โคตรอภิมหาเศรษฐีผู้มีคุณธรรม(ตอน2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (10 เมษายน 2565)

โคตรอภิมหาเศรษฐีผู้มีคุณธรรม(ตอน2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ชาวฟาร์ซีได้ชื่อว่า  มีความเชี่ยวชาญในเรื่องวิชาคำนวณ และ คณิตศาสตร์ในสาขาต่างๆ  จึงไม่แปลกที่ชาวฟาร์ซีจะได้รับการต้อนรับให้เข้ามาทำงานในอินเดีย  และ  ประเทศไทยมาเป็นเวลาช้านานแล้ว

               ตระกูล เปสตันยี ก็เป็นเชื้อสายของฟาร์ซีเหมือนกัน

               งานที่ชาวฟาร์ซีทำก็มักจะเป็นงานในระดับมันสมอง  ต้องใช้การคิดคำนวน   บางคนถึงกับทำงานในราชสำนักเลยก็มี  สายตระกูลบุนนาค ซึ่งต้นตระกูลก็คือ “เฉก อะหมัด” มีต้นกำเนิดมาจากเปอร์เซียเมื่อกว่า 400 ปีแล้ว  ก็น่าจะมีเชื้อสายฟาร์ซีเช่นกัน 

               ดั่งเดิมทีเดียว   ตาต้าเป็นตระกูลนักบวชในศาสนาโซโรแอสเทรียน ที่เน้นหนักในการประกอบพิธีให้สมาชิกคนอื่นๆในสังคม  จึงมีฐานะการเป็นอยู่ปานกลาง  แต่ก็ไม่จน  หากแต่พวกเขาจะได้รับการเคารพนับถืออย่างมากจากแวดวงสังคม


(พิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของ ชาวฟาร์ซี ที่เรียกว่า นาฟโจต – ภาพจาก THE GARDIAN)

               ในอดีต  ทุกคนในตระกูลตาต้าจะทำงานเป็นนักบวชมาตลอด  แต่เมื่อเวลาผ่านไป  โลกเปลี่ยนไป  ก็เริ่มจะมีการค้าขายบ้าง โดยเฉพาะในรุ่นของบิดาของ จัมเซตจิ ตาต้า(JAMSETJI TATA) ผู้ที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าของตระกูล  และ  เปลี่ยนโฉมหน้าของประเทศอินเดียไปตลอดกาล


(ภาพถ่ายของตระกูล จัมเซตจิ ตาต้า- ภาพจากกูเกิ้ล)

               นัสเซอร์วานจิ  บิดาของ จัมเซตจิ ซึ่งเริ่มทำธุรกิจค้าขายกับต่างประเทศสังเกตเห็นว่า  ลูกชายของเขา จัมเซตจิ  มีความสามารถในเชิงวิชาคำนวณ และ  คณิตศาสตร์ที่ดีมาก  นัสเซอร์วานจิ จึงส่ง จัมเซตจิเข้าเรียนในโรงเรียนที่ให้การศึกษาแบบตะวันตก

               ถือเป็นคนแรกของตระกูลตาต้า ที่ได้รับการศึกษาสมัยใหม่เช่นนี้


(วิทยาลัย เอลฟินสโตน ในเมืองมุมไบ ภาพจาก อินเตอร์เน็ต)

               จากนั้นบิดาของเขาก็ส่งเขาไปเรียนที่ วิทยาลัย เอลฟินสโตน (ELPHINSTONE COLLEGE) ในเมืองบอมเบย์ หรือ มุมไบในปัจจุบัน  ซึ่งครอบครัวของเขาอาศัยอยู่  

ต่อมาในปีค.ศ. 1853 ตอนอายุ 14 ปี  จัมเซตจิก็เข้ามาช่วยบิดาทำงานพาร์ทไทม์  จนกระทั่งเขาเรียนสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัย เอลฟินสโตนในปีค.ศ. 1858  จึงเริ่มทำงานอย่างจริงจังกับบิดาของเขา

               ก่อนหน้านั้น 1 ปี  คือ ปีค.ศ. 1857  เกิดการลุกฮือครั้งใหญ่ของชาวอินเดียเพื่อเรียกร้องอิสรภาพจากอังกฤษ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ  เรียกขานกันในเวลาต่อมาว่า “กบถซีปอย”    ทำให้เกิดการสังหารชาวฮินดูครั้งมโหฬารกว่า 1 แสนคน  เศรษฐกิจอินเดียย่ำแย่ลง  จึงเป็นการยากที่จะทำธุรกิจในประเทศ

               จัมเซตจิ จึงช่วยบิดาในการขยายธุรกิจไปสู่ต่างประเทศหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น  จีน  ฮ่องกง  ยุโรป  และ  สหรัฐอเมริกา  นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการก้าวสู่บริษัทนานาชาติในอนาคต

               นั่นคือเมื่อ 163 ปีที่แล้ว ตรงกับปีพ.ศ. 2401 ซึ่งอยู่ในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 

ขณะนั้นจัมเซตจิ มีอายุ 19 ปี


(ใบแสดงการถือหุ้นของโรงงาน อเล็กซานดร้า มิลล์ – ภาพจากตาต้ากรุ๊ป)

               เมื่ออายุได้ 28 ปี  เขาแยกตัวออกมาจากบริษัทบิดา และเริ่มก่อตั้งบริษัทเทรดดิ้งของตนเองด้วยทุนจดทะเบียน 21,000 รูปี ซึ่งถือว่าเป็นเงินจำนวนมากโขอยู่ มีค่าเทียบประมาณ 52 ล้านยูเอสดอลล่าร์ในปีค.ศ. 2015

               การปฎิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษ ที่เริ่มมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1760  และพัฒนาต่อเนื่องจนมาถึงปีค.ศ. 1850  ได้ขยายออกไปสู่อเมริกา  ยุโรป และ  ญี่ปุ่น  ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งรุนแรงต่อการผลิต  สังคม เศรษฐกิจ และ วัฒนธรรมแบบดั่งเดิมอย่างมาก

               โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  อุตสาหกรรมทอผ้า แบบเดิมที่ต้องพัฒนาจากการทอมือมาสู่การทอด้วยเครื่อง 


(โรงงานทอผ้า อเล็กซานดร้า – ภาพจาก ตาต้ากรุ๊ป)

               ปีค.ศ. 1869 ขณะที่อายุ 30 ปี เขาซื้อโรงกลั่นน้ำมันที่กำลังจะล้มละลายที่เมือง ชินโปคลี  แล้วเปลี่ยนโรงงานนี้ให้กลายเป็นโรงงานทอผ้า ชื่อ โรงงานทอผ้าอเล็กซานดร้า   หลังจากนั้นอีกเพียง 2 ปี  เขาก็ขายโรงงานนี้ไปด้วยกำไรมหาศาล

               เริ่มจับธุรกิจของตัวเอง  ก็มีโชคเสียแล้ว

               ติดตามตอนต่อไปในสัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .