ซอกซอนตะลอนไป (30 กรกฎาคม 2566)
คฑาแห่งอำนาจ-จากอียิปต์โบราณสู่อินเดียปัจจุบัน(ตอน2)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
บรรดาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของอียิปต์โบราณที่ผมนำเสนอไปในตอนที่แล้ว สำหรับท่านที่เคยเดินทางไปอียิปต์มาแล้วก็จะสังเกตเห็นว่า ส่วนใหญ่จะใช้กับบรรดาเทพเจ้าของอียิปต์
ภาพสลักบนผนังของวิหารในอียิปต์ที่สร้างในยุคอาณาจักรใหม่ ตั้งแต่ 1550 ปีก่อนคริสตกาล เรื่อยลงมาจนถึง 1077 ปีก่อนคริสตกาล ที่บรรยายการถวายสิ่งของต่างๆของฟาโรห์แด่เทพเจ้า เช่น เทพอามุนรา เทพฮอรัส นั้น มักจะแสดงภาพของบรรดาเทพเจ้าถือคฑาชนิดต่างๆเท่านั้น
ฟาโรห์ จะไม่ถือคฑา หรือ เครื่องราชฯใดๆเลย
ทำไม
สันนิษฐานว่า คฑา รวมทั้งเครื่องราชอิสริยาภรณ์อื่นๆถูกสร้างขึ้นเพื่อถวายแด่เทพเจ้าเป็นหลัก แต่บางครั้ง เครื่องราชอิสริยาภรณ์บางอย่างก็ไปอยู่คู่กับฟาโรห์ได้เหมือนกัน เพราะแนวคิดของอียิปต์โบราณถือว่า ฟาโรห์คือผู้ที่ถูกส่งลงมาเพื่อปกครองโลกมนุษย์ตามบัญชาของเทพเจ้า หรือ พูดให้แคบลงมาอีกหน่อยก็คือ ฟาโรห์ถูกเทพเจ้าส่งลงมาเพื่อปกครองแผ่นดินอียิปต์
แนวคิดคล้ายกับ พระราม ซึ่งเป็นอวตารปางที่ 7 ของพระวิษณุ
ดังนั้น ฟาโรห์จึงมีสถานะกึ่งเทพ กึ่งมนุษย์ ที่มีพันธะกับเทพเจ้าตรงที่ หลังจากสิ้นพระชนม์ ฟาโรห์จะต้องไปรายงานผลงานการทำงานในโลกมนุษย์ต่อหน้าเทพเจ้า ซึ่งในที่นี้หมายถึงเทพโอไซริส(OSIRIS) ให้ได้ทราบ ว่าได้กระทำการที่เป็นคุณประโยนช์ต่อแผ่นดินอียิปต์หรือไม่
ย้ำว่า เฉพาะแผ่นดินอียิปต์ครับ ไม่ใช่โลกทั้งโลก
เช่นเดียวกับ อาดัม กับ อีฟ ที่ไม่ใช่บรรพบุรุษของคนทั้งโลก แต่เป็นเพียงบรรพบุรุษของชาวยิวเท่านั้น
และเมื่อฟาโรห์สิ้นพระชนม์ สถานะของพระองค์ก็จะเป็นเสมือนเทพเจ้าไปด้วย ดังนั้น มัมมี่ของฟาโรห์ที่มีการค้นพบ เช่น มัมมี่ของตุตันคามุน และ ฟาโรห์องค์อื่นๆจึงถูกจัดวางมือทั้งสองให้ทับกัน และจะวางเครื่องราชกกุธภัณฑ์ หรือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ 2 ชิ้นสำคัญ คือ ตะขอ และ แส้ อยู่บนอกของมัมมี่
จนกลายเป็นรูปลักษณ์สำคัญของการทำมัมมี ที่จะต้องเอาท่อนแขนทั้งสองมาวางทับกันบนหน้าอก ควบคู่ไปกับเครื่องราชฯดังกล่าว
ต่อมา ในช่วงปลายของอียิปต์โบราณที่เรียกว่า LATE PERIOD คือช่วง 300 ปีของราชวงศ์ปโตเลมี (PTOLEMY DYNASTY) การนำเอาเครื่องราชฯมาใช้บรรยายเหตุการณ์บนผนังในวิหารก็เปลี่ยนแปลงไป
เครื่องราชฯสองชนิดที่ถูกนำมาใช้มากก็คือ อังค์ห หรือ กุญแจแห่งชีวิต กับ วาส หรือ สัญลักษณ์แห่งความมั่นคง แต่นำมาใช้ในรูปแบบที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
หลายวิหารที่เป็นศิลปะแบบเกรโกโรมัน จะมีรูปสลักของเทพ 2 องค์ คือ เทพฮอรัส และ เทพธอร์ท กำลังทำท่าทางเหมือนกำลังทำพิธีทำความสะอาดร่างกาย(PURIFY)ให้แก่ฟาโรห์ปโตเลมี ทว่า สิ่งที่ใช้ในการทำความสะอาดกลับไม่ใช่น้ำ
หากแต่เป็น สัญลักษณ์อังค์ห และ สัญลักษณ์วาส
เป็นไปได้ว่า แนวคิดนี้อาจจะมีอิทธิพล หรือ เชื่อมโยงกับการทำพิธีแบ็ปไทส์ ของพระเยซูก็เป็นได้
ท่านที่สนใจจะร่วมเดินทางเจาะลึกอียิปต์ กับผม ระหว่างวันที่ 19-28 ตุลาคมนี้ สอบถามข้อมูลและสำรองที่นั่งได้ที่ โทร 0885786666 หรือ LINE ID – 14092498
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ