่า เขาจะเดินทางไปรัฐจาร์คฮาน(JHARKHAND) เพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดใช้งานเขื่อนที่มีชื่อว่า ปานเชต (PANCHET DAM) ในยุคนั้น อินเดียเริ่มที่จะพัฒนาตนเองขึ้นมาเป็นชาติอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมทางด้านสิ่งทอ ซึ่งริเริ่มมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้วโดยตระกูลตาต้า
อุตสาหกรรมเหล่านี้ จำเป็นต้องใช้พลังงานจำนวนมาก และที่ใกล้ตัวมากที่สุด และ สร้างได้รวดเร็วที่สุดก็คือ พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ หรือ เขื่อนนั่นเอง
การเดินทางครั้งนี้ของเนห์รู จะเปลี่ยนชีวิตของผู้หญิงชนเผ่าคนหนึ่งไปโดยสิ้นเชิง
![](http://www.whiteelephanttravel.co.th/wp-content/uploads/2024/07/512_5.png)
ติดตามตอนต่อไปในสัปดาห์หน้าครับ