จริยธรรมตระกูลตาต้าส่งผลสะเทือนวงการบินในอินเดีย(ตอน2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (24 กรกฎาคม 2565)

จริยธรรมตระกูลตาต้าส่งผลสะเทือนวงการบินในอินเดีย(ตอน2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ลำพังสายการบินแอร์อินเดีย ขยับตัว หรือ ต่อให้กระทืบเท้า หรือ กระโดดโลดเต้น  ก็ไม่มีทางสร้างความตื่นตัวในหมู่บรรดาสายการบินคู่แข่งแม้กระทั่งจะหรี่ตามามอง  แต่การขยับตัวของสายการบินแอร์อินเดีย ในวันนี้   ซึ่งเป็นแอร์อินเดียภายใต้การบริหารของตระกูลตาต้า  โคตรอภิมหาเศรษฐีผู้มีคุณธรรม

               ผลกระทบจึงเป็นคนละเรื่องกัน

               วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2565  หน้าอาคารสำนักงานของบริษัท ตาต้า ทั้งห้าเมืองหลัก  คือ  เดลี(DELHI) , มุมไบ(MUMBAI)  , กอลกัตตา(KOLKATA)  เบงกาลูรู หรือ แบงกาลอร์ (BENGALURU)  และ ไฮเดอ์ราบาด (HYDERABAD) คราคร่ำไปด้วยหนุ่มสาว และ ชายหญิงวัยกลางคนมากมาย ทุกคนแต่งกายดี  ที่เตรียมพร้อมที่จะมาให้สัมภาษณ์ต่อคณะกรรมการของแอร์อินเดีย  เพื่อสมัครเข้าเป็นพนักงานของสายการบินแอร์อินเดีย


(อาคาร 42 ของบริษัท ตาต้า ที่เมืองกอลกัตตา)

               ผู้สังเกตการณ์ในเมืองกอลกัตตา บอกว่า  หน้าอาคาร 42 หรือ อาคารตาต้า เต็มไปด้วยรถยนต์หรูหราราคาแพง  ไม่ว่าจะเป็น บีเอ็มดับบลิว หรือ เมอร์เซเดส จอดเรียงรายกันอย่างเนืองแน่น

               รถยนต์เหล่านี้เป็นของบรรดากัปตัน หรือ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน  ที่มาสอบสัมภาษณ์เพื่อเข้าทำงานกับแอร์อินเดีย

               ผีเสื้อขยับปีก  กระเทือนถึงดวงดาว  คำกล่าวนี้ ทำให้มองเห็นภาพสถานการณ์ในวันนั้นได้เป็นอย่างดี


(หนังสือพิมพ์ TIMES OF INDIA ที่ลงข่าวเรื่องพนักงานของแอร์ อินดิโก)

               หนังสือพิมพ์ TIMES OF INDIA ฉบับวันที่ 4 กรกฎาคม 2565  พาดหัวข่าวใหญ่เหตุการณ์วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ว่า  สายการบินอินดิโก แอร์ไลน์(INDIGO AIRLINE) ซึ่งปกติมีเที่ยวบินกว่าวันละ 1600 ไฟล์ททั้งในประเทศ และ ต่างประเทศ เกิดปัญหาพนักงานไม่เพียงพอ

               เพราะเกิดปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน   เพราะพนักงานของสายการบินอินดิโก แอร์ไลน์ กว่า 55 เปอร์เซนต์ ต่างพร้อมใจกันลาป่วย

               ทำให้เที่ยวบินจำนวนมากของ อินดิโก แอร์ไลน์ ต้องเลื่อนเวลาบินออกไป  เพื่อรอพนักงานมาทำงาน   หรือไม่ก็ต้องยกเลิกเที่ยวบินไปในที่สุดเมื่อคนขับเครื่องบินไม่มาทำงาน

               มีรายงานข่าวว่า  มีเที่ยวบินของ อินดิโก แอร์ไลน์ ที่บินในวันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ประมาณ 1000 เที่ยวบินเดินทางล่าช้ากว่ากำหนด ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสายประมาณ 190,000 คนทั่วประเทศ

               ทำให้สายการบินอินดิโก มีผลงานมาตรฐานความตรงต่อเวลาของวันที่ 2 กรกฎาคม 2565 ต่ำที่สุดในบรรดาสายการบินของอินเดียทั้งหมด คืออยู่ที่  45.2 เปอร์เซนต์เท่านั้น  

ในขณะที่ สายการบินแอร์เอเชีย(AirAsia) มีมาตรฐานความตรงต่อเวลาเป็นอันดับหนึ่งที่ 98.3 เปอร์เซนต์ สายการบินโกเฟิร์ส(GoFirst) เป็นอันดับสองที่ 88 เปอร์เซนต์  สายการบินวิสทารา(Vistara) ที่ 86.3 เปอร์เซนต์  สายการบินสไปซ์เจ็ต(SpiceJet) ที่ 80.4 เปอร์เซนต์ และ แอร์อินเดีย(Air India) ที่ 87.1 เปอร์เซนต์


(หน้าข่าวของหนังสือพิมพ์ TIMES OF INDIA)

ทำให้ผู้อำนวยการของกรมการบินพาณิชย์ (DIRECTOR GENERAL OF CIVILA AVIATION หรือ   DGCA) สั่งการให้สายการบินอินดิโก แอร์ไลน์ รายงานสถานการณ์ดังกล่าวให้ทราบทันที

               หากเจ้าหน้าที่บริหารของสายการบิน อินดิโก แอร์ไลน์ มีโอกาสมาเดินที่ตึกของตาต้าแห่งใดแห่งหนึ่งในวันที่ 2 กรกฎาคม   เขาอาจจะช็อคจนเดินกลับอ๊อฟฟิสไม่ถูกก็เป็นได้

               เพราะผู้ที่มาสมัครสอบสัมภาษณ์เพื่อเป็นพนักงานของสายการบิน แอร์อินเดียจำนวนมาก  ก็คือ พนักงานของสายการบิน แอร์อินดิโก ที่ลาป่วยนั่นเอง

               เกิดอะไรขึ้นกับสายการบิน แอร์อินดิโก  ซึ่งเป็นสายการบินที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย  และเป็นสายการบินแห่งเดียวของอินเดีย ที่ยังสามารถทำกำไรได้ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา

               ท่านผู้อ่านลองคิดด้วยสามัญสำนึกดูนะครับ  ว่าเป็นเพราะอะไร  ผมจะมาเฉลยในสัปดาห์หน้าครับ ซึ่งจะเป็นการพิสูจน์ว่า  ทำไม  ตระกูลตาต้า จึงได้ชื่อว่า ตระกูลโคตรอภิมหาเศรษฐีที่มีคุณธรรม

ผมจะนำคณะทัวร์ไปเจาะลึกอินเดีย กุจราฐ โอดิสสา และ กอลกัตตา อินเดีย ซึ่งจะบรรยายชมด้วยความรู้ทั้งหมดที่ผมมีอย่างละเอียด ระหว่างวันที่ 16-23 ตุลาคม พ.ศ. 2565  ท่านที่สนใจจะร่วมเดินไปกับผมสามารถติดต่อได้ที่ โทร 0885786666

               พบกับใหม่สัปดาห์หน้าครับ 

               สวัสดี

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .