ไต้หวัน ผู้ปฎิเสธรากเหง้าตัวเอง(ตอน9)

ซอกซอนตะลอนไป                           (12 พฤษภาคม 2567)

ไต้หวัน ผู้ปฎิเสธรากเหง้าตัวเอง(ตอน9)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

นักรบผู้ก่อการต่อต้านญี่ปุ่นชาวซิดดิค ถูกปราบปรามลงอย่างรวดเร็ว   จำนวนนักรบผู้ต่อต้านค่อยๆลดลงเป็นลำดับ

วันที่ 28 พฤศจิกายน ปี 1930   โมนา รูดาโอ  หัวหน้าชนเผ่าริดดิค ก็ทำการอัตวินิบาตกรรม หรือ  การฆ่าตัวตาย   ไม่มีบันทึกถึงเหตุผลในการฆ่าตัวตาย    กระนั้น  นักรบชนเผ่าที่เหลือก็ยังรวมตัวกันต่อสู้อย่างเหนียวแน่นต่อไปภายใต้การนำของผู้นำคนใหม่

จนกระทั่งปลายเดือนธันวาคม ปี 1930  กองทัพญี่ปุ่นก็ได้ชัยชนะในสงครามอย่างเด็ดขาด   จากนักรบชนเผ่าซิดดิคที่ร่วมขบวนการต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นจำนวน 1,200 คนเสียชีวิตไปทั้งสิ้น 644 คน

ที่เหลือเกือบ 600 คนเลือกที่จะปลิดชีพตัวเองโดยไม่ยอมให้ญี่ปุ่นจับตัวไปเป็นเชลย  290 คน  เพราะรู้ว่า   ญี่ปุ่นจะกระทำการหยามเกียรติพวกเขาอย่างไร


(ชนเผ่าซีดดิคที่ถูกทหารญี่ปุ่นตัดหัว-ภาพจากวิกิพีเดีย)

รัฐบาลญี่ปุ่นถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในเรื่องทิ้งระเบิดที่ละเมิดข้อตกลงเจนีวา  ทำให้ผู้ว่าการทั่วไปของไต้หวันขณะนั้นคือ คามิยามา ต้องลาออกจากตำแหน่งในเดือนมกราคา ปี 1931  กระนั้นก็ตาม  ญี่ปุ่นก็มิได้เปลี่ยนแนวคิดและวิธีการปกครองของตัวเองไปเลยแม้แต่น้อย 

วันที่ 25 เมษายน ปี 1931  ทหารญี่ปุ่นโดยความร่วมมือจากชนเผ่าอื่นๆ ได้บุกเข้าไปที่หมู่บ้านซิดดิคอีกครั้ง  จับผู้ชายที่มีอายุเกิน 15 ปีขึ้นไปทั้งหมดเพื่อตัดหัว


(อนุสาวรีย์ของหัวหน้าเผ่าโมนา รูดาโอ ที่เมืองวูเชอะ เพื่อรำลึกถึงความกล้าหาญของเขา-ภาพจากวิกิพีเดีย)

ทำให้ผมนึกถึงกรณีล้อมจับกลุ่มผู้ก่อการกบถบนภูเขาในป้อมมาซาดา(MASADA)ในปี 72-73  ซึ่งเป็นการล้อมจับนักรบชาวยิวกลุ่มสุดท้ายที่ต่อสู้กับพวกโรมัน ในพื้นที่ที่เป็นประเทศอิสราเอลปัจจุบันนี้


(ป้อมมาซาดา ในอิสราเอล – ภาพจากวิกิพีเดีย)

จากบันทึกของ ฟลาวิอุส โจเซฟุส(FLAVIUS JOSEPHUS) ชาวโรมันระบุว่า 

หลังจากชาวยิวได้ทำสงครามยื้ดเยื้อต่อกองทัพโรมันอยู่ถึง 3 ปี   เมื่อรู้ตัวว่าจะต้องพ่ายแพ้แน่นอนแล้ว   ชาวยิวเหล่านี้ตัดสินใจเลือกเอาความตาย  แทนที่จะให้ทหารโรมันจับไปเป็นทาส

วิธีการของพวกเขาก็คือ   เขาจะแบ่งคนที่เหลือออกเป็นกลุ่มๆ  กลุ่มละ 10 คน  แล้วให้ในกลุ่มสิบคนเลือกคนที่แข็งแกร่งที่สุดมาหนึ่งคน  ซึ่งคนๆนี้จะต้องทำหน้าที่ที่มีเกียรติสูงสุดก็คือ  หน้าที่ในการสังหารคนที่เหลือทั้ง 9 คน

จากนั้น   เอาคนที่เหลือมาจับกลุ่มเป็น 10 คนอีกครั้ง   แล้วให้หนึ่งคนในกลุ่มทำหน้าที่สังหารคนที่เหลือ   ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆจนเหลือคนสุดท้าย   ซึ่งจะต้องเสียสละอย่างใหญ่หลวงในการสังหารตัวเอง  เพราะถือว่าเป็นการทำบาป

เป็นการจบชีวิตแบบวีรบุรุษอย่างที่เรียกว่า  การตายเพื่อเกียรติยศ (HONOR KILLING)

กระนั้นก็ตาม   นักวิชาการในยุคหลังมีความเห็นแย้งว่า   ไม่น่าจะเป็นการฆ่าตัวตายทั้งหมดในแบบที่ โจเซฟุส ได้บันทึกไว้

การฆ่าตัวตายเพื่อเกียรติยศของตัวเองเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยในประวัติศาสตร์โลก   ที่โด่งดังและมีชื่อเสียงที่สุดเห็นจะเป็นกรณีของ  “พระนางคลีโอพัตรา ที่ 7” แห่งราชวงศ์ปโตเลมี ของอียิปต์


(รูปสลักของพระนางคลีโอพัตราที่ 7 – ภาพจากวิกิพีเดีย)

ตามประวัติศาสตร์ที่เล่าขานกันต่อๆมา    เมื่อพระนางคลีโอพัตรารู้ว่า  “มาร์ค แอนโทนี” คนรักของนางเสียชีวิตแล้ว   พระนางมองเห็นภาพของตัวเองชัดเจนว่า  จะเป็นอย่างไรเมื่อ “ออคเทเวียน” เดินทางเข้ามาถึงเมืองอเล็กซานเดรีย

พระนางเห็นภาพตัวเองอยู่ในกรงที่ถูกแห่ไปตามถนนในโรมเพื่อให้ชาวโรมันได้ถ่มน้ำลาย  ปาก้อนหินและสิ่งของเน่าเหม็นมาใส่เธอ จนกว่าเธอจะตาย

พูดถึงไต้หวัน  แต่ไปไกลถึงอียิปต์ และ โรมัน เลย

หลังจากที่ญี่ปุ่นปราบปรามพวกกบถที่เรียกว่า กบถวูเชอะ เรียบร้อยแล้ว   การต่อสู้ขัดขืนของชาวไต้หวันก็ซาลงไปจนแทบจะสงบ   ทำให้ญี่ปุ่นปกครองไต้หวันโดยมีเมืองหลวงอยู่ที่ เมืองไทโฮกุ หรือ กรุงไทเป ในปัจจุบันจนถึงปี 1945 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงโดยญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และต้องถอยออกไป

ญี่ปุ่นปกครองไต้หวันนาน 50 ปีพอดี

               พบกับเรื่องราวของไต้หวันตอนต่อไปในสัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .