ไต้หวัน ผู้ปฎิเสธรากเหง้าตัวเอง(ตอน10)

ซอกซอนตะลอนไป                           (19 พฤษภาคม 2567)

ไต้หวัน ผู้ปฎิเสธรากเหง้าตัวเอง(ตอน10)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

ญี่ปุ่นเข้าปกครองเกาะไต้หวันตั้งแต่ปี 1895 จนกระทั่งปี 1945   รวมเวลาทั้งสิ้น 50 ปีพอดี  หรือประมาณ 2 ช่วงอายุคน 

ดังนั้น  ประชากรชาวไต้หวันในปี 1945  จึงถือว่าเป็นชาวญี่ปุ่นเต็มตัว   เพราะนับตั้งแต่ญี่ปุ่นเริ่มครอบครองไต้หวันเป็นต้นมา   ชาวไต้หวันที่ต้องการอาศัยบนเกาะไต้หวันจะต้องเปลี่ยนมาถือสัญชาติญี่ปุ่น   มิเช่นนั้นจะไม่สามารถอาศัยอยู่บนเกาะได้ 

ชาวเกาะไต้หวันจึงจำต้องหัดพูดภาษาญี่ปุ่น  เรียนรู้วัฒนธรรมญี่ปุ่น  เข้าเรียนในโรงเรียนของญี่ปุ่น   บางคนอาจจะมีโอกาสได้ไปเรียนในมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นด้วยซ้ำ  ตัวอย่างเช่น  อดีตประธานาธิบดี ลี่ เติ้ง ฮุย

สงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงในวันที่ 2 กันยายน ปี 1945   โดยญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้   ญี่ปุ่นต้องยอมคืนเกาะไต้หวันให้แก่จีนอีกครั้ง

แต่การคืนเกาะไต้หวันให้แก่จีนในครั้งนี้   แตกต่างจากการที่ญี่ปุ่นรับโอนมาในปี 1895 โดยสิ้นเชิง   เพราะในวันที่ญี่ปุ่นยึดครองเกาะไต้หวันในปี 1895 นั้น  จีนอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชของราชวงศ์ชิง  ซึ่งเป็นชาวแมนจู


(พิธีส่งมอบเกาะไต้หวันกลับคืนสู่ประเทศจีน ระหว่างเหอ หยิง จิน และ ยาซูจิ โอคามูระ ที่เมืองนานจิง  – ภาพจากวิกิพีเดีย)

เมื่อญี่ปุ่นต้องคืนเกาะไต้หวัน  ญี่ปุ่นต้องคืนให้แก่ สาธารณรัฐจีน (THE REPUBLIC OF CHINA) ที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลกั๊วมินตั๋ง นำโดยประธานาธิบดีเจียง ไค เช็ค 

ขณะนั้น   ประเทศจีนกำลังอยู่ช่วงสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาล กั๊ว มิน ตั๋ง กับ  พรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่นำโดย เหมา เจอ ตง  สงครามเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ปี 1927


(นายพล เหอ หยิง จิน ผู้รับมอบเกาะไต้หวันจากญี่ปุ่น และ เป็นประธานาธิบดีของไต้หวัน- ภาพจากวิกิพีเดีย)

ดังนั้น   ในวันลงนามเพื่อส่งมอบเกาะไต้หวันมาให้ สาธารณรัฐจีน ตัวแทนของจีนก็คือ นายพล เหอ หยิง จิน  รับมอบไต้หวันจากนายพล ยาสุจิ โอคามูระ  ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ผู้บัญชาการทหารของญี่ปุ่นในจีน

นายพล เหอ หยิง จิน ผ่านการศึกษาในโรงเรียนทหารในประเทศญี่ปุ่นมาก่อน  และทำให้เขาได้รู้จักสนิทสนมกับ เจียง ไค เช็ค ที่นั่น  และ สนิทสนมกันมากขึ้นที่โรงเรียนทหารวังเปาในประเทศจีน

อาจกล่าวได้ว่า  การมารับตำแหน่งผู้ปกครองของไต้หวันของนายพล เหอ หยิง จิน ก็คือการรับเผือกร้อนเข้ามาอยู่ในมือ   ด้วยเหตุผลหลายประการ 


(นายพลเจียง ไค เช็ค ผู้นำของรัฐบาลกั๊ว มิน ตั๋งของจีน-ภาพจากวิกิพีเดีย)

แรกสุดก็คือ  ไต้หวันอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นแบบ“ล้างสมอง”ให้เป็นญี่ปุ่น (JAPANIZATION) มาเป็นเวลานานถึง 50 ปี   สำนึกและความรู้สึกของชาวไต้หวันแทบจะไม่มีความเป็นคนจีนเหลืออยู่เลย

ชาวไต้หวันในขณะนั้น   ล้วนถือพาสปอร์ตของญี่ปุ่น  และ  ถือสัญชาติญี่ปุ่นเป็นหลัก

ดังนั้น   การเปลี่ยนผู้ปกครองของเกาะไต้หวันจากรัฐบาลญี่ปุ่นมาเป็นรัฐบาลจีน กั๊วมินตั๋ง  จึงมีผู้เสียผลประโยชน์  และ ผู้ได้ผลประโยชน์อยู่หลายกลุ่ม

ในขณะที่   รัฐบาลจีนบนแผ่นดินใหญ่เองก็ประสบปัญหาที่ตัวเองก็ยังแก้ไม่ตกก็คือ  สงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลกั๊ว มิน ตั๋ง  กับ กองทัพของพรรคคอมมิวนิสต์   จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐบาลจีนจะเอื้อมมือข้ามช่องแคบไต้หวันมาช่วยรัฐบาลใหม่ไต้หวันได้เลย

ชะตากรรมของรัฐบาลจีนกั๊ว มิน ตั๋ง บนเกาะไต้หวัน  จึงเหมือนจะย่ำรอยเดิมของรัฐบาลญี่ปุ่นที่เข้ามายึดครองไต้หวันในปี 1895 อย่างไรอย่างนั้นทีเดียว

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .