ซอกซอนตะลอนไป (22 พฤษภาคม 2565)
โคตรอภิมหาเศรษฐีผู้มีคุณธรรม(ตอน8)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ปีค.ศ. 1991 เจ.อาร์.ดี. ตาต้า ก้าวลงจากตำแหน่งประธานของ บริษัท ตาต้า ซันส์(TATA SONS) และแต่งตั้งให้ ราตาน ตาต้า(RATAN TATA) เป็นผู้บริหารคนต่อไป
นอกจากนี้ ราทาน ตาต้า ยังดำรงตำแหน่งประธานบริษัท ตาต้า กรุ๊ปอีกด้วย เพราะบริษัท ตาต้า กรุ๊ป อยู่ภายใต้ร่มของ บริษัทตาต้า ซันส์ อีกทอดหนึ่ง
ความท้าทายของ จัมเซตจิ ตาต้า ผู้ก่อตั้งธุรกิจของตระกูลตาต้า อาจจะหนักหนาสาหัส เพราะสุ่มเสี่ยงกับความล้มเหลว แต่เมื่อตกทอดมาสู่รุ่นลูก และ รุ่นหลาน ความท้าทายมิได้ลดน้อยลงไปเลย อาจจะเรียกว่า มีมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ
เพราะจะต้องรักษาสิ่งที่บรรพชนสร้างไว้ และต้องต่อยอดเพิ่มขึ้นไปให้มากขึ้นด้วย
ราทาน ตาต้า ชื่อของเขาเป็นภาษาสันสกฤตแปลว่า อัญมณี เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติตามชื่อจริงๆ แม้จะเกิดมาท่ามกลางกองเงินกองทอง ถ้าถามเขาว่า ในชีวิตของเขายังขาดอยู่บ้าง เจ้าตัวเองอาจจะนึกไม่ออกด้วยซ้ำ มีเพียงเรื่องเดียวเท่านั้นคือ บิดามารดาของเขาหย่าขาดจากกันเมื่อเขาอายุเพียง 10 ขวบเท่านั้น
เขาเป็นคนที่อ่อนน้อม ถ่อมตน สุภาพ และให้เกียรติผู้อื่นอย่างมาก ซึ่งเป็นรากฐานความคิด และ จิตสำนึกของบุคคลที่จะได้ชื่อว่า มีความรักในเพื่อนมนุษย์ เป็นคนใจบุญสุนทาน (PHILANTHROPIST)
เขาเกิดในปีค.ศ. 1937 นับถึงวันนี้ก็อายุ 85 ปีแล้ว และเป็นโสด
ทันที่ที่เขาก้าวเข้ามาเป็นเบอร์หนึ่งของบริษัท TATA SONS ซึ่งควบคุมการทำงานของบริษัทนับร้อยในนามของ TATA GROUPS เขาก็ได้รับการต่อต้านแบบแข็งขืนคลื่นใต้น้ำจากหัวหน้าของบริษัทหลายๆบริษัท ซึ่งคนเหล่านี้เคยทำงานภายใต้การบังคับบัญชาของ ราทาน ตาต้ามาก่อนในยุคที่ เจ อาร์ ดี เป็นผู้บริหารสูงสุดของ ตาต้า ซันส์
สาเหตุที่ผู้บริหารเหล่านี้กล้าหาญขัดขืนราทาน ตาต้า อย่างออกหน้า เพราะในยุคสมัยของ เจ อาร์ ดี ตาต้า พวกเขาได้รับอิสระในการบริหารงานอย่างมาก และอาจจะเห็นว่า ราทาน ตาต้า ก็แค่เด็กฝึกงานในสมัยของ เจ อาร์ ดี
ราทาน ตาต้า แก้เกมส์ด้วยการกำหนดอายุในการเกษียณจากหน้าที่ ซึ่งเข้าใจว่าในยุคก่อนจะยังไม่มีการกำหนดอายุเกษียณ เพื่อผลักดันพวกผู้อาวุโสที่แข็งขืนต่อการบังคับบัญชาของเขาออกไป
พร้อมกันนั้น เขาก็รับพนักงานใหม่ อายุน้อยๆที่มีความสามารถเข้ามาทดแทนคนรุ่นเก่าที่ออกไป ด้วยระบบการมอบหมายงานให้ไปทำ และ รับผิดชอบต่อผลงานที่ทำโดยตรง แน่นอนว่า เงินเดือนที่ได้รับ ก็ถูกขยับตามขึ้นไปด้วย
ก่อนหน้านั้น ในปีค.ศ. 1945 เจ อาร์ ดี ตาต้า ได้ก่อตั้งบริษัท ตาต้า มอเตอร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ทำให้รถเก๋ง และ รถบันทุกแทบจะทุกคันในอินเดีย ล้วนมียี่ห้อ TATA ทั้งสิ้น
ปีค.ศ. 1968 เจ อาร์ ดี ได้ก่อตั้งบริษัทให้บริการทางด้านที่ปรึกษา TATA CONSULTANCY SERVICES เริ่มด้วยการเป็นศูนย์กลางของระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทในเครือตาต้า จนกลายเป็นบริษัทคอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลกรองลงมาจากบริษัท IBM ในปัจจุบันนี้ไปแล้ว
และในปี ค.ศ. 1941 ซึ่งอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เจ อาร์ ดี ได้ก่อตั้งศูนย์วิจัย และ รักษาโรคมะเร็งที่เรียกว่า THE TATA MEMORIAL CENTRE FOR CANCER , RESEARCH AND TREATMENT ขึ้นเป็นแห่งแรกในเอเชียที่ เมืองบอมเบย์ หรือ มุมไบในปัจจุบัน
ทุกวันนี้ สถาบันแห่งนี้เป็นโรงพยาบาลที่รักษามะเร็งที่มีความก้าวหน้าทางเท็คโนโลยีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก หากใครที่มีญาติ หรือ คนรู้จักที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งก็สามารถติดต่อไปรักษาที่นี้ หรือ สถาบันนี้ในเมืองอื่นๆได้
และล่าสุด วันที่ 28 เมษายน ปี พ.ศ. 2565 ราทาน ตาต้า ในฐานะของประธานของกองทุน ตาต้า ได้ร่วมทำพิธีเปิดศูนย์วิจัย และ รักษาโรคมะเร็งแห่งใหม่ ร่วมกับ นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ในรัฐอัสสัม
เป็นจุดประสงค์สำคัญอย่างหนึ่งของตระกูลตาต้า ที่ทำให้แก่ประเทศอินเดีย แผ่นดินที่ให้โอกาสพวกเขาได้อาศัยทำมาหากินจนเติบใหญ่ได้ในทุกวันนี้ จนราทาน ตาต้า ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้มีจิตใจเมตตาต่อเพื่อมนุษย์อย่างยิ่ง
พบกันใหม่สัปดาห์หน้า ในยุคสมัยของราทาน ตาต้า ในฐานะผู้นำของ ตระกูลตาต้า