เทศกาลโฮลี สงกรานต์ และ เช็งเหม็ง

ชีวิตเป็นของมีค่า                             (18 มีนาคม 2565)

เทศกาลโฮลี สงกรานต์ และ เช็งเหม็ง

โดย                       เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               วันที่ 18 มีนาคม 2565  ตามปฎิทินปัญจางของฮินดูระบุว่าเป็นวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ ในเดือนฟัลกูนา (PHALGUNA) และเป็นวันแรกของเทศกาลโฮลี (HOLI FESTIVAL) หรือ เทศกาลสาดสีใส่กันของชาวฮินดู  เทศกาลนี้จะกินเวลา 3 วัน คือ วันที่ 18 -19 และ 20 มีนาคม


(แนวการโคจรของโลกไปรอบๆดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดปรากฎการณ์ต่างๆ)

               ที่น่าสนใจก็คือ  วันที่ 20 มีนาคม 2565  ถือเป็นวัน MARCH EQUINOX หรือ SPRING EQUINOX  หรือ วสันตวิษุวัต สำหรับซีกโลกเหนือ  เพราะโลกกำลังอยู่ในช่วงที่หันเอาซีกโลกเหนือเข้าหาพระอาทิตย์ ด้วยเหตุผลที่แกนของโลกจะเอียงประมาณ 23.5 องศา

               เป็นวันที่ช่วงเวลากลางวัน ยาวเท่ากับ ช่วงเวลากลางคืน

               ความหมายของวันวสันตวิษุวัต ก็คือ วันแรกของฤดูใบไม้ผลิ  ซึ่งบางประเทศที่อยู่สูงขึ้นไปในซีกโลกเหนืออาจจะถือเอาวันที่ 21 มีนาคม เป็นวันเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ  เช่น  เปอร์เชียโบราณ หรือ อิหร่านในปัจจุบัน ซึ่งถือเอาวันนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่ของตัวเอง 


(นรสิงห์ อวตารที่ 4 ของพระวิษณุ)

               เทศกาลโฮลี  เป็นวันที่ชาวฮินดู รำลึกและเฉลิมฉลองความรักระหว่าง พระกฤษณะ และ ราธา ที่มักจะเรียกรวมกันว่า ราธา กฤษณะ(RADHA KRISHNA)  และ เฉลิมฉลองชัยชนะของธรรมะ เหนือ อธรรม  ของการที่นรสิงห์(NARASIMHA) อันเป็นอวตารที่ 4 ของพระวิษณุ สังหาร หิรัญยักชิปูร์(HIRANYAKASHIPU)  

               และยังเป็นการเฉลิมฉลองการเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ  และ  ยืนยันการสิ้นสุดของฤดูหนาว พร้อมกับการคาดหวังว่า  ฤดูเพาะปลูกที่กำลังจะมาถึงจะเป็นฤดูกาลที่ให้ผลผลิตที่สมบูรณ์มากๆ  


(พระกฤษณะ และ นางราธา กำลังเล่นสาดสีกัน – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ส่วนประเพณีการสาดสีให้แก่กันนั้น  เชื่อกันว่า  เริ่มมาตั้งแต่ตอนที่พระกฤษณะ จะแต่งงานกับ ราธา  พระกฤษณะ รู้สึกไม่ดีกับสีผิวของพระองค์ว่ามีสีคล้ำหรือสีน้ำเงินเข้ม  ในขณะที่ ราธามีผิวขาวสดใส


(ภาพวาดเทศกาลโฮลี ที่จักรพรรดิ จาฮังกี ของราชวงศ์โมกุล กำลังเล่นสาดสีกับนางสนม โดยใช้ปืนฉีดน้ำด้วย)

               มารดาของพระกฤษณะ จึงแนะนำให้พระกฤษณะ ไปขอให้ราธา ชะโลมสีอะไรก็ได้แก่ตนเอง  ซึ่งราธาก็ได้ทำตาม   และได้กลายเป็นหลักการสำคัญของเทศกาลโฮลี 


(เทศกาลโฮลี ในอินเดีย)

               เทศกาลโฮลี ยังเป็นช่วงเวลาที่เพื่อนฝูงได้มาพบปะสังสรร  สนุกสานกัน  ลืมเรื่องที่บาดหมาง หรือ ขัดใจกัน  และ  ให้อภัยกันและกัน เพื่อฟื้นความสัมพันธ์ที่ดีให้คืนกลับมาใหม่

               นอกจากนี้  วันที่ 17 มีนาคม หรือ หนึ่งวันก่อนเทศกาลโฮลี   ชาวฮินดูในอินเดียจะมีพิธีเล็กๆที่เรียกว่า  พิธีโฮลีคา ดาฮาน เป็นพิธีเก็บใบไม้ใบหญ้า  กิ่งไม้ ที่ร่วงหล่นตามพื้นถนนมากองรวมกัน  แล้วก่อไฟแล้วเอามันฝรั่ง และ หัวหอมร้อยกันเป็นพวกเอาเข้าไปเผาด้วย

               หลังจากไฟมอดแล้ว  เขาก็จะเอามันฝรั่ง และ หัวหอมออกมาเพื่อรับประทานกันในครอบครัว  (ไว้โอกาสหน้าผมจะเล่าเรื่องที่มาของวัน โฮลีคา ดาฮาน ให้ฟังครับ)

               เหนือขึ้นไปทางประเทศจีน  ในช่วงเวลาใกล้กันนี้ คือวันที่ 4 หรือ 5 เมษายน 2565 จะตรงกับเทศกาล เช็งเหม็ง ของจีน เป็นช่วงเวลาแห่งความสดใส รื่นรมย์ ที่จะกินเวลาประมาณ 2 สัปดาห์

               เป็นช่วงเวลาแห่งฤดูใบไม้ผลิที่อากาศกำลังสบาย และ ท้องฟ้าสดใส


(ที่ตั้งของเมืองลั่วหยาง ในจีน(ศรชี้) เทียบกับอินเดียที่อยู่ต่ำลงมาเล็กน้อย)

               แม้ว่าจะเป็นการฉลองฤดูใบไม้ผลิเหมือนกัน  แต่เมืองลั่วหยาง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของยุคชุนชิว  อยู่สูงขึ้นไปจากเขต บราจ (BRAJ) บ้านเกิดของพระกฤษณะ ในรัฐอุตรา ประเทศของอินเดีย ประมาณ 7 องศาของเส้นรุ้ง หรือ เส้นละติจูด  หรือ คิดเป็นระยะทางประมาณ 777 กิโลเมตรเศษ  จึงทำให้ฤดูใบไม้ผลิของลั่วหยางจะช้ากว่าของอินเดียประมาณ 15 วัน

               ตำนานเล่าว่า  เทศกาลเช็งเหม็ง ของจีนเริ่มขึ้นในยุคชุนชิว ราว 770 -221 ปีก่อนคริสตกาล หรือราว 2792 ปีที่แล้ว  องค์ชายฉงเอ่อ ของแคว้นจิ้น ต้องลี้ภัยออกจากแคว้นด้วยความยากลำบาก  คนรับใช้ที่ติดตามไปคอยดูแลไม่ห่าง  ว่ากันว่า  บางช่วงคนใช้ต้องเฉือนเนื้อที่ขาของเขาเองมาให้องค์ชายกิน


(ภาพวาดวันเช็งเหม็งในสมัยราชวงศ์ชิง ของจีน)

               เมื่อได้เป็นใหญ่   องค์ชายกลับลืมคนรับใช้คนนี้ จนคนใช้คนนี้ตายเพราะถูกไฟคลอก  เพื่อระลึกถึงความดีของคนใช้ พระองค์จึงมีบัญชาห้ามไม่ให้มีการก่อไฟในวันนี้  ให้กินแต่อาหารสด และ เย็นเท่านั้น 

               อีกตำนานหนึ่งบอกว่า  ในสมัยของฮั่นเกาจู เมื่อสถาปนาราชวงศ์ฮั่นขึ้นมาแล้ว  ก็รำลึกถึงบิดามารดาที่เสียชีวิตไปแล้ว  เมื่อย้อนกลับไปค้นหาสุสานของบิดามารดาที่บ้านเกิดก็พบว่า  ป้ายสุสานเลือนลางจนไม่รู้ว่าเป็นของใคร

               พระองค์จึงตั้งจิตอธิษฐานว่า  เมื่อโปรยกระดาษสีขึ้นไป  หากลมพัดเอากระดาษที่ว่านี้ไปตกที่หลุมศพหลุมใดก็ตาม  จะถือว่าหลุมนั้นคือบิดามารดาของพระองค์

               และเมื่อทำความสะอาดป้ายชื่อหลุมฝังศพก็พบว่า  เป็นของบิดามารดาของพระองค์จริงๆ  จึงกลายเป็นประเพณีการทำความสะอาดหลุมฝังศพของบรรพบุรุษในเวลาต่อมา  

               ต้นเดือนหน้า  ตามสุสานของชาวจีนในจังหวัดต่างๆจะคึกคักไปด้วยลูกหลานชาวจีนที่ไปร่วมกันรำลึกถึงบรรพบุรุษของตนเอง  และ เป็นการรวมญาติครั้งสำคัญอีกวันหนึ่ง  นอกเหนือจากวันตรุษจีน

               ส่วนวันมหาสงกรานต์ ซึ่งเป็นวันส่งท้ายปีเก่าของไทยจะตรงกับวันที่ 13 เมษายนนั้นมีที่มาจากคติของศาสนาฮินดู  เพราะคำว่า  สงกรานต์ มีที่มาจากภาษาสันสกฤต ที่ว่า SANKRANTI แปลว่า เคลื่อนย้าย  หรือ การผ่าน  ในที่นี้หมายถึงดาวใดก็ตามเคลื่อนย้ายจากราศีหนึ่งไปยังอีกราศีหนึ่ง

โดยปกติ  วิหารเทพมณเฑียรในกรุงเทพฯของศาสนาฮินดู จะมีพิธีบูชาที่เรียกว่า สังกรานติ บูชา(SANKRANTI PUJA) ทุกเดือน  โดยยึดเอาการย้ายราศีของพระอาทิตย์ 

วันสงกรานต์ปีนี้  เป็นช่วงที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษในวันที่ 14 เมษายน 2565  เวลาประมาณ 10.58 น.


(นางสงกรานต์ของปีนี้ คือนางกิริณีเทวี)

เนื่องจากสังกรานติ ของปี 2565 ตรงกับเวลา 10.58 น.   นางสงกรานต์ของปีนี้ คือนางกิริณีเทวี จึงจะประทับยืนบนหลังช้าง

คนไทยมักจะทำบุญตักบาตร  สรงน้ำพระ  และ  สรงน้ำขอพรผู้ใหญ่  และ  เล่นน้ำกันเพื่อคลายร้อน


(ภาพการสรงน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ – ภาพจากเว็บสหกรณ์ออมทรัพย์กรมป่าไม้)

นี่คือเรื่องราวของ 3 เทศกาล จาก 3 วัฒนธรรมที่มีรากเหง้าเดียวกัน 

ขอให้สุขสันต์วันโฮลี  สุขสันต์วันเช็งเหม็ง  และ  สุขสันต์วันสงกรานต์ ครับ

Posted in ชีวิตเป็นของมีค่า โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ.