อิทธิพลของอียิปต์โบราณต่อศาสนายิว(ตอน1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (19 มิถุนายน 2565)

อิทธิพลของอียิปต์โบราณต่อศาสนายิว(ตอน1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               หลังจากต้องหยุดเดินทางนานกว่า 2 ปี  ก็ได้เวลาเดินทางเจาะลึกอียิปต์ ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์ที่ผมรักอีกครั้ง

               การท่องเที่ยวที่คลาสสิค และ  สบายที่สุดของอียิปต์ ก็คือการล่องเรือสำราญในแม่น้ำไนล์ ระหว่าง อัสวาน กับ ลุคซอร์ ที่ทั้งสองเมืองเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์  ยังไม่พูดถึงเมืองต่างๆระหว่างทางด้วย 


(แผนที่ของอียิปต์ จะเห็นเมืองอัสวาน อยู่ใกล้เส้นพรมแดนระหว่างอียิปต์กับซูดาน)

               เมืองอัสวาน เป็นเมืองใหญ่เมืองสุดท้ายที่อยู่ใต้สุดของประเทศ  มีประวัติศาสตร์เกี่ยวพันกับดินแดนที่อยู่ถัดลงไปทางใต้ เช่น ซูดาน เอธิโอเปีย  เป็นต้น  ทั้งทางการค้า และ  การเมือง

               เพราะอัสวานเป็นศูนย์กลางการค้าขายระหว่างอียิปต์โบราณที่อยู่ทางภาคเหนือ  กับดินแดนที่อยู่ทางใต้  สินค้าส่วนใหญ่จะเป็นของป่า  ไม่ว่าจะเป็นหนังเสือ  หนังสิงโต  สมุนไพรต่างๆ  และ  งาช้าง

               เพราะในอียิปต์ไม่มีช้าง  

               กลางแม่น้ำไนล์ในเมืองอัสวาน  มีเกาะขนาดกลางอยู่เกาะหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า เกาะช้าง (ELEPHANTINE ISLAND) เพราะมีก้อนหินขนาดใหญ่ริมน้ำหลายก้อนมีลักษณะเหมือนหัวช้าง และ ก้นช้าง   แต่ชื่อที่เรียกกันอย่างเป็นทางการก็คือ  เกาะเซเฮล(SEHEL ISLAND) 


(ภาพมุมสูงจะเห็นโรงแรม THE OLD CATARACT อยู่ขวามือ  อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำก็คือ เกาะเซเฮล – ภาพจากกูเกิล)

พื้นดินบนเกาะนี้ส่วนใหญ่เป็นหินแกรนิต   ปรากฎทรากสิ่งก่อสร้างที่ทำด้วยหินทราย  และ  ดินดิบ   ระบุว่าน่าจะมาจากยุคอาณาจักรเก่า  หรือ อย่างน้อยที่สุดก็คือ 4500 ปีที่แล้ว

ปัจจุบัน  เกาะนี้ถูกชาวนูเบียน ซึ่งเป็นชนพื้นถิ่นเข้าไปตั้งบ้านเรือนของตัวเองเรียบร้อยแล้ว


(ชาร์ลส์ เอ็ดวิน วิลบอร์ – ภาพจากวิกิพีเดีย)

ย้อนกลับไปในปีค.ศ. 1889 ซึ่งเป็นช่วงอียิปต์อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ   มีนักหนังสือพิมพ์ และ นักอียิปต์ศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ ชาร์ลส์ เอ็ดวิน วิลบอร์ (CHARLES EDWIN WILBOUR)  ผู้ซึ่งใช้เวลานาน 10 ปี ในการค้นหาวัตถุโบราณในบริเวณรอบๆเมืองอัสวาน 

และได้มาสำรวจถึงเกาะ เซเฮล แห่งนี้

เขาได้พบโบราณสถานที่รอการขุดของยุคอียิปต์โบราณหลายแห่ง  รวมทั้งวิหารที่สร้างถวายแด่เทพี อนูเคต (ANUKET GODDESS)สร้างด้วยหินแกรนิต  นอกจากนี้  ยังมีจารึกต่างๆมากมายทั้งที่เป็นของโบราณ  และ  จารึกของนักท่องเที่ยวมือบอนที่ต้องการจะฝากชื่อของตัวเองเอาไว้


(เทพีอนูเคต-ภาพวิกิพีเดีย)

เทพีอนูเคต เป็นเทพีแห่งน้ำ  และ น้ำตกในแม่น้ำไนล์  เพราะเหนือขึ้นไปจากเกาะเซเฮล ตามแม่น้ำไนล์ ก็จะพบกับแก่งขนาดใหญ่  ซึ่งในสมัยโบราณคงจะทำให้เกิดภาพของน้ำตกกลายๆขึ้น

ปัจจุบันนี้  บริเวณแก่งน้ำแห่งนี้มีเขื่อนขนาดเล็กที่อังกฤษได้สร้างเอาไว้ให้ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เรียกว่า  เขื่อนอัสวาน  จนกระทั่งในปีค.ศ. 1960  รัฐบาลอียิปต์ ภายใต้การนำของ นัสเซอร์ ได้สร้างเขื่อนที่ใหญ่กว่านั้นอีกแห่งหนึ่ง  เรียกว่า  เขื่อนใหญ่ (HIGH DAM)

เขื่อนนี้ได้ขึ้นแท่นเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปีค.ศ. 1971   


(เขื่อนใหญ่ แห่งเมืองอัสวาน ครั้งหนึ่งเคยถูกจัดอันดับว่าเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำหน้าที่กั้นแม่น้ำไนล์ จนเกิดอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ยาวกว่า 700 กิโลเมตร – ภาพจากกูเกิ้ล)

               แต่การค้นพบที่ถือว่าน่าตื่นเต้น และ  ยิ่งใหญ่ก็คือ   การพบจารึกบนหินแกรนิตขนาดใหญ่ที่ไขความลับหลายประการบนเกาะเซเฮล

จารึกนี้เขียนด้วยภาษาเฮียโรกลิฟส์(HIEROGLYPHS)  ซึ่งเป็นภาษาหนึ่งของอียิปต์โบราณ  กำหนดว่า  ผู้มีสิทธิ์ใช้ภาษานี้ได้  จะต้องเป็นฟาโรห์  ราชวงศ์ และ บรรดานักบวชที่ประกอบพิธีทางศาสนาในวิหารเท่านั้น

คำว่า  เฮียโรกลิฟส์  แปลว่า  ภาษาศักดิ์สิทธิ์

จารึกดังกล่าวถูกเขียนเป็นแนวตั้งที่เรียกว่า  แนวคอลัมน์   มีทั้งหมด 42 แนว หรือ 42 คอลัมน์  เป็นเรื่องที่ผมจะเขียนถึงเพื่อเชื่อมโยงไปยังศาศนายูดายของชาวยิว

ติดตามต่อในตอนหน้าครับ

สำหรับท่านที่สนใจจะเดินทางไปเจาะลึกอียิปต์กับผม  ผมจะเดินทางอีกครั้งในเดือนตุลาคม  โปรดรอช่วงเวลาที่แน่นอนครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .