ไต้หวัน ผู้ปฎิเสธรากเหง้าตัวเอง(ตอน18-จบ)

ซอกซอนตะลอนไป                           (14 กรกฎาคม 2567)

ไต้หวัน ผู้ปฎิเสธรากเหง้าตัวเอง(ตอน18-จบ)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

วัฒนธรรมจีน เป็นต้นธารของวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  และ  บนเกาะไต้หวัน  มีประวัติที่เก่าแก่ยาวนานหลายพันปี  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษาพูด   ภาษาเขียน และ วัฒนธรรมเรื่องอาหารการกิน

ไต้หวันรับเอาตัวหนังสือจีนมาเป็นวัฒนธรรมหลักของตัวเอง  และยังคงรักษารูปแบบตัวหนังสือดั่งเดิมตามแบบโบราณเอาไว้  ในขณะที่   ประเทศจีนได้ดัดแปลงตัวอักษรเป็นแบบตัวย่อ  เพื่อให้สะดวกแก่การเขียน และ  การอ่าน

วัฒนธรรมเรื่องอาหารการกินของจีนมีความลึกซึ้ง ซับซ้อน ตามวัตถุดิบในการปรุงอาหาร   และ  รสชาติของอาหารก็แบ่งแยกออกเป็นหลักใหญ่ๆ 8 ตระกูลด้วยกัน  คือ ตระกูลซานตุง , กวางตุ้ง , อานฮุย ,  เจียงซู ,  เจ้อเจียง ,  ฮกเกี้ยนหรือ ฟุเจี้ยน  , เหอหนาน  และ  เสฉวน


(แผนที่แสดงอาหาร 8 ตระกูลของจีน – ภาพจาก เฟซบุ๊ค LEVEL UP CHINA บุกตลาดแบบจีนๆ)

แต่ละตระกูลมีกรรมวิธีในการปรุง และ รสชาติที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน  แต่ที่มีบทบาทมากในประเทศไทยก็คือ ตระกูลกวางตุ้ง ซึ่งแบ่งแยกย่อยลงไปได้อีกหลายจำพวก  เช่น  อาหารแต้จิ๋ว  อาหารไหหลำ   อาหารแคะ  เป็นต้น  

ประสบการณ์ในการเดินทางไปไต้หวันเมื่อต้นปีนี้  เป็นความผิดหวังอย่างแรงเกี่ยวกับอาหารไต้หวัน  พูดตรงๆเลยว่า  ไร้รสชาติ  ไร้ที่มาที่ไป  และ  คุณภาพแย่มาก

อาหารที่เสริฟในร้านอาหารทั่วไป  ไม่มีรสชาติที่จะสามารถอ้างอิงได้เลยว่า  มีต้นกำเนิดจากตระกูลอาหารจีนตระกูลใดจาก 8 ตระกูลที่ว่ามาเลย  และยังไม่สามารถสำแดงความเป็นวัฒนธรรมส่วนตัวของไต้หวันได้อีกเช่นกัน  

อาหารไต้หวันจึงไม่จัดอยู่ในทำเนียบอาหารที่ควรไปลิ้มลองแต่อย่างใด


(ปาท่องโก๋ และ น้ำเต้าหู้ของร้านดังในไทเป  เน้นปริมาณ  ไม่เน้นคุณภาพ-ภาพโดยผู้เขียน)

ร้านขายปาท่องโก๋ กับน้ำเต้าหู้ ที่มีชื่อเสียงในไทเป จนมีคิวยาวเหยียดจากชั้นสองลงมาถึงถนนชั้นล่าง  ที่มีคนชมมากมายก็ไม่มีความอร่อยใดๆเป็นพิเศษควรค่าแก่เวลารอเข้าคิวเลย 

บนถนนคนเดินขายอาหารตอนกลางคืนที่มีอยู่เกือบทุกเมืองของไต้หวัน  แต่เดินจากหัวถนนจนสุดปลายถนนกลับไม่มีอาหารร้านใดที่ชวนให้เข้าไปทานเลย


(ถนนคนเดินกลางคืน ซึ่งบรรยากาศมีเสน่ห์มาก แต่อาหารไม่ได้เรื่อง-ภาพโดยผู้เขียน)

อาหารแทบทุกอย่างเสริฟกันแบบเย็นเยียบ  ไม่ว่าจะเป็นพวกปีกไก่  ตีนไก่ หรือ เครื่องในไก่  ซึ่งห่างไกลจากคำว่า “อาหารจีน” อย่างที่สุด 

สุดท้ายเมื่อไม่มีอะไรทาน   พวกเราเดินมาถึงร้านขายก๋วยเตียวและเกี๊ยวร้อนๆ  ก็เลยลองสั่งมาชิม  ปรากฎว่า  น้ำแกงจืดสนิทประเภทเดาไม่ถูกว่าเขาต้องการจะทำรสชาติไปในทางใด   ซ้ำเกี๊ยวที่เสริฟ  ก็เหมือนกัดก้อนหมั่นโถวยัดไส้หมูนิดหนึ่ง 

หากหลับตาทานอาหารของไต้หวัน  นึกอย่างไรก็นึกไม่ออกว่า  เรากำลังอยู่ในประเทศอะไร


(อาหารร้อนที่ได้รับอิทธิพลจากทาโกยากิ ของญี่ปุ่น-ภาพโดยผู้เขียน)

ไต้หวันปฎิเสธการเป็นคนจีน  ปฎิเสธวัฒนธรรมของจีน  แต่ยังคงใช้อักษรจีน  และที่เหมือนเกลียดตัวกินไข่ ก็คือ ไต้หวันยังคงเก็บรักษาทรัพย์สมบัติมีค่าที่เจียง ไค เช็ค แอบขนออกมาจากประเทศจีน  แล้วเชิดชูว่าเป็นวัฒนธรรมที่ล้ำค่า 

แล้วชาวไต้หวันคิดว่า  ตัวเองควรเป็นอะไรดี

ขอจบเรื่องราวของไต้หวันเอาไว้แค่นี้

สัปดาห์หน้า   ผมจะพูดถึงเรื่องของอินเดีย  ที่เป็นต้นรากของวัฒนธรรมไทยบ้างครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .