คฑาแห่งอำนาจ-จากอียิปต์โบราณสู่อินเดียปัจจุบัน(ตอน4)

ซอกซอนตะลอนไป                           (13 สิงหาคม 2566)

คฑาแห่งอำนาจ-จากอียิปต์โบราณสู่อินเดียปัจจุบัน(ตอน4)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

เมื่อยุโรปเข้าสู่ยุคมืด หลังการล่มสลายของอาณาจักรโรมันกรุงโรมในปีค.ศ. 476  ทำให้แผ่นดินยุโรปกลายเป็นแผ่นดินที่ไร้ซึ่งกฎระเบียบ และ ผู้รักษากฎหมาย  ความวุ่นวาย  จลาจล  ปล้นสะดมภ์เกิดขึ้นทั่วไป  เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ศาสนาคริสต์ค่อยๆเติบโตขึ้นเป็นลำดับ


(แผนที่แสดงอาณาเขตของอาณาจักรโรมันที่ขยายออกไปทางตะวันออก ก่อนที่โรมจะล่มสลาย)

ประชาชนรู้สึกว่า  ไม่มีความมั่นคงในเรื่องความปลอดภัยของตัวเอง  จึงหันไปหาความมั่นคงทางด้านจิตใจแทน  ซึ่งก็คือ ศาสนาคริสต์ที่กำลังแข็งแกร่งมากขึ้นทุกวันที่มีศูนย์กลางอยู่ที่โรม   นอกเหนือจากศาสนาคริสต์ดั่งเดิมนิกายออร์โธดอกซ์ที่เติบโตในนครคอนสแตนติโนเปิล


(พระเจ้าชาร์เลอมาญ ได้รับการสวมมงกุฎโดยสันตะปาปาลีโอ ที่ 3- ภาพจากวิกิพีเดีย)

ผู้นำศาสนาคริสต์ในโรม ที่เรียกว่า  สันตะปาปา  ได้รับการเคารพในสถานะคนกลาง หรือ  ตัวเชื่อมระหว่างพระผู้เป็นเจ้าบนสวรรค์ กับ มนุษย์โลก   แต่ปัญหาก็คือ   สันตะปาปาไม่มีอำนาจทางทหารหนุนหลัง  จึงมีการวางแผนร่วมมือกันระหว่างสันตะปาปา  กับ  ผู้นำของอาณาจักรแฟ้งค์  คือ  ชาร์เลอมาญ  เพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน

ข้อตกลงที่จะเป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันก็คือ สันตะปาปา ซึ่งถืออำนาจแห่งสวรรค์จะทำพิธีสวมมงกุฎเพื่อสถาปนาให้กษัตริย์ชาร์เลอมาญ เป็นกษัตริย์ตามบัญชาแห่งสวรรค์

แลกเปลี่ยนกับการที่กองทัพของชาร์เลอมาญ จะต้องให้การปกป้องศาสนจักร และ สันตะปาปา  กองทัพดังกล่าวถูกเรียกขานในเวลาต่อมาว่า  จักรวรรดิ์โรมันอันศักดิ์สิทธิ์ 

พิธีสวมมงกุฎแห่งจักรวรรดิ์โรมันอันศักดิ์สิทธิ์เกิดขึ้นในปีค.ศ. 800

จะเห็นว่า   แนวคิดในเรื่องกษัตริย์เป็นผู้ได้รับบัญชาจากสวรรค์ให้มาปกครองโลกมนุษย์ที่มีต้นกำเนิดมาจากอียิปต์โบราณ  ได้รับการขยายความต่อยอดอีกครั้งในยุโรป 


(ไม่ว่านโปเลียนจะยิ่งใหญ่ขนาดไหนก็ตาม  เขาก็ยังต้องอาศัยสันตะปาปาทำหน้าที่สวมมงกุฎให้ – ภาพจากวิกิพีเดีย)

แม้ว่ากษัตริย์ของอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ จะทรงอำนาจยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตาม  ก็ยังต้องค้อมหัวคุกเขาต่อหน้าสันตะปาปาอยู่ดี

ดังนั้นในบางช่วงเวลา  ความขัดแย้งระหว่างจักรพรรดิ์ และ สันตะปาปา จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้  ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นมีตั้งแต่ขัดแย้งเล็กน้อยจนกระทั่ง  สันตะปาปา ต้องใช้อำนาจสูงสุดของพระองค์ออกคำสั่ง “คว่ำบาตร” ต่อจักรพรรดิ์

ส่วนใหญ่จะลงเอยด้วยชัยชนะของสันตะปาปา


(กษัตริย์เฮนรี่ ที่ 4 ซึ่งขัดแย้งอย่างรุนแรงกับสันตะปาปา เกรกอรี่ที่ 7 จนในที่สุดต้องคุกเข่าเข้ามาขอโทษต่อสันตะปาปา-ภาพจากวิกิพีเดีย)

เป็นบทสรุปว่า   อำนาจแห่งศาสนจักรอยู่เหนืออำนาจแห่งอาณาจักร   เพราะแม้กระทั่ง  จักรพรรดิ์นโปเลียน ที่ 1 (NAPOLEON I) หรือ นโปเลียน โบนาปาต  ยังต้องขอให้สันตะปาปา ไพอุส ที่ 7 (POPE PIUS VII) ทำพิธีราชาพิเษภ และ สวมมงกุฎให้ที่วิหารโน๊ต เตรอ ดาม(NOTRE DAME DE PARIS) ในปีค.ศ. 1804


(มงกุฎแห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ที่นโปเลียนไม่มีโอกาสสวม – ภาพจากวิกิพีเดีย)

แต่นโปเลียน ก็ไปไม่ถึงความฝันอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ ที่ต้องการจะเป็นจักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์   เพราะจักรพรรดิโจเซฟที่ 2 แห่งราชวงศ์ฮับส์เบิร์ก ชิงประกาศสลายอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิเสียก่อนในปีค.ศ. 1806

ว่ากันว่า  เพื่อไม่ให้นโปเลียนได้ดำรงตำแหน่งจักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง


(พระนางมาเรีย เธเรซา จักรพรรดินีแห่งอาณษจักรโรมันฯ มือซ้ายถือคฑา มือขวาถือลูกโลกกางเขน-ภาพจากวิกิพีเดีย)

จักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรมันฯ จะถือคฑา เพื่อยืนยันอำนาจที่พระองค์ถืออยู่  กระนั้นก็ตาม  บนปลายยอดของคฑา ก็ยังจะต้องมีเครื่องหมายกางเขนติดตั้งอยู่

นอกเหนือจากคฑาแล้ว  ก็ยังมีลูกโลกที่มีเครื่องหมายกางเขนอยู่บนลูกโลกประกอบเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องราชฯอีกด้วย

สนใจเดินทางท่องเที่ยวแบบเจาะลึกอียิปต์ กับผม ที่เน้นการบรรยายชมอย่างละเอียด ระหว่างวันที่ 19-28 ตุลาคม นี้  และ ในทุกเดือนต่อๆไป  ติดต่อสอบถาม และ สำรองที่นั่งได้ที่ โทร 0885786666  หรือ LINE ID – 14092498

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .