ซอกซอนตะลอนไป (23 กรกฎาคม 2566)
คฑาแห่งอำนาจ-จากอียิปต์โบราณสู่อินเดียปัจจุบัน(ตอน1)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ก่อนจะถึงฤดูกาลท่องเที่ยวของอียิปต์ซึ่งจะเริ่มทริปแรก 19-28 ตุลาคม ผมขออุ่นเครื่องนำท่านผู้อ่านย้อนอดีตไปสู่ต้นธารแห่งอารยธรรมของหลายประเทศทั่วโลก
อารยธรรมอียิปต์โบราณครับ
ประวัติศาสตร์อียิปต์ที่ยาวนานกว่า 5 พันปีนั้น มีเรื่องราวหลายแง่หลายมุมให้พูดถึง และยังสามารถเชื่อมโยงมาถึงวัฒนธรรมของยุคปัจจุบันด้วย หนึ่งในนั้นก็คือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์
หนังสือ THE OXFORD ENCYCLOPEDIA OF ANCIENT EGYPT ได้รวบรวมภาพเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของอียิปต์โบราณที่รวมถึง บัลลังค์ และ ที่วางเท้าของฟาโรห์ และ คฑา ชนิดต่างๆเอาไว้ตามรูปภาพข้างล่างนี้
โอกาสหน้าจะนำเอาเรื่องราวของเครื่องราชอิสริยาภาณ์เหล่านี้มาขยายความเล่าให้ฟังกันครับ แต่บทความนี้จะพูดถึงเฉพาะคฑาแห่งอำนาจก่อนครับ
คฑาแห่งอำนาจ (SCEPTRE) เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของบรรดาเทพเจ้า และ ฟาโรห์ของอียิปต์โบราณ
ย้อนกลับไปที่เมืองเมมฟิส(MEMPHIS) ซึ่งเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของอียิปต์โบราณ ตั้งอยู่นอกกรุงไคโรไปประมาณ 25 กิโลเมตรนั้น เคยเป็นสถานที่ใช้ในการประกอบราชพิธีราชาภิเษกของฟาโรห์ โดยมีเทพเจ้าปทาห์(PTAH) ซึ่งเป็นเทพเจ้าประจำเมืองเมมฟิส เป็นสักขีพยาน
เทพปทาห์ เป็นเทพที่ได้รับการเคารพมายาวนานในฐานะเทพเจ้าของอียิปต์ทั้งมวล (ต่อมาภายหลังเปลี่ยนไปเป็นเทพฮอรัส) สันนิษฐานว่า ฟาโรห์พระองค์แรก เช่น ฟาโรห์นาเมอร์ ในยุคอาณาจักรเก่า(THE OLD KINGDOM)เรื่อยมาจนถึงยุคอาณาจักรใหม่(THE NEW KINGDOM) เป็นเวลากว่า 2 พันปี จะทำพิธีราชาภิเษกกันที่วิหารของเทพปทาห์ที่นี่
เทพปทาห์ จะอยู่ในรูปของเพศชาย ยืนตัวตรงเท้าชิดติดกันในท่าของมัมมี่ที่ถูกพันด้วยผ้าลินินทั้งตัว มือทั้งสองยื่นตรงออกมาในระดับข้อศอก เพื่อกุมคฑาที่อยู่เบื้องหน้า
คฑาของอียิปต์โบราณจะมีหลายชนิด แตกต่างกันตรงหัวคฑา ที่ทำให้ชื่อเรียกของคฑานั้นๆแตกต่างกันไป นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า ต้นกำเนิดของคฑาเหล่านี้มาจากเครื่องมือในการประกอบอาชีพของชาวอียิปต์โบราณ หรือ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่เคารพของชาวอียิปต์โบราณ
อย่างเช่นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ที่มักจะแสดงอยู่บนโลงศพแบบรูปมนุษย์ และอยู่ในมือของฟาโรห์ผู้เป็นเจ้าของโลงศพนั้นๆ เช่น โลงศพของฟาโรห์ตุตันคามุน มีมือกำคฑา 2 ชนิดวางไขว้ทับกันบนหน้าอก
เครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่ว่านี้ก็คือ ตะขอ(CROOK) และ แส้(FLAIL)
ไม้ตะขอ เป็นเครื่องมือสำคัญของชาวปศุสัตว์ ที่เลี้ยงสัตว์ประเภทแพะ แกะ วัว เหล่านี้เป็นต้น เพื่อใช้ในการต้อนฝูงสัตว์เหล่านี้ ส่วนแส้ นั้น เป็นเครื่องมือในการฟาดรวงข้าว เพื่อให้เมล็ดข้าวหลุดออกจากรวง และยังใช้เป็นอาวุธในการรบอีกด้วย
เพราะชาวอียิปต์โบราณดำรงชีพด้วยการกสิกรรม และ เกษตรกรรม เป็นหลัก
ฟาโรห์ ก็คือผู้นำของชาวบ้านที่ดำรงชีพด้วยอาชีพนี้ ดังนั้น ฟาโรห์จึงเอาเครื่องมือดังกล่าวมาเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่เรียกว่า เครื่องราชกกุธภัณณ์ เพื่อแสดงความเชื่อมโยงกับประชาชนของพระองค์อย่างลึกซึ้ง
แต่คฑาของเทพปทาห์ จะมีความโดดเด่นมากกว่าคฑาทั่วๆไป โดยปกติ คฑา จะมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป เช่น อังค์ห(ANKH) หรือที่เรียกกันแบบให้เข้าในง่ายๆก็คือ กุญแจแห่งชีวิต (KEY OF LIFE) ,วาส(WAS) สัญลักษณ์แห่งความมั่นคง , ดเจด(DJED) เป็นสัญลักษณ์กระดูกสันหลังของมนุษย์ , คฑาอะบา(ABA) ที่มีลักษณะคล้ายเทียน , คฑา ทรงดอกบัว(LOTUS)ซึ่งเป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์ประจำอียิปต์บน(UPPER EGYPT), คฑาปาปิรัส(PAPIRUS) ซึ่งเป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์ประจำอียิปต์ล่าง(LOWER EGYPE) เป็นต้น
เพราะคฑาของเทพปทาห์ จะเอาคฑา 3 ชนิดมาผสมกัน คือ อังค์ห วาส และ ดเจด เป็นการผสมผสานความหมายอย่างครบถ้วนกระบวนความ
ท่านที่สนใจจะร่วมเดินทางเจาะลึกอียิปต์กับผม และฟังเรื่องเล่าของอียิปต์อย่างละเอียด ระหว่างวันที่ 19-28 ตุลาคม นี้ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร 0885786666 หรือ LINE ID – 14092498
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ