มัมมี่คืนชีพ(ตอน5)

ซอกซอนตะลอนไป                           (1 ตุลาคม 2566)

มัมมี่คืนชีพ(ตอน5)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

ศตวรรษที่ 21  นับเป็นยุคทองของนักโบราณคดีชาวอียิปต์อย่างแท้จริง   เมื่อมีการค้นพบสุสานจำนวนมากมายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในบริเวณเมืองซัคคารา  หรือ  เมืองคนตาย 

เช่น  สุสานของนักบวชวาห์ตี ที่ผมได้เล่าให้ฟังในตอนที่แล้ว  และ  หลุมฝังศพที่พบโลงศพจำนวน250 โลง  และ ที่กำลังขุดค้นอีกหลายหลุม

ก่อนที่จะพูดถึงสุสานที่เพิ่งขุดพบใหม่ในเมืองซัคคารา  ผมขอพาท่านผู้อ่านไปชมสุสานแบบมาสตาบา  ที่อยู่ทางตอนเหนือของพีระมิดแบบขั้นบันไดเสียก่อน


(มาสตาบา  ซึ่งเป็นสุสานแบบแรกๆของอียิปต์ จะเห็นประตูทางเข้าของสุสานที่สุดทางเดิน -ภาพโดยผู้เขียน)

ในบริเวณดังกล่าว  มีสุสานของบุคคลที่เป็นสมาชิกของราชวงศ์หลายคน  ไม่ว่าเป็นจะ เมอรีรุคคา (MERERUKA)  คาเกมนิ(KAGEMNI) เป็นต้น   แต่บุคคลเหล่านี้  มีความสำคัญน้อยกว่าฟาโรห์  จึงถูกฝังในสุสานอีกแบบที่มีเกียรติเช่นกันที่เรียกว่า  มาสตาบา

มาสตาบา นอกจากจะเป็นพื้นฐานให้คนในยุคหลังสันนิษฐาน และ  คาดเดาเอาแล้ว   ยังเป็นการวางร่องรอยให้เห็นว่า  ชีวิตประจำวันในยุคนั้น เป็นอย่างไร

เนื่องจากภายในมาสตาบา มีลักษณะคล้ายกล่องคว่ำลง  มีผนังซอยเป็นห้องต่างๆตามประโยชน์ใช้สอย  ซึ่งไม่พบหลักฐานที่ยืนยันแน่ชัดว่า   ใช้ประโยชน์อย่างไร


(ประตูปลอม ในสุสานของ คาเกมนิ-ภาพโดยผู้เขียน)

ยกเว้น  ห้องที่มี “ประตูปลอม” (FALSE DOOR) อยู่บนผนังตรงข้ามกับประตูทางเข้า

ประตูปลอมดังกล่าว  ชาวอียิปต์โบราณเขาทำไว้เพื่ออะไร  ผมจะอธิบายในตอนต่อๆไปครับ

ผมขอนำท่านผู้อ่านไปสำรวจ สุสานมาสตาบา ของ คาเกมนิ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของฟาโรห์ เตติ (TETI)ในสมัยราชวงศ์ที่ 6  

โดยรวมสภาพชีวิตของชาวอียิปต์โบราณก็คือ  ผู้คนทำมาหากิน  หรือ  มีชีวิตความเป็นอยู่ตามริมแม่น้ำไนล์   ดังนั้นการประมงจึงเป็นวิถีชีวิตหลัก  ที่เหลือก็อาจจะเป็นปศุสัตว์   และ  การล่าสัตว์

ในมาสตาบา ของคาเกมนิ  ปรากฎรูปสลักของผู้คนอยู่บนเรือที่ทำด้วยต้นปาปิรัสแห้งผูกเข้ามาเป็นเรือ  ในภาพที่แสดงจะเห็นตัวละครที่ตัวใหญ่เป็นพิเศษ  และ  ในขณะที่คนอื่นๆตัวเล็กกว่ายืนอยู่บนเรือด้วย


(ประตูทางเข้าสุสานแบบมาสตาบา ของ คาเกมนิ-ภาพโดยผู้เขียน)

การแสดงภาพแบบนี้   แสดงนัยยะว่า  คนในรูปสลักที่ตัวใหญ่ ก็คือเจ้านาย  หรือ ผู้มีอำนาจมากที่สุด  ในที่นี้ก็คือ  คาเกมนิ ผู้เป็นเจ้าของสุสาน  

ภาพแกะสลักแสดงให้เห็นว่า  ชาวอียิปต์โบราณทำการประมงในแม่น้ำเป็นหลัก  ภาพจับปลาจึงเป็นภาพปกติที่แสดงในหลายๆจุด  แสดงวิธีการจับปลาในหลายรูปแบบ 

ทั้งแบบข้อง  แห  และ  หอก   ซึ่งบางเครื่องมือก็ยังคงใช้งานจนทุกวันนี้

ที่น่าสนใจก็คือ   ภาพของปลาที่อยู่ในแม่น้ำ  มิใช่เพียงแค่แกะสลักให้เห็นเป็นปลาเท่านั้น   แต่ปลาทุกตัวมีลักษณะเฉพาะตัวที่ชัดเจน เช่น  บางตัวคล้ายปลากด  หรือ ปลาดุก   บางตัวเหมือนปลาตะเพียน  บางตัวคล้ายปลากะบอก


(ภาพสลักวิธีการหาปลาในแม่น้ำไนล์ ในสุสานของคาเกมนิ-ภาพโดยผู้เขียน)

ปลาเหล่านี้   หลายชนิดยังพบได้ในแม่น้ำไนล์ในปัจจุบัน 

ที่น่าสนใจก็คือ   ในแม่น้ำไนล์เมื่อ 4 พันปีที่แล้ว  มีจรเข้ และ  ฮิปโปโปเตมัส เที่ยววิ่งเล่นอยู่อย่างชุกชุม

สำหรับท่านที่สนใจจะเดินทางท่องเที่ยวอย่างเจาะลึกในโปรแกรมอียิปต์ 10 วัน 7 คืน วันที่ 7-16 ธันวาคม เหลือที่นั่งเพียง 12 ที่นั่งเท่านั้น  และ 6-17 กุมภาพันธ์ เหลือเพียง 10 ที่นั่งเท่านั้น  ติดต่อได้ที่ โทร 0885786666 หรือ LINE ID -14092498

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .