กระแสชาตินิยมที่กำลังมาแรงในอินเดีย(ตอน3)

ซอกซอนตะลอนไป                           (30 เมษายน  2566)

กระแสชาตินิยมที่กำลังมาแรงในอินเดีย(ตอน3)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               กระแสชาตินิยมที่ทำให้เกิดความต้องการเปลี่ยนชื่อของเมือง หรือ  รัฐให้กลับมาเป็นชื่อเดิมมาจาก 2 ชื่อหลักก็คือ  ชื่อที่ถูกอังกฤษเปลี่ยน  และ  ชื่อที่ถูกมุสลิมโดยเฉพาะราชวงศ์โมกุลเปลี่ยน

               แต่ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ หรือ มุสลิม ล้วนแล้วแต่เคยสร้างบาดแผลที่บาดลึกจากการทารุณกรรมให้แก่ชาวฮินดูทั้งสิ้น 

               ในขณะเดียวกัน ก็เริ่มมีกระแสความไม่พอใจเกิดขึ้นในหมู่ชาวมุสลิมในอินเดีย  ต่อการเปลี่ยนชื่อดังกล่าว  และต้องการจะให้เปลี่ยนชื่อกลับไปเป็นอย่างเดิม  เช่น เมืองออรังกาบาด เป็นต้น  และเริ่มมีกลุ่มชาวมุสลิมที่ออกมาข่มขู่ และ เรียกร้องให้ชาวมุสลิมเตรียมพร้อมเพื่อต่อต้านพรรค BJP ของนายนเรนทรา โมดี ในเรื่องนี้แล้ว

               ทว่า  นายนเรนทรา โมดีคงไม่ยอมให้ใครออกมาใช้กฎหมู่เหนือกฎหมายแน่นอน  ต้องรอดูกันต่อไป   เพราะในอดีต  อินเดียเคยผ่านเรื่องวุ่นวายเหล่านี้มาหลายครั้งแล้ว


(เมืองเชนไน (ศรชี้) อยู่ในรัฐทมิลนาดู ทางใต้ของอินเดีย)

               ย้อนไปเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ปีค.ศ. 1996  รัฐสภาอินเดียได้ลงมติให้เปลี่ยนชื่อเมือง มัดราส(MADRAS) เมืองหลวงของรัฐทมิลนาดู ให้เป็น ชื่อเมืองเชนไน(CHENNAI) 

               ก่อนหน้านั้นในปีค.ศ. 1995  อินเดียได้เปลี่ยนชื่อเมืองบอมเบย์(BOMBAY) ที่อังกฤษเป็นคนตั้งขึ้นให้กลับมาเป็นเมืองมุมไบ (MUMBAI)


(มุมไบ (ในสีทึบ) ซึ่งประกอบไปด้วยเกาะแก่งต่างๆ 7 เกาะด้วยกัน)

เมืองมุมไบ เดิมมีชื่อเรียกตามคนท้องถิ่นว่า คาคามุชี(KAKAMUCHEE) และ กาลาจุงจา(GALAJUNKJA) เพราะมุมไบมีสภาพเป็นเกาะ 7 เกาะ  ก่อนที่จะถูกรวมกันเข้ามาเป็นแผ่นดินเดียวกัน 


(กัสปาร์ คอร์เรีย ผู้เขียนบันทึกชื่อ ตำนานของอินเดีย – ภาพจิวิกิพีเดีย)

นักล่าอาณานิคมชาวโปรตุเกสที่มาถึงมุมไบก่อนอังกฤษ  ชื่อ กัสปาร์ คอร์เรีย(GASPAR CORREIA) ได้บันทึกเอาไว้ในหนังสือ ตำนานของอินเดีย(LEGENDS OF INDIA) ว่า ดินแดนแถบนี้เรียกว่า บอมเบม(BOMBAIM) มีความหมายว่า  อ่าวเล็กๆที่ดี  

หลังจากที่อังกฤษได้ยึดครองมุมไบมาจากโปรตุเกส  ก็เรียกชื่อเมืองเสียใหม่ให้ง่ายกับลิ้นของตัวเองว่า  บอมเบย์

จนรัฐบาลกลางอินเดียได้ประกาศในปีค.ศ. 1995  อนุญาตให้รัฐมหาราษฎระ สามารถเปลี่ยนชื่อของเมืองบอมเบย์ กลับมาเป็น มุมไบ ได้


(พระแม่มุมบา เทวี ในวิหารที่เมืองมุมไบ –ภาพจากเว็บไซต์ของวิหาร)

ชื่อของมุมไบ มีที่มาจากชื่อ พระแม่มุมบา (MUMBA DEVI) ผู้เป็นพระแม่อุปถัมภ์ของบรรดาชาวประมงที่เคยอาศัยอยู่ที่นี่มาก่อน


(รูปสลักของ เคมเป กาวดา ผู้สถาปนาเมืองเบงกาลูรู – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               วันที่ 1 พฤศจิกายน  2006 รัฐบาลท้องถิ่นของรัฐการณาตะกะ ได้เปลี่ยนชื่อเมืองหลวง ให้กลับมาเป็นเบงกาลูรู(BANGALURU) เมืองหลวงของรัฐที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปีค.ศ. 800 โดย เคมเป กาวดา(KEMPE GOWDA) ผู้นำท้องถิ่นภายใต้การปกครองของราชวงศ์วิชัยนาคา(VIJAYANAGARA EMPIRE)  

เบงกาลูรู ถูกเปลี่ยนชื่อเพื่อเอาใจคนอังกฤษในปีค.ศ. 1537 ให้เป็นเมืองเบงกาลอร์


(เมืองเบงกาลูรู(ศรชี้) ที่ได้รับฉายาว่า  ซิลิคอนวาลเลย์แห่งอินเดีย)

แต่ที่ตั้งของเมืองเบงกาลูรู ในปัจจุบัน ไม่ใช่เมืองเบงกาลูรู ในสมัยโบราณ  เพราะ ชื่อเมืองเบงกาลูรู ปรากฎอยู่บนศิลาจารึกที่เรียกว่า ศิลาวีรบุรุษ(HERO ROCK) ที่ทำขึ้นในศตวรรษที่ 9 ในสมัยราชวงศ์คงคาตะวันตก (WESTERN GANGA DYNASTY) บนจุดที่เคยเป็นสนามรบในปี 890

               จุดนี้เอง  มีชื่อเรียกในสมัยโบราณว่า  เบงกาลูรู   และเป็นที่มาของเมืองเบงกาลูรูในปัจจุบัน

               อีกเมืองหนึ่งที่อยู่ในคิวที่จะต้องเปลี่ยนชื่อใหม่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และน่าจะเป็นข่าวใหญ่ของโลกพอสมควร  และ  เป็นการถอนรากถอนโคนต่อสิ่งที่อังกฤษได้ฝังรากเอาไว้ในดินแดนภารตะ

               ติดตามในสัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .