ซอกซอนตะลอนไป (30 มิถุนายน 2567)
ไต้หวัน ผู้ปฎิเสธรากเหง้าตัวเอง(ตอน16)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
หลังปี 1949 เมื่อเจียง ไค เช็ค นำชาวจีนจำนวนกว่า 2 ล้านคนอพยพข้ามทะเลมายังไต้หวัน ไต้หวันต้องตัดสินใจว่าจะเลือกอยู่ข้างมหาอำนาจฝ่ายใด ระหว่าง อเมริกา และ โซเวียตรัสเซีย
อันที่จริง เจียง ไค เช็ค ได้ตัดสินใจเลือกข้างมาแล้ว ตั้งแต่ตอนทำสงครามสู้รบในสงครามกลางเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์บนแผ่นดินใหญ่จีน
แน่นอนว่า เจียง ไค เช็ค เลือกที่จะอยู่ข้างสหรัฐอเมริกา เพราะขณะนั้น พรรคคอมมิวนิสต์จีน มีสหภาพโซเวียต รัสเซียหนุนหลังอยู่ เจียง ไค เช็ค เคยถึงขนาดขอให้อเมริกามาร่วมทำสงครามกลางเมืองบนแผ่นดินใหญ่จีนเพื่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ แต่อเมริกาเห็นว่า หากเข้าร่วมในสงครามครั้งนี้ สถานการณ์จะบานปลาย และไม่เป็นผลดีต่ออเมริกาโดยรวม
เพราะขณะนั้น อเมริกา กำลังติดพันปัญหาความขัดแย้งบนคาบสมุทรเกาหลีอยู่
เมื่อเจียง ไค เช็ค ปกครองไต้หวัน ก็ประกาศใช้กฎอัยการศึกต่อ ทำให้ชาวไต้หวันจำนวนหนึ่งไม่พอใจต่อรัฐบาลกั๊ว มิน ตั๋ง แต่ความไม่พอใจต่อเหตุการณ์การจลาจลวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1947 ก็ค่อยๆเงียบหายไป เพราะไม่มีใครกล้าพูดถึงอีก
จนกระทั่งเจียง จิง กวั๋อ ลูกชายของเจียง ไค เช็ค ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 เขาได้ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ปี 1987 ทำให้ประชาชนไต้หวันมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น
หลี่ เติ้ง ฮุย เข้าสู่แวดวงการเมืองของไต้หวัน ภายใต้แรงสนับสนุนของ เจียง จิง กวั๋อ แม้ว่า นางซ่ง เหม่ย หลิง ภริยาของเจียง ไค เช็ค และ เป็นมารดาเลี้ยงของเจียง จิง กวั๋อ จะไม่เห็นด้วยก็ตาม
สำนึกของหลี่ เติ้ง ฮุย แตกต่างจากตระกูลเจียงโดยสิ้นเชิง เพราะเขาถือกำเนิดบนเกาะไต้หวัน สำนึกในความเป็นคนจีนของเขาจึงค่อนข้างจะห่างไป และ เขายังมีความรู้สึกแปลกแยกต่อพรรคกั๊ว มิน ตั๋ง โดยสิ้นเชิง
แนวทางของเขาก็คือ ต้องการให้ไต้หวันแยกขาดออกมาจากจีนแผ่นดินใหญ่โดยสิ้นเชิง นโยบายของเขาจึงมีความแข็งกร้าวต่อจีน ซึ่งแตกต่างจากประธานาธิบดีคนก่อนหน้าที่ยังสามารถพูดคุยเจรจากับรัฐบาลปักกิ่งได้
นอกจากนี้ เขายังเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่เปิดเผยเหตุการณ์ 228 หรือ เหตุการณ์การปราบปรามจลาจลในไต้หวันของวันที่ 28 เดือนกุมภาพันธ์ ปี 1947 ด้วย ซึ่งแน่นอนว่า พรรคกวั๊อ มิน ตั๋ง ย่อมตกเป็นจำเลยของสังคมไต้หวันแน่นอน
นอกจากนี้ หลี่ ยังประกาศให้วันที่ 28 กุมภาพันธ์ เป็นวันหยุดแห่งชาติอีกด้วย
แต่กับเหตุการณ์ที่ทหารญี่ปุ่นกระทำย่ำยีต่อชาวไต้หวันเพียงแค่ไม่กี่สิบกว่าปีก่อนหน้านั้น รัฐบาลไต้หวันกลับเงียบเฉย อาจเพราะผู้ปกครองไต้หวันคิดว่า คนที่เสียชีวิตจากการกระทำของญี่ปุ่นเป็นเพียงแค่ชนเผ่าพื้นถิ่นของไต้หวันที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงเท่านั้น
และล่าสุด ในช่วงที่ผมเดินทางไปเที่ยวไต้หวันในเดือนกุมภาพันธ์ รัฐบาลไต้หวันของนางไช้ อิงเหวิน ได้จัดนิทรรศการของเหตุการณ์วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1947 ในหอที่ระลึกเจียง ไค เช็ค ด้วย โดยเน้นให้เห็นถึงความทารุณโหดร้าย และ การบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาลกั๊ว มิน ตั๋ง
จะเห็นว่า บทบาทของไต้หวันหลังปี 1949 ที่เจียง ไค เช็ค อพยพไปตั้งหลักที่ไต้หวัน ไต้หวันเลือกข้างอเมริกาอย่างชัดเจน จนวันนี้ ไต้หวันก็ไม่ต่างอะไรกับอาณานิคมของอเมริกานัก
สัปดาห์หน้าพบกับเรื่องราวของ หลี่ เติ้ง ฮุย บุรุษที่ได้รับการขนานนามว่า ปลิ้นปล้อน และ การเริ่มต้นแยกตัวออกจากสาธารณรัฐประชานจีน