สินสอดมรณะ และ การแต่งงานของชาวอินเดีย(ตอน4)

ซอกซอนตะลอนไป                           (29 มกราคม 2566)

สินสอดมรณะ และ การแต่งงานของชาวอินเดีย(ตอน4) 

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               กำเนิดของสินสอดของเจ้าสาวที่จ่ายให้แก่ครอบครัวฝ่ายชายอีกจุดหนึ่ง  สันนิษฐานกันว่าอาจจะมาจาก ระบบวรรณะที่เกิดขึ้นในรัฐเบงกอลของอินเดีย ในราวศตวรรษที่ 12  ภายใต้การปกครองของ กษัตริย์บัลลาล เสนา (VALLALA SENA)  แห่งราชวงศ์เสนา ที่อยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย


(อาณาเขตของอาณาจักร ราชวงศ์เสนา ที่อยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย ในช่วงศตวรรษ ที่ 12)

               ปกติ  ฮินดูจะแบ่งวรรณะของคนออกเป็น 4 กลุ่มหลักๆ   ก็คือ  วรรณะพราหมณ์  วรรณะกษัตริย์  วรรณะแพศย์  และ  วรรณะสูตร  เรียงตามลำดับความสำคัญลงมา

               จนเมื่อมาถึงสมัยของกษัตริย์ บัลลาล เสนา ซึ่งเป็นพวกฮินดูหัวปฎิกิริยาย้อนยุค  พระองค์ได้สร้างระบบวรรณะขึ้นมาอีกระบบหนึ่ง เรียกว่า ลัทธิคูลิน(KULINISM)  ซึ่งก็คือวรรณะพราหมณ์(BRAHMINS)  วรรณะไวดยา (VAIDYA) เป็นวรรณะของคนที่หมอรักษาโรค   และ  วรรณะอาลักษณ์(KAYASTHAS) ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการจดบันทึก ขึ้นในรัฐเบงกอล 

               วรรณะย่อยทั้ง 3 นี้   อาจจะเรียกว่า SUB CASTE ก็ได้  

               ท่านเนตาจี สุภาษ จันทร โบส ก็มาจากวรรณะอาลักษณ์ เช่นกัน  แต่มาจากรัฐโอดิสสา

               หลักการของลัทธิคูลิน  ก็คือ  ผู้หญิงคูลิน จะแต่งงานกับผู้ชายที่มีวรรณะย่อยที่สูงกว่า  หรือ  เท่าเทียมกันเท่านั้น  และจะไม่แต่งงานกับผู้ชายที่มีวรรณะต่ำกว่า  แม้ว่าจะอยู่ในวรรณะ(CASTE) ใหญ่เดียวกัน


(เนื่องจากไม่มีภาพของกษัตริย์ บัลลาล เสนา  แต่มีเพียงภาพของตราประจำราชวงศ์เสนา เท่านั้น จึงนำภาพตราประจำราชวงศ์มาให้ชมครับ)

               กษัตริย์บัลลาล เสนา กำหนดให้วรรณะพราหมณ์  ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของวรรณะหลักของฮินดู  ให้แยกย่อยออกไปเป็น 20 วรรณะ  แล้วให้แยก 4 วรรณะในจำนวน 20 วรรณะออกมาต่างหาก  เรียกว่า  ลัทธิคูลิน

               หลักการก็คือ  ลัทธิคูลินจะกำหนดกลุ่มชนจำนวนหนึ่งในวรรณะเดียวกันขึ้นมา ให้มีความสูงส่งกว่ากลุ่มชนอื่น  ด้วยข้ออ้างในเรื่องชาติกำเนิด  ว่าสูงส่งกว่าคนอื่น  

บางครั้งก็เรียกกลุ่มชนกลุ่มนี้ว่า  พวกอีลีต (ELITES)

ตามข้อกำหนดของกษัตริย์ บัลลาล เสนา ระบุว่า   สถานะของการเป็นคูลิน หรือ อีลีต นั้นจะมีอายุประมาณ 36 ปี   แต่ไม่มีรายละเอียดว่า   เมื่อครบ 36 ปีแล้ว  การเป็นคูลิน จะหมดลงแบบไหน  แล้วจะต่ออายุได้อย่างไร

จึงน่าเชื่อได้ว่า  ระบบของคูลิน จะถูกถ่ายทอดกันต่อๆลงไปโดยไม่มีข้อกำหนด

               เมื่อกลุ่มวรรณะพราหมณ์ที่เรียกว่า คูลิน  หรือ  อีลีต ถูกสร้างขึ้นมาเป็นวรรณะย่อย 4 วรรณะ ที่ถูกมองจากคนในวรรณเดียวกันจำนวน 16 วรรณะว่าสูงส่งกว่าพวกตน    บรรดาพ่อแม่ของพวกวรรณะต่ำลงไปจึงต้องการจะให้ลูกสาวของตนเองได้แต่งงานกับลูกชายของวรรณะอีลีต เท่านั้น

               เมื่อคนที่ถูกหมายปอง หรือ  คนเป็นที่ต้องการมีเพียงแค่ 4 วรรณะ  ในขณะที่คนที่หมายปอง มีมากถึง 16 วรรณะ   จึงเกิดการแข่งขันกัน  เพื่อให้ลูกสาวของตนเองถูกเลือกให้เป็นเจ้าสาวของของลูกชายของชนชั้น คูลิน

               ลูกหลานที่เกิดออกมาจากจะได้เป็นชนชั้นสูงตามไปด้วย   และน่าจะได้รับสิทธิ์พิเศษหลายประการอยู่ด้วย

               บรรดาพ่อแม่ลูกสาวจาก 16 วรรณะ จึงพยายามเสนอข้อเสนอต่างๆให้แก่พ่อแม่ของลูกชายของ 4 วรรณะให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้  เพื่อซื้อความเป็นเจ้าสาวของชนชั้น อีลีต ให้แก่ลูกสาวของตนเอง   ไม่ว่าจะต้องแลกมาด้วยทรัพย์สมบัติสักเท่าใดก็ตาม

               จนกลายมาเป็นประเพณีการจ่ายสินสอดราคาแพง  และเป็นตัวอย่างให้ชนชั้นวรรณะอื่นๆนำเอาไปปฎิบัติตาม

               น่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งของการที่ให้สินสอดจำนวนมากๆของฝ่ายหญิงที่มอบให้แก่ฝ่ายชาย

               ติดตามตอนต่อไปในสัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .