ไต้หวัน ผู้ปฎิเสธรากเหง้าตัวเอง(ตอน17)

ซอกซอนตะลอนไป                           (7 กรกฎาคม 2567)

ไต้หวัน ผู้ปฎิเสธรากเหง้าตัวเอง(ตอน17)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

หลี่ เติ้ง ฮุย เป็นมนุษย์ประเภท“นกมีหู หนูมีปีก” 

หลังจากเรียนจบปริญญาเอกในปี 1969  เขาถูกฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลไต้หวันของพรรคกั๊ว มิน ตั๋ง เรียกตัวไปสอบสวน  เนื่องจากพบว่า  เขามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มเรียกร้องอิสรภาพของไต้หวัน  ว่ากันว่า  การสอบสวนในครั้งนั้นยาวนานกว่า 17 ชั่วโมง   


(หลี่ เติ้ง ฮุย ในขณะเดียนชั้นมัธยมปลายในไต้หวัน แต่งชุดเคนโด-ภาพจากวิกิพีเดีย)

แต่ก็ได้รับการปล่อยตัวออกมา

หลังจากนั้นไม่นาน  หลี่ เติ้ง ฮุย ก็เข้าเป็นสมาชิกของพรรคกั๊ว มิน ตั๋ง  ทั้งๆที่เขาไม่เคยศรัทธาในพรรคกั๊ว มิน ตั๋ง เลยแม้แต่น้อย  

ก่อนหน้านั้น   เขาเคยสมัครเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์มาร์กซิสต์  และ  ร่วมในการประท้วงในเหตุการณ์วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ปี 1947 ด้วย

หลี่ ใช้ความสามารถของเขาผลักดันตัวเองจนเข้าสู่ศูนย์กลางระบบการเมืองของไต้หวัน  กลายเป็นคนใกล้ชิดกับ เจียง จิง กั๋ว  ประธานาธิบดี ซึ่งเป็นลูกชายของเจียง ไค เช็ค

เจียง จิง กั๋ว ไว้ใจหลี่ มากจนแต่งตั้งให้เขาดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของเขา  และ หลังจากเจียง จิง กั๊ว เสียชีวิตลง   หลี่ก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของไต้หวันในปี 1988  โดยผ่านกลไกภายในพรรคกั๊ว มิน ตั๋ง

เมื่อขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี  หลี่ เริ่มรื้อระบบการปกครองต่างๆที่พรรคกั๊ว มิน ตั๋ง สร้างขึ้น  เปิดทางให้มีการตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้น  และที่สำคัญก็คือ  จัดให้มีการเลือกตั้งตามระบบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรก  เพื่อให้ชาวไต้หวันทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นคนพื้นถิ่น  ชาวจีนที่อาศัยบนเกาะมาก่อน และ  ชาวจีนที่เพิ่งอพยพเข้ามาในปี 1949  ได้มีส่วนในการเลือกตั้ง


(หลี่ เติ้ง ฮุย กับ เซิง เวิน ฮุย ภรรยาในวันแต่งงาน – ภาพจากวิกิพีเดีย)

ที่แสดงตัวตนของหลี่ก็คือ   การออกมาประณามการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ปี 1947 ซึ่งเป็นผลงานของหัวหน้าพรรค  และ  ผู้ก่อตั้งพรรคกั๊ว มิน ตั๋ง ที่เขาสังกัด  

เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  เขาพยายามสร้างสำนึกความเป็นไต้หวันให้แก่ชาวไต้หวัน  ซึ่งไม่แน่ใจว่า  เป็นแนวคิดที่ได้รับอิทธิพลมาจากอเมริกาหรือไม่

หลังจากนั้น  เขาก็ประกาศให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงจากประชาชน  และ  ทำให้เขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนแรกของไต้หวันที่มาจากการเลือกตั้ง  

นับแต่นั้นมา  ไต้หวันก็มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีมาโดยตลอด


(หลี่ เติ้ง ฮุย แสดงความยินดีต่อ ไช้ อิง เหวิน จากพรรค DPP คู่แข่งของพรรคกั๊ว มิน ตั๋ง เมื่อเธอได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในปี 2016 – ภาพจากวิกิพีเดีย)

ต่อมา   หลี่ได้รับการขนานนามว่า  MR.DEMOCRACY

เขามีความใกล้ชิด และ ฝักใฝ่ในพรรค DPP มาโดยตลอด  ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่เขารื้อฟื้นเหตุการณ์ 228 ขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อจี้จุดอ่อนของพรรคกั๊ว มิน ตั๋ง  และ มีส่วนผลักดันให้วันที่ 28 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นหยุดแห่งชาติ 

แม้ว่า ชาวไต้หวันทุกวันนี้  ยังใช้ชีวิตอยู่ในกระแสธารแห่งวัฒนธรรมจีน ที่ไหลอยู่ในสายเลือดของตนเอง   ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมภาษา  การพูด   การเขียน   การกิน  และ  ความเชื่อ  

แต่หากคุณถามคนไต้หวันว่าเขาเป็นใคร   เขาจะบอกว่า  เขาเป็นคนไต้หวัน  โดยไม่พูดถึงที่มา  หรือ  โยงใยแห่งวัฒนธรรมใดๆจากบรรพบุรุษ  เหมือนกับว่า   เขาเกิดขึ้นมาจากอุทรแห่งไต้หวัน  โดยไม่ต้องมีที่มาที่ไป

แตกต่างจากชาวจีนในประเทศอื่นๆในเอเชียอาคเนย์  ที่มักจะบอกตัวเองว่า เขาเป็น “หวาเฉียว”  หรือ  “หวา ยี่” (OVERSEAS CHINESE) ซึ่งมีความหมายว่า  เป็นผู้อพยพมาจากประเทศจีน  หรือ  เป็นลูกหลานของชาวจีนที่อพยพออกมาจากประเทศจีน

แม้กระทั่ง  ริชี สุนัก อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ยังประกาศอย่างภูมิใจว่า  เขาได้จุดตะเกียงในเทศกาลดิวาลี ในบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวน์นิ่ง  ซึ่งเป็นทำเนียบของนายกรัฐมนตรี  เพื่อแสดงถึงตัวตนของการเป็นชาวฮินดูของเขา  แม้ว่าจะเป็นประชากรอังกฤษไปแล้วก็ตาม  

เขาไม่เคยลืมว่า  บรรพบุรุษของเขามาจากที่ใด  แม้ว่าวันนี้  เขาจะถือสัญชาติอื่นไปแล้วก็ตาม  

ตอนหน้ามาพบกับเรื่องอาหารการกินของไต้หวันกัน เพื่อปิดท้ายเรื่องไต้หวันกันครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .