พระอาทิตย์ตกของตระกูลคานธี(ตอน 2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (21 พฤษภาคม 2566)

พระอาทิตย์ตกของตระกูลคานธี(ตอน 2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               แม้ว่าราหุล คานธี จะมาจากตระกูลนักการเมืองที่สืบทอดอำนาจกันมาอย่างยาวนานของอินเดีย เช่นพรรคคองเกรส   แต่เขาแทบจะไม่ได้รับการถ่ายทอดกลยุทธ  และ  แนวทางการต่อสู้ทางการเมืองของอินเดียมาเลยแม้แต่น้อย 


(ครอบครัวคานธี ในพิธีศพครั้งสุดท้ายของ นางอินทิรา คานธี อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ปี 1983 – ภาพจาก HINDUSTAN TIMES)

               เพราะวันที่เขาสูญเสียคุณย่าของเขาคือนางอินทิรา คานธี นั้น  เขามีอายุเพียง 14 ปีเศษเท่านั้น  และ  เขาสูญเสียบิดา คือ ราจีฟ คานธีในขณะที่มีอายุเพียง 21 ปี

               แม้ว่าในวันที่เขาขึ้นมาคุมบังเหียนพรรคคองเกรส ในการเลือกตั้งทั่วไปในปีค.ศ. 2019 นั้น   เขาจะมีอายุ 49 ปี แล้วก็ตาม   แต่กระดูกทางการเมืองของเขาก็ยังถือว่า  อ่อนมาก  เมื่อเทียบกับนักการเมืองทั่วๆไปของอินเดีย


(ภาพจากปี 2004 นายเรนทรา โมดี(ขวา) จับมือกับนาย มานโมฮาน ซิงห์ ซึ่งขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี-ภาพจากวิกิพีเดีย)

มิต้องพูดถึง นายนเรนทรา โมดี  หัวหน้าพรรค BJP วัย 69 ปี ที่นอกจากจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น  เขายังผ่านชีวิตมาหลายรูปแบบ  เป็นหนุ่มใหญ่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ในการเข้าถึงประชาชน

เป็นคู่ต่อสู้ที่นายราหุล คานธี คงไม่อยากพบบนเวทีการเมือง

การต่อสู้ในการกลยุทธการหาเสียงเลือกตั้งในปี 2019  เป็นไปอย่างเข้มข้น   เพราะครั้งนี้  พรรคคองเกรสจะพ่ายแพ้อีกไม่ได้   หากต้องการจะกลับสู่อำนาจ

การหาเสียงพุ่งเป้าไปสู่  นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น   พรรคคองเกรสต้องพยายามที่จะทำทุกอย่างเพื่อลดความเชื่อถือของพรรค BJP  และ  นายนเรนทรา โมดี หัวหน้าพรรค


(บรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งในอินเดีย-ภาพจาก THE TIMES OF INDIA)

เมื่อนักการเมืองใหม่อย่างนายราหุล คานธี เดินหน้าลุยเอง  เขาดุดัน  และ  ดุเดือด ในการปราศรัย  เขาปราศรัยหาเสียงว่า  

“นายนเรนทรา โมดี เป็นโจร”

ใครก็ตามปราศรัยหาเสียง และ กล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่า   เป็นโจร นั้น   คณะกรรมการเลือกตั้งของอินเดีย  ไม่ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง  จนถึงกับจะต้องตัดสิทธิ์ทางการเมือง และ ให้ออกจากการเลือกตั้งในทันที

เพราะเขาถือว่า  ในการเลือกตั้งนั้น  คงไม่มีใครจะเสียสติที่จะปราศรัยชมคู่ต่อสู้ทางการเมืองของตนเอง   ว่าเป็นคนดี  มีเมตตา   มีคุณธรรมแน่นอน

หากฝ่ายที่ถูกกล่าวหาคิดว่า   ตัวเองถูกใส่ร้าย   เขาสามารถใช้ช่องทางในกระบวนการทางยุติธรรมเพื่อเรียกร้องความชอบธรรมให้แก่ตนเองได้ 

เหมือนประชาชนทั่วไป

ในอดีตที่ผ่านมา   มีกรณีขึ้นศาลฟ้องร้องฝ่ายตรงข้ามในการกล่าวให้ร้าย  หรือ  ปราศรัยกล่าวหาว่า เป็นโจรหลายต่อหลายกรณี   และทุกอย่างก็จะไปจบลงที่คำตัดสินของศาล

แต่คราวนี้   นายราหุล คานธี  ถลำลึกลงไปกว่ากรณีปราศรัยกล่าวหาว่า  อีกฝ่ายหนึ่งเป็นโจรเป็นธรรมดา  

แต่จะถลำลึกไปแบบไหน  กรุณาติดตามต่อในสัปดาห์หน้าครับ

สวัสดี

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .