นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกไล่ออกจากห้องเช่า เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า(ตอน4-จบ)

ซอกซอนตะลอนไป                           (28 สิงหาคม 2565)

นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกไล่ออกจากห้องเช่า  เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า(ตอน4-จบ)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               แม้ว่า  นายกุลจาริลาล นันดา จะเป็นเพียงนายกรัฐมนตรีรักษาการ  แต่ก็ถือว่ามีศักดิ์ศรีเทียบเท่านายกรัฐมนตรีตัวจริง  ซ้ำยังรักษาการอยู่ถึง 2 สมัยด้วย

               ที่สำคัญก็คือไม่เคยมีเรื่องด่างพร้อยตลอดสมัยของการอยู่ในแวดวงการเมือง

               ในแวดวงการเมืองของอินเดียต่างก็ยอมรับว่า   เขาเป็นคนอ่อนน้อม ถ่อมตน  และ  เป็นคนสมถะ  ใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายมาตลอดตามแนวทางของฮินดู ที่เรียกว่า  SANATANA DHARMA หรือ  แนวทางการดำเนินชีวิตตามธรรมะของชาวฮินดู 

               ตามประสาคนไทย   เราต้องสงสัยแน่นอนว่า นายกุลจาริลาล นันดา มีภรรยา และ ลูกหรือไม่   หากมี  ทำไม  ภรรยา และ ลูกๆของเขาจึงไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือดูสามี และ พ่อของตัวเองเลย


(นาย กุลจาริลาล นันดา  จากผู้ร่วมเรียกร้องอิสรภาพของอินเดียจากอังกฤษ มาสู่นายกรัฐมนตรีรักษาการ 2 สมัยเป็นเวลา 26 วัน ผู้สมถะที่สุดในประวัติศาสตร์ของอินเดีย)

ข้อเท็จจริงก็คือ  นายกุลจาริลาล นันดา  มีลูกชาย 2 คน  และ ลูกสาวอีก 1 คน  ลูกๆของเขาไม่เคยทอดทิ้งบิดาของเขาเลย  พวกเขาพยายามที่จะเข้ามาช่วยเหลือดูแลบิดา  ทว่า บิดาปฎิเสธไม่ยอมรับความช่วยเหลือของลูกๆ

เพราะนาย กุลจาริลาล นันดา มีแนวคิดในการดำรงชีวิตของตัวเองตามแบบของเขา    บรรดาลูกๆจึงไม่เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องการกินอยู่ของพ่อเลย  จนพ่อต้องถูกขับไล่ออกจากบ้านเช่าอย่างน่าอนาถเช่นนี้

               ตามแนวคิดของฮินดู   อายุวัยของ กุลจาริลาล นันดา ถือว่าอยู่ในช่วงที่ 4  เรียกว่าช่วงสันยาสา เป็นวัยแห่งการละทิ้งแนวทางการดำรงชีวิตทางโลก  เป็นช่วงที่จะต้องเคร่งครัด  และมีวินัยต่อตนเองอย่างมาก  หลีกเลี่ยงการปล่อยตัว หรือ ปรนเปรอตัวเองให้มีความสุขแบบทางโลก

               โอกาสหน้า   ผมจะนำเอาเรื่องช่วงวัยทั้ง 4  ตามแนวทางของศาสนาฮินดูมาเล่าให้ฟังกันครับ  ส่วนใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไรก็ตามอัธยาศัย  

               ช่วงวัยที่ 4 ตามวิถีแห่งฮินดูสำหรับผู้ที่เคร่งครัดจริงๆก็คือ  การลดความต้องการทางโลก   การใช้ชีวิตอย่างมีสติ และ ไม่มีอคติใดๆ   ไม่ใส่ใจต่อสิ่งเร้ารอบข้าง   และ ใช้ชีวิตอย่างเงียบสงบ  มีความรักเป็นแรงผลักดันของชีวิต


(สาธุ ที่ละทางโลก ดำรงชีพอย่างไร้ความยึดติดกับความต้องการทางโลก)

               จะว่าไป วิถีชีวิตแบบสันยาสาก็มีแนวทางใกล้เคียงกับ สาธุ(SADHU) นักปฎิบัติที่ละทิ้งความต้องการทางโลกทั้งหมด และดำรงชีวิตที่อยู่บนพื้นฐานความต้องการที่น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  และ นักบวชทางศาสนาเชน  ทั้งที่เป็นชาย และ หญิง  ทั้งนิกายเศวตามพร ที่นุ่งขาวห่มขาว   และ  นิกายทิคัมพรที่นุ่งลมห่มฟ้า หรือ ไม่สวมใส่อะไรเลย

               และ มีแนวทางที่ใกล้เคียงกับ พระสงฆ์ของศาสนาพุทธ ที่ภาษาสันสกฤตเรียกว่า  ภิกขุ(BHIKKHU) รวมถึงนักบวชทางศาสนาคริสต์ด้วย


(กุลจาริลาล นันดา ผู้ศรัทธาในแนวทางของมหาตะมะ คานธี-ภาพจาก INDIACONTENT)

               นอกจากนี้  กุลจาริลาล นันดา  ยังเป็นผู้ศรัทธา และ เคารพต่อแนวทางการดำเนินชีวิตของ มหาตมะ คานธี  ที่ไม่เน้นการครอบครองทรัพย์ใดๆที่เกินจากความจำเป็นของชีวิต

               ในวันที่บรรดารัฐมนตรี และ เพื่อนร่วมงานในอดีตของเขา เดินทางไปพบเขาที่บ้านเช่านั้น  คนเหล่านั้นต่างก็คะยั้นคะยอ แกมบังคับให้เขาช่วยรับเงินจำนวน 500 รูปี ที่เป็นสิทธิของเขาที่จะได้รับ เพื่อช่วยสร้างภาพพจน์ที่ดีขึ้นของรัฐบาลพรรคคองเกรส

               ไม่มีข่าวยืนยันว่า  เขารับเงินจำนวนนี้หรือไม่  แต่เขาก็ยังใช้ชีวิตตามแนวทางที่เขาวางแผนเอาไว้มาโดยตลอด


(พิธีศพของ นายกุลจาริลาล นันดา โดยมีลูกชายของเขานั่งอยู่หน้าสุด)

               เขายังใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายต่อมาอีก ประมาณ 6 ปี  และ เสียชีวิตที่รัฐกุจราฐ เมื่อวันที่ 15 มกราคมปีค.ศ. 1998 ขณะอายุใกล้ 100 ปี

               นี่อาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลในการยืนยันคำพูดที่ว่า  อินเดียเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

               สำหรับท่านที่สนใจร่วมเดินทางเจาะลึกอินเดีย กุจราฐ โอดิสสา และ กอลกัตตา กับผม  ระหว่างวันที่ 16 -23 ตุลาคมนี้ เชิญติดต่อได้ที่ โทร 088 5786666

               สวัสดีครับ  

               สัปดาห์หน้าพบกับ  เรื่องฆาตรกรรมต่อเนื่อง รายา และ ซากินาแห่งอียิปต์   

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .