ซอกซอนตะลอนไป (31 กรกฎาคม 2565)
จริยธรรมตระกูลตาต้า สร้างผลสะเทือนวงการบินในอินเดีย(ตอน3-จบ)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
การที่พนักงานของสายการบิน อินดิโกแอร์ไลน์ แทบจะทุกระดับเดินเท้าเข้าไปในอาคารตาต้าแบบไม่ต้องมีการนัดหมายเพื่อสอบสัมภาษณ์เป็นพนักงานของสายการบิน แอร์อินเดีย นั้น สร้างความสั่นสะเทือนให้แก่วงการบินของอินเดียเป็นอย่างมาก
ว่ากันว่า สายการบินหลายสาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บริหารของสายการบิน อินดิโก แอร์ไลน์ ได้ต่อสายโทรศัพท์ไปหาผู้บริหารของแอร์อินเดีย เพื่อขอร้องไม่ให้แอร์อินเดีย รับพนักงานของตนเองที่มาสมัคร ยกเว้นจะได้คำยินยอมจากอินดิโก เสียก่อน
ยะโสไม่เบา
ทำไม พนักงานเหล่านี้จึงต้องการจะย้ายไปสู่ที่ทำงานใหม่อย่างไม่ใยดีต่อที่ทำงานเก่า ทั้งที่ยังไม่รู้ว่า อนาคตในที่ทำงานใหม่จะเป็นเช่นไร
หรือเป็นเพราะ เขามองไม่เห็นอนาคตในที่ทำงานเก่าเลย
หนังสือพิมพ์ TIMES OF INDIA ได้ให้รายละเอียดในเรื่องนี้เอาไว้ว่า
แม้ว่า อินดิโก แอร์ไลน์ จะมีกำไรมาโดยตลอด แต่เมื่อมาถึงช่วงเวลาที่โควิด 19 ระบาดนั้น ก็มีการตัดเงินเดือนของพนักงานลง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับทุกสายการบินทั่วโลก
เมื่อกัปตัน หรือ ผู้ช่วยนักบิน และ พนักงานต้อนรับจำนวนมากยื่นเรื่องเพื่อขอลาออก ฝ่ายบริหารยอมให้บางคนลาออก แต่ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 นี้ พนักงานบางคนถูกระงับการทำงาน และ แขวนเรื่องเอาไว้ด้วยข้อหาว่า ละเมิดสัญญาจ้าง และ ทำผิดกฎของบริษัท
ก่อนหน้านั้น พนักงานของ อินดิโก แอร์ไลน์ ไม่มีทางเลือกอื่นใด จึงต้องกัดฟันทนอยู่โดยที่ไม่มีใจต่อบริษัทอีกแล้ว
เมื่อ ตาต้ากรุ๊ป เปิดรับสมัครพนักงานเข้าทำงานในสายการบิน แอร์อินเดีย คนเหล่านี้จึงมีความหวังของตัวเอง
ยิ่งเมื่อ ราทาน ตาต้า ผู้บริหารใหญ่ของสายการบิน แอร์อินเดีย ได้พูดไว้ตั้งแต่ต้นปีแล้วว่า เขาจะไม่ตัดเงินเดือนพนักงานเก่า เพราะรู้ว่าคงจะต่ำเตี้ยเรี่ยดินอยู่แล้ว แต่จะเพิ่มเงินเดือนให้เพื่อสามารถดำรงชีพอยู่ได้
แน่นอนว่า ราทาน ตาต้า คงจะมีข้อแลกเปลี่ยนจากการเพิ่มเงินเดือนให้ ด้วยการขอให้ทุ่มเททำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
บุคลิกภาพในการทำธุรกิจของตระกูลตาต้า ตลอดระยะเวลาร้อยปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ให้ชาวอินเดียเห็นแล้วว่า จุดยืนในเรื่องมนุษยธรรม ความเมตตา และ ความจริงใจ ของพวกเขานั้น มีความหนักแน่น และ น่าเชื่อถือเพียงใด
จนคนส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่า ธุรกิจใดก็ตาม หากมีผู้บริหารที่มีคุณธรรมเป็นผู้นำพาองค์กร พวกเขาก็ย่อมจะสามารถฝากผีฝากไข้กับองค์กรนั้นได้
ผิดกับผู้บริหารที่คิดแต่จะใช้อำนาจ เพื่อเอาเปรียบผู้ร่วมงาน พนักงานก็ย่อมจะรู้สึกอึดอัด สิ้นหวัง และ ไร้ทางออก
จริยธรรมของผู้ก่อตั้งบริษัท ตาต้า ตั้งแต่ จัมเซตจิ ตาต้า เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ที่สร้างระบบสวัสดิการของพนักงานขึ้นมาก่อนหน้าที่ยุโรปจะมีระบบสวัสดิการนี้ เรื่อยมาจนถึงในสมัยของราทาน ตาต้า ที่ยังคงนโยบายหักกำไรที่ได้จากการทำธุรกิจจำนวน 66 เปอร์เซนต์ที่เข้าสู่ บริษัท ตาต้าซันส์ทุกปี เพื่อเอาไปใช้ในการช่วยเหลือองค์กรสาธารณะต่างๆ
มิเช่นนั้น วันนี้ ตาต้า จะเป็นตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดของอินเดีย มิใช่ตระกูลอัมบานี
ผมจะนำคณะทัวร์ไปเจาะลึกอินเดีย กุจราฐ โอดิสสา และ กอลกัตตา อินเดีย ซึ่งจะบรรยายชมด้วยความรู้ทั้งหมดที่ผมมีอย่างละเอียด ระหว่างวันที่ 16-23 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ท่านที่สนใจจะร่วมเดินไปกับผมสามารถติดต่อได้ที่ โทร 0885786666
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ