ซอกซอนตะลอนไป (17 เมษายน 2565)
โคตรอภิมหาเศรษฐีผู้มีคุณธรรม(ตอน3)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
หลังจากกลับจากการเดินทางท่องเที่ยวไปในประเทศจีน เพื่อศึกษาเรื่องธุรกิจการค้าฝิ่นในประเทศจีนตามคำแนะนำของบิดา เขาได้เรียนรู้ว่าธุรกิจสิ่งทอกำลังเติบโตอย่างมาก
หลังจากนั้นก็ไม่ได้เดินหน้าทำธุรกิจค้าฝิ่นอีกเลย อาจเป็นเพราะธุรกิจนี้อังกฤษเป็นผู้ผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว และ ตลาดใหญ่ของฝิ่นก็คือประเทศจีนที่อยู่ภายใต้การครอบงำของอังกฤษ
อีก 5 ปีต่อมา คือปีค.ศ. 1874 หลังจากขายโรงงานทอผ้าที่ดัดแปลงมาจากโรงกลั่นน้ำมันที่ เชนโปคลีจนได้กำไรพอสมควรแล้ว จัมเซตจิ ตาต้า ก็เริ่มด้วยการก่อตั้งโรงงานทอผ้าที่เมือง นากปูร์(NAGPUR) อยู่ในรัฐมหาราษฎระ รัฐเดียวกับเมืองบอมเบย์ แต่อยู่ห่างจากบอมเบย์ไปทางตะวันออกประมาณ 823 กิโลเมตร
ก่อให้เกิดเสียงก่นด่า และ ฉงนสนเท่ห์ว่า จัมเซตจิ อาจจะบ้าไปแล้วที่ไปเลือกที่ตั้งโรงงานทอผ้าในเมืองที่ห่างไกลและกันดารมากขนาดนี้
ทำไม จึงไม่เลือกที่ตั้งโรงงานในบอมเบย์ ที่มีความพร้อมในเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานมากกว่า และเป็นเมืองที่ครอบครัวตาต้าลงหลักปักฐานอยู่ด้วย
แต่ไม่มีใครรู้ดีเท่าจัมเซตจิ เหตุผลที่เขาเลือกเมืองนากปูร์เป็นที่ตั้งโรงงานก็เพราะที่ดินมีราคาถูกมาก และ บริเวณโดยรอบมีแหล่งปลูกฝ้ายมากมายที่พร้อมจะส่งวัตถุดิบให้แก่โรงงานของเขาได้
ซึ่งในเวลาต่อมา ได้พิสูจน์ว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นถูกต้อง
นอกจากโรงงานที่เมืองนากปูร์แล้ว จัมเซตจิ ยังเลือกที่จะตั้งโรงงานอีกแห่งหนึ่งในหมู่บ้านเล็กๆที่ห่างไกล คือ หมู่บ้านซัคชิ ในรัฐจักฮานด์(JHARKHAND) ซึ่งอยู่ติดกับรัฐเบงกอลตะวันตก ที่มีเมืองกัลกัตตา เป็นเมืองหลวงภายใต้การปกครองของอังกฤษในขณะนั้น
หมู่บ้านนี้ ต่อมาพัฒนากลายมาเป็นเมืองใหญ่ที่มีระบบสาธารณูปโภคครบครัน ชาวเมืองจึงเปลี่ยนชื่อเมืองเสียใหม่ว่า จัมเชตปูร์(JAMSHEDPUR) และ ตั้งชื่อสถานีรถไฟของเมืองว่า ตาตานอะการ์(TATANAGAR) เพื่อเป็นเกียรติ และ รำลึกถึงพระคุณของเขาที่มีต่อเมืองนี้
สิ่งที่ผมรู้สึกประทับใจในตัวของ จัมเชตจิ ก็คือปรัชญาในการประกอบธุรกิจของเขา
ในปีค.ศ. 1912 เขาให้คนงานของเขาทำงานเพียงวัน 8 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 5 วัน ซึ่งน้อยชั่วโมงกว่าที่ทำงานอื่นๆในยุคนั้นมากมาย พร้อมทั้งจัดโรงงานให้มีระบบถ่ายเทอากาศที่ดี
ปีค.ศ. 1915 เขาเสนอระบบการรักษาฟรีให้แก่พนักงานของเขาทุกคน
ต่อมาในปีค.ศ. 1920 เขาตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เรียก PROFIDENCE FUND ให้แก่พนักงานของเขา นับเป็นระบบสวัสดิการของพนักงานโรงงานครั้งแรกของโลก ก่อนหน้าที่ยุโรปจะเอาระบบดังกล่าวมาใช้หลายสิบปี
จัมเซตจิ มีหลักในการทำธุรกิจของเขาในแบบที่ทันสมัยมากๆกล่าวคือ เขาระบุว่า การทำธุรกิจของบริษัทของเขาจะต้องมีความเป็นธรรมทั้งต่อลูกค้า และ พนักงาน ซึ่งแม้กระทั่งในปัจจุบัน เราจะเห็นเพียงบริษัทที่มุ่งแต่จะเอาเปรียบผู้บริโภค และ พนักงานของตัวเองอยู่ทุกนาที
เขากำหนดว่า บริษัทของเขาจะต้องมีความซื่อสัตย์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ต้องมีความโปร่งใส่ในการทำธุรกิจ และ มีมารยาทในการประกอบธุรกิจแบบผู้ดี
เขาย้ำว่า ธุรกิจของเขาจะต้องทนทาน และ พร้อมให้สาธารณะ หรือ ประชาชนสอดส่อง และ ตรวจสอบได้ทุกเมื่อ
ใครจะคิดว่า แม้แต่ธุรกิจโรงพยาบาลจำนวนมากในปัจจุบันของประเทศไทย ยังไม่อาจทนทาน หรือ พร้อมให้สาธารณะตรวจสอบได้เลย
สัปดาห์หน้า ผมจะพูดถึงสิ่งที่ จัมเซตจิ มีความตั้งใจที่จะทำให้สำเร็จ