เมื่ออินเดียเริ่มเห็นต่างกรณีคานธี(ตอน3)

ซอกซอนตะลอนไป                           (18 ธันวาคม 2565)

เมื่ออินเดียเริ่มเห็นต่างกรณีคานธี(ตอน3)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               วันที่ 8 กันยายน ปีค.ศ. 2022  ในกรุงเดลี เมืองหลวงของอินเดีย   นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ได้ทำพิธีเปิดผ้าที่กระโจม(CANOPY) ที่สร้างด้วยหินในบริเวณที่เรียกว่า “อนุสรณ์สถานแห่งชาวอินเดียที่เสียชีวิตในสงคราม” (THE ALL INDIA WAR MEMORIAL)

               ย้อนกลับไปในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ปีค.ศ. 1921  ดยุค แห่ง คอนนอต(DUKE OF CONNAUGHT) ได้ร่วมในพิธีวางศิลาฤกษ์ โดยมี เคลม์สฟอร์ด(CHELMSFORD) ผู้สำเร็จราชการจากอังกฤษ(VICEROY) เป็นประธานในพิธี ของอนุสรณ์สถานแห่งนี้  


(อนุสาวรีย์ ทหารชาวอินเดียที่เสียชีวิตในสงครามโลก ที่อังกฤษเข้าร่วม)

บันทึกประวัติศาสตร์ระบุว่า   เป็นทหารชาวอินเดียในกองทัพของอังกฤษ 84,000 นายที่ร่วมรบกับทหารอังกฤษ และ เสียชีวิตในสงครามระหว่างปีค.ศ.1914 ถึง 1921 ในสงครามโลกครั้งที่ 1  และ สงครามอื่นๆในหลายประเทศที่อังกฤษไปทำสงคราม  เช่น  ฝรั่งเศส  กลุ่มประเทศฟลานเดอร์(FLANDERS) หรือส่วนหนึ่งของเบลเยี่ยมในปัจจุบัน   เมโสโปเตเมีย   เปอร์เชีย  อัฟริกาตะวันออก  ช่องแคบกัลลิโปลีในตุรกี  และ  สงครามระหว่างอังกฤษกับอัฟกัน ครั้งที่ 3

จำนวนของทหารอินเดียที่เสียชีวิต อาจจะมากกว่าทหารอังกฤษที่เสียชีวิตด้วยซ้ำ  


(ถนนสายหลักในบริเวณประตูแห่งอินเดีย) 

               ต่อมา   เรียกชื่ออนุสรณ์สถานแห่งนี้ว่า ประตูแห่งอินเดีย(GATE OF INDIA)   ซึ่งถือว่ามีความสำคัญในประวัติศาสตร์ของอินเดียเป็นอย่างยิ่ง

               ปีค.ศ. 1936  มีการติดตั้งรูปสลักทำด้วยหินอ่อนของพระเจ้าจอร์จ ที่ 5 ขนาดความสูง 18.75 ฟิตในกระโจมอันหนึ่ง  จารึกพระนามว่า  GEORGE V R I   คำว่า R I หมายถึง กษัตริย์และจักรพรรดิ


(กระโจมที่มีรูปสลักของพระเจ้าจอร์จ ที่ 5 )

               วันที่ 3 มกราคม ปี ค.ศ. 1943   ในขณะที่การเรียกร้องอิสรภาพของอินเดีย กำลังเข้มข้นมาขึ้นเรื่อยๆ ก็มีนักต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพ 2 นายปีนขึ้นไปทุบทำลายส่วนจมูกของรูปสลัก  แล้วคลุมด้วยผ้าดำเขียนคำว่า “ทรราชย์จงพินาศ” (DEATH TO THE TYRANT)

               ต่อมาในเดือนสิงหาคม ปีค.ศ.1958  ซึ่งอินเดียได้รับอิสรภาพจากอังกฤษแล้ว   ก็มีมือดีแอบถอดเอาป้ายจารึกพระนามของพระเจ้าจอร์จที่ 5 และ มงกุฎของราชวงศ์ทิวดอร์ที่อยู่เหนือกระโจมออกไป

               กระแสเรียกร้องจากสมาชิกรัฐสภาฝ่ายสังคมนิยมของอินเดียให้ต่อต้านอังกฤษเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ    จนในที่สุด ละลิต นารายัน มิชรา (LALIT NARAYAN MISHRA) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ของพรรคคองเกรส ต้องออกมาประกาศว่า  บรรดารูปสลักของผู้เป็นสัญลักษณ์ของอังกฤษในเดลี เมืองหลวงของอินเดียจะต้องถูกถอดออกไปทั้งหมด

               ก่อนหน้าวันครบรอบวันประกาศอิสรภาพของอินเดีย 2 วันในปีค.ศ. 1965   สมาชิกของพรรคสังคมนิยม สามยุคตา (SAMYUKTA SOCIALIST PARTY)หลายคน ได้ฝ่าการป้องกันของฝ่ายรักษาความปลอดภัยเข้าไปที่รูปสลักของพระเจ้าจอร์จ ที่ 5  แล้วเอาน้ำมันขี้โล้ราดตั้งแต่จากส่วนหัวของรูปสลักลงมา  ทุบทำลายส่วนใบหน้า  จมูก  และ  หู

               แล้วทิ้งรูปภาพของ  สุภาษ จันทร โบส (SUBHAS CHANDRA BOSE) เอาไว้ตรงรูปสลักนั้น  เพื่อแสดงนัยยะอะไรบางอย่าง 


(เนตาจี สุภาษ จันทร โบส)

               น่าสนใจว่า   ทำไมพวกเขาถึงไม่ทิ้งรูปของท่านคานธี ไว้ตรงจุดนี้แทน

               เป็นการสะท้อนภาพให้เห็นมาตั้งแต่ ปีค.ศ.1965 แล้ว ถึงกระแสปฎิเสธทุกอย่างของอังกฤษ   และ ที่น่าสนใจก็คือ  กระแสการเชิดชูนักต่อสู้ชาตินิยมอย่าง  สุภาษ จันทร โบส เริ่มเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น  


(กระโจมที่ว่างเปล่า มาอยู่นานหลายสิบปี)

               ปัจจุบันนี้  ชาวอินเดียเรียกชื่อท่านด้วยความเคารพว่า  เนตาจี (NETAJI) ที่มีความหมายว่า   ท่านหัวหน้าที่เคารพ  

               ในที่สุด ปลายปีค.ศ.1968  รัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของ พรรคคองเกรสของตระกูลคานธี จำต้องย้ายรูปสลักของพระเจ้าจอร์จ ที่ 5 ออกไปจากกระโจมดังกล่าว  แล้วนำไปวางไว้ในสวน CORONATION PARK  ร่วมกันกับบรรดารูปสลักของยุคบริติช ราช หรือ ยุคที่อังกฤษปกครองอินเดียในฐานะเมืองขึ้นอย่างเต็มตัว

               ติดตามตอนต่อไปในสัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .