ไต้หวัน ผู้ปฎิเสธรากเหง้าตัวเอง(ตอน11)

ซอกซอนตะลอนไป                           (26 พฤษภาคม 2567)

ไต้หวัน ผู้ปฎิเสธรากเหง้าตัวเอง(ตอน11)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

การล้มล้าง  หรือ เปลี่ยนตัวผู้ปกครองของประเทศไหนๆในโลกล้วนไม่ง่าย  ไม่ว่าจะในประเทศจีน  อินเดีย  พม่า  มาเลเซีย-สิงคโปร์  และ ไต้หวัน 

ญี่ปุ่นปกครองเกาะไต้หวันมาตั้งแต่ปี 1895 จนถึงปี 1945 เป็นเวลา 50 ปีเต็ม  ลำพังการปกครองพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเวลา 50 ปี ย่อมไม่ยากที่ประชากรในพื้นที่นั้นมีความโน้มเอียงไปทางชาติที่มาปกครองได้อยู่แล้ว 

แต่ 50 ปี ที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน   เป็น 50 ปีของการบังคับ ขู่เข็ญให้ประชาชนไต้หวันต้องเปลี่ยนสัญชาติมาเป็นญี่ปุ่น  และ  ในระยะยาวก็จะมีคนจำนวนไม่น้อยเปลี่ยนชื่อมาเป็นญี่ปุ่นด้วย  มิพักต้องพูดถึงภาษาพูดที่จะเปลี่ยนมาเป็นภาษาญี่ปุ่นด้วย


(เฉิน ยี่ (ขวามือ) ทำพิธีรับหนังสือคำสั่งหมายเลข 1 จาก ริคิชิ อันโด (ซ้ายมือ) ซึ่งเป็นผู้ว่าการฯของญี่ปุ่นในการปกครองไต้หวันคนสุดท้าย  ในการส่งมอบไต้หวันคืนให้แก่จีน-ภาพจากวิกิพีเดีย)

ด้วยคำสั่งหมายเลข 1 ของนายพล แม็คอาร์เธอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในชาติพันธมิตรที่ชนะสงครามโลกครั้งที่ 2  ได้มอบให้ จอร์จ เคอร์ ให้เดินทางไปไทเป พร้อมกับ เฉิน ยี่ (CHEN YI) เพื่อดูแลการถ่ายโอนอำนาจจากญี่ปุ่นมาสู่จีนให้เรียบร้อย 

เฉิน ยี่ ก็คือบุคคลที่รัฐบาลกั๊วมินตั๋ง ของ เจียงไคเช็ค แต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารสูงสุด  และ เป็นผู้บัญชาการตำรวจลับ(SECRET POLICE) และ หน่วยงาน สมช. หรือ สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (NATIONAL SECURITY) ของไต้หวันด้วย

สิ่งที่แตกต่างจากการยึดครองไต้หวันของญี่ปุ่น กับ การปกครองของรัฐบาลกั๊ว มิน ตั๋ง ก็คือ  อเมริกาได้ตั้งสถานกงสุลของตนเองขึ้นบนเกาะไต้หวันด้วย  เพราะเป็นช่วงเวลาที่เรียกว่า  ยุคสงครามเย็น  และ  ยุคกลัวคอมมิวนิสต์แบบขี้ขึ้นสมอง 

แน่นอนว่า  อเมริกาจะต้องคอยสอดแนม แทรกแซง ทุกเหตุการณ์ของไต้หวันเสมอ  

เฉิน ยี่ มีความผูกพัน และ มีความสัมพันธ์อย่างดียิ่งต่อญี่ปุ่น   เพราะเคยเรียนวิชาทหารที่ญี่ปุ่นนาน 7 ปี หลังจากกลับมาทำงานในจีนสักพัก  เขาก็กลับไปเรียนต่อในวิทยาลัยทหารที่ญี่ปุ่นอีก 3 ปี


(แผนที่ประเทศจีน มณฑลฟุเจี้ยน(ศรชี้ซ้ายมือ)  และ ไต้หวัน(ศรชี้ขวามือ)- ภาพจากกูเกิ้ล แมพ)

ต่อมา  เขาได้รับตำแหน่งผู้ว่าการจังหวัดคนแรกของมณฑลฟุเจี้ยน ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเกาะไต้หวันที่มีช่องแคบไต้หวันคั่นกลาง

               เป็นคราวซวยของรัฐบาลกั๊วมินตั๋ง  ที่เลือกเอาเฉิน ยี่ มาเป็นผู้บริหารสูงสุดของไต้หวัน  เพราะเฉิน ยี่มีประวัติที่ไม่ค่อยดีนัก   ข้อแรก   เขาเป็นคนที่มีทัศนคติเอนเอียงไปทางญี่ปุ่นอย่างมาก

               ในปี 1935  เฉิน ยี่ ได้รับมอบอำนาจจาก เจียง ไค เช็ค ให้เป็นตัวแทนของรัฐบาลกั๊ว มิน ตั๋ง เดินทางไปร่วมแสดงความยินดีที่ญี่ปุ่นเข้ามาปกครองเกาะไต้หวันครบรอบ 40 ปี 

เฉิน ยี่ ได้เผยทัศนคติของตนเองต่อสาธารณะในระหว่างที่อยู่ในไต้หวัน  เขาแสดงความชื่นชมต่อรัฐบาลญี่ปุ่นว่า  ไต้หวันได้รับการพัฒนาทางด้านสาธารณูปโภคไปไกลมาก  และ  เศรษฐกิจของไต้หวันก็พัฒนาจนแข็งแกร่งกว่าเดิม

การที่รัฐบาลกั๊ว มิน ตั๋ง ส่งตัวแทนไปแสดงความยินดีต่อญี่ปุ่นในการปกครองไต้หวันครบรอบ 40 ปี  แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของรัฐบาลกั๊ว มิน ตั๋ง ต่อไต้หวัน  ซึ่งเป็นแผ่นดินของจีน  แม้ว่า  จีนในสมัยที่รับมอบไต้หวันกลับคืนจะเป็นจีนราชวงศ์ชิงที่ถูกตนเองโค่นล้มไปก็ตาม

จีน ไม่เคยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแท้จริงมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว   ซึ่งประวัติศาสตร์อันยาวนานของจีนก็ได้แสดงประจักษ์พยานให้เห็นแล้ว

ด้วยเพราะแผ่นดินที่กว้างใหญ่ไพศาลมาก   จึงมีความแตกต่างของเชื้อชาติ  ภาษาพูด  และ  วัฒนธรรม ของประชากรค่อนข้างจะมาก   จีนจึงพร้อมเสมอที่จะทำสงครามกันเอง

รอพบกับการเดินทางเจาะลึกอินเดีย  แบบมหาราชา  กับผู้เชี่ยวชาญอินเดีย  ในเดือนพฤศจิกายนนี้

พบกับตอนต่อไปในสัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .