ซอกซอนตะลอนไป (16 ตุลาคม 2565)
วันไหว้ครู สิ่งที่สูญหายไป(ตอน3-จบ)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
การไหว้ครู หรือ การแสดงความสำนึกในพระคุณครูนั้น หยั่งลึกในรากของประเพณีวัฒนธรรมฮินดูมาช้านานแล้ว ได้ไหลเข้ามายังดินแดนสุวรรณภูมิ และ ประเทศไทยในเวลาต่อมา
ในมหากาพย์เรื่อง “มหาภารตะ” (MAHABHARATA) ได้แสดงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์เอาไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง
โทรณาจารย์ (DRONACHARYA) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอาวุธและเป็นผู้สั่งสอนศาสตร์แห่งการต่อสู้ให้แก่พี่น้องตระกูลเการพ(KAURAVAS) และ ตระกูลปาณฑพ แต่อรชุน(ARJUNA) จากตระกูลเการพมีความสามารถในทางวิชา และ มีความเคารพต่ออาจารย์มากที่สุด
วิชาที่อรชุนมีความสามารถมากก็คือ การยิงธนู เขามีความสามารถเหนือกว่าลูกชายของโทรณาจารย์ด้วยซ้ำ ด้วยเหตุนี้ โทรณาจารย์ จึงมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างให้อรชุนเป็นนักยิงธนูที่เก่งที่สุดให้ได้
วันหนึ่ง โทรณาจารย์ นำลูกศิษย์หลายคนของเขา รวมทั้งอรชุนเข้าไปในป่าเพื่อฝึกฝนการยิงธนู หมาของบรรดาเจ้าชายทั้งหลายวิ่งไปที่อื่น และเห่าเสียงดัง สักพักก็เงียบเสียงไป
หมาตัวนั้นวิ่งกลับมาหาบรรดาเจ้าชาย โดยมีลูกธนูหลายดอกปักอยู่ในปาก ทำให้มันไม่สามารถจะร้องหรือเห่าได้ แต่ที่น่าอัศจรรย์กว่านั้นก็คือ หมาไม่ได้รับอันตรายจนถึงชีวิตจากลูกธนูดังกล่าวเลย
แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการใช้ธนูในระดับขั้นเทพของผู้ยิงธนูอย่างยิ่ง
โทรณาจารย์ จึงออกเดินหาผู้ยิงธนู และไปพบว่า ผู้ยิงธนูดังกล่าวคือเด็กหนุ่มที่ชื่อ เอกลัพย์ (EKALAVYA) เจ้าชายแห่ง นิชาดาส (NISHADAS) ซึ่งเป็นชนเผ่าหนึ่งที่มีฐานะทางสังคมที่ต่ำต้อย
เอกลัพย์ รีบตรงเข้ามาอยู่เบื้องหน้าโทรณาจารย์ และก้มกราบด้วยความเคารพ โทรณาจารย์ถามเอกลัพย์ว่า เจ้าเรียนการยิงธนูมาจากใคร
ความเป็นจริงคือ เอกลัพย์เคยแอบเฝ้ามองการสอนยิงธนูของโทรณาจารย์ต่อลูกศิษย์ของเขา แล้วก็นำมาฝึกด้วยตัวเอง แต่ด้วยความที่เป็นผู้มีพรสวรรค์ทางด้านการยิงธนูเป็นทุนเดิม เขาจึงสามารถฝึกฝนการยิงธนูได้จนมีฝีมือสูงส่งขนาดนี้
เอกลัพย์ ยังชี้ให้ดูรูปปั้นที่วางอยู่ไม่ไกล ซึ่งเป็นรูปปั้นของโทรณาจารย์ ที่เอกลัพย์ปั้นขึ้นมา
เอกลัพย์บอกว่า เขาแอบเก็บเอาดินโคลนที่โทรณาจารย์ย่ำเท้าลงไป แล้วนำมาปั้นเป็นรูปอาจารย์ที่เขาเคารพ และบูชากราบไหว้ด้วยความเคารพเสมอควบคู่ไปกับการฝึกฝนของเขา
จนทำให้เขามีฝีมือในการยิงธนูเป็นเลิศอย่างที่เป็นอยู่
โทรณาจารย์ ถึงแม้จะเป็นผู้มีฝีมือในการสงคราม และ ได้รับการเคารพยกย่องอยู่สูง แต่เขาก็เป็นคนที่อาจจะเรียกว่า ไม่ซื่อสัตย์ และ ไร้คุณธรรม
เขาเคยรับปากกับอรชุนมาก่อนว่า จะปั้นให้อรชุนเป็นยอดนักยิงธนูที่ดีที่สุดในโลก จึงถือว่าเป็นสิ่งที่เขาจะต้องทำให้สำเร็จให้ได้
เมื่อเห็นเอกลัพย์ มีความสามารถแบบนี้ เขาจึงคิดว่า หากยังมีเอกลัพย์อยู่บนเส้นทางนี้ อรชุนอาจไม่ได้เป็นที่หนึ่งในโลกก็ได้ อีกทั้งเขารู้ว่า เอกลัพย์จะไปทำงานให้แคว้นมคธ ซึ่งจะเป็นฝ่ายศัตรูในอนาคต
“เมื่อเจ้าเป็นลูกศิษย์ของข้า แต่เจ้ายังไม่ได้ทำพิธีบูชาครู(GURU DAKSHINA)”
กูรูดักชินา ก็คือ การไหว้ครูประมาณนั้น
ด้วยความดีใจ เอกลัพย์ บอกกับโทรณาจารย์ว่า แล้วแต่อาจารย์จะสั่ง เขายินดีจะทำตามทั้งนั้น
“จงตัดนิ้วหัวแม่มือขวาของเจ้าเป็นเครื่องบูชาครูแก่ข้า”
การไม่มีหัวแม่มือขวา ก็คือการจบวิถีของการเป็นนักยิงธนูไปทันที เพราะขาดนิ้วที่จะจับปลายลูกธนู แต่เอกลัพย์ก็ยินดีตัดนิ้วหัวแม่มือขวาของเขาให้แก่อาจารย์โดยไม่อิดเอื้อน
ปัจจุบัน มีวิหารขนาดเล็กสร้างให้แก่ เอกลัพย์ ผู้มีความสัตย์ซื่อต่อครูของตัวเอง
นี่คือปรัชญาของการบูชาครูจากมหากาพย์ “มหาภารตะ” ซึ่งถูกเขียนขึ้นเมื่อประมาณ 3,000 ปีที่แล้ว
สวัสดีครับ