กว่าจะเป็นวันภาษาแม่นานาชาติ(ตอน1)

ซอกซอนตะลอนไป                              (6 มีนาคม 2565) 

กว่าจะเป็นวันภาษาแม่นานาชาติ(ตอน1)

โดย         เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ 

               หลายท่านอาจนึกไม่ถึงว่า  มีวันเช่นว่านี้ในโลกนี้ด้วยหรือ

               “วันภาษาแม่นานาชาติ” (INTERNATIONAL MOTHER LANGUAGE DAY) ครับ  ซึ่งก็คือวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไป

               ในประเทศไทยไม่มีใครพูดถึงเลย  แม้กระทั่งกระทรวงวัฒนธรรม ผมจึงขอนำเอาเรื่องราวความเป็นมาของวันนี้ให้ทราบกันครับ

               ยูเนสโก(UNESCO) ได้ประกาศให้วันที่ 21 กุมภาพันธ์ เป็นวันภาษาแม่นานาชาติเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ปีค.ศ. 1999 และได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากที่ประชุมใหญ่ของสหประชาชาติ(UNITED NATIONS GENERAL ASSEMBLY)  เป็นมติที่ 56/262 ในปีค.ศ. 2002

               ความหมายของ “ภาษาแม่”  ก็คือ  ภาษาที่ชนกลุ่มใดๆใช้กันมาตั้งแต่เกิด เป็นภาษาพื้นถิ่น (NATIVE TONGUE) ของชนกลุ่มนั้นที่อาศัยอยู่ด้วยกัน


(แผนที่ประเทศอินเดีย ที่แสดงให้เห็นว่ารัฐต่างๆพูดภาษาอะไร เช่น ฮินดี , มาราตี ,  กุจราติ , ปัญจาบิ เป็นต้น)

               มันจึงมีความสำคัญต่อชีวิตประจำวัน  นอกเหนือจากการแสดงตัวตน แสดงความเชื่อมโยงกันของกลุ่มชน  และ  แสดงถึงความภาคภูมิใจของหมู่ชนด้วย

               ฟังดูเหมือนง่าย   แต่กว่าจะทำให้มนุษย์บนโลกใบนี้ได้สำนึกถึงภาษาแม่  ผู้คนจำนวนหนึ่งจำต้องยอมพลีชีพเพื่อให้ได้มา

               จุดกำเนิดของ “วันภาษาแม่นานาชาติ” อยู่ที่ประเทศบังคลาเทศ หรือ ประเทศปากีสถานตะวันออกในอดีต

               เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปก่อนที่ประเทศอินเดียจะได้รับเอกราชจากอังกฤษในปีค.ศ. 1947 อินเดียเป็นประเทศที่กว้างใหญ่มาก  นอกจากจะมีภาษาพูดที่แตกต่างกันนับร้อยๆภาษาแล้ว ยังแบ่งกลุ่มชนออกเป็นผู้นับถือศาสนาฮินดู ซึ่งเป็นประชาชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ  และ อีกพื้นที่หนึ่งซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม

               ช่วงที่อินเดียใกล้ได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ   มูฮัมหมัด อาลี  จินนาห์(MUHAMMAD ALI JINNAH) ผู้นำของชาวมุสลิมเจรจาขอแยกประเทศเพื่อตั้งเป็นประเทศของชาวมุสลิมโดยเฉพาะ


(จากซ้ายไปขวา – จินนาห์ , คานธี  และ  เนห์รู – ภาพจาก OUTLOOK)

พรรค อินเดียน เนชั่นนัล คองเกรส(INDIAN NATIONAL CONGRESS) ในยุคนั้นที่นำโดย นาย ยาวาฮาร์ลาล เนห์รู(JAWAHARLAL NEHRU)  และ มหาตมะ คานธี(MAHATMA GANDHI) ยอมต่อข้อเรียกร้องนี้

               จึงเกิดประเทศปากีสถาน ที่แยกตัวออกจากประเทศอินเดีย 


(แผนที่ปากีสถานตะวันตก และ ปากีสถานตะวันออก ที่ขั่นกลางด้วยประเทศอินเดียเป็นระยะทางประมาณ 2000 กิโลเมตร – ภาพจากกูเกิ้ล) 

               ปัญหาก็คือ  ปากีสถานมีดินแดนไม่ติดกันเพราะมีอินเดียขั้นกลางทำให้เกิดประเทศปากีสถานตะวันตก  และ  ปากีสถานตะวันออก อยู่ห่างกันประมาณ 2 พันกิโลเมตร ที่นอกจากนับถือศาสนาอิสลามเหมือนกันแล้ว  ภาษาพูดและวัฒนธรรมของชาวปากีสถานตะวันออกมีความแตกต่างจากภาษาพูดของปากีสถานตะวันตกค่อนข้างมาก  

               รัฐบาลกลางของปากีสถานตั้งอยู่ที่ปากีสถานตะวันตก มีเมืองหลวงแห่งแรกชื่อ การาจี ทำหน้าที่บริหารประเทศทั้ง ปากีสถานตะวันตก และปากีสถานตะวันออก


(รัฐเบงกอล ที่ถูกแบ่งออกเป็นรัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดีย และ เบงกอลตะวันออกของปากีสถานตะวันออก ปัจจุบันนี้ก็คือ ประเทศบังคลาเทศ)

               ตอนที่ปากีสถานตะวันออกแยกดินแดนออกไปจากอินเดียนั้น ได้ตัดเอาบางส่วนของรัฐเบงกอลออกไป ตามแนวทางของอังกฤษที่ได้ทำเอาไว้ก่อนหน้านั้น เรียกว่า เบงกอลตะวันออก  ส่วนที่เหลือที่เป็นของอินเดีย  เรียกว่า  เบงกอลตะวันตก

               การแบ่งรัฐเบงกอลออกไปนั้น  ทำให้ชาวฮินดูจำนวนไม่น้อยถูกเปลี่ยนสถานะไปเป็นพลเมืองปากีสถานตะวันออกที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นหลักและพูดภาษา อูร์ดู ซึ่งแตกต่างจากชาวฮินดูที่พูดภาษาเบงกาลี

ชาวฮินดู ที่พูดภาษาเบงกาลี จึงเลือกที่จะอพยพกลับสู่รัฐเบงกอลตะวันตกซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดู

ผู้อพยพจากเบงกอลตะวันออกจำนวนมากเข้ามาตั้งรกรากในเมืองกอลกัตตา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐเบงกอลตะวันตก


(รพินทรนาถ ตะกอร์ ผู้เขียนบทกวี คีตาญชลี (GITANJALI) – ภาพจากวิกิพีเดีย )

               หนึ่งในครอบครัวผู้อพยพกลับกอลกัตตาก็คือ รพินทรนาถ ตะกอร์ เจ้าของรางวัลโนเบลคนแรกของเอเชีย

               ชาวปากีสถานที่นับถือศาสนาอิสลามจะพูดภาษาอูร์ดู(URDUR) เป็นภาษาจากการผสมผสานของภาษาอิหร่าน  เปอร์เชีย  ตุรกี   อาหรับ   ฮินดี  และ  สันสกฤต  ที่แม้แต่ชาวอินเดียจากพื้นที่อื่นก็ยังยากที่จะเข้าใจ

               ปีค.ศ. 1948 หลังการก่อตั้งประเทศปากีสถานเพียงปีเดียว  รัฐบาลปากีสถานการาจีประกาศให้ภาษาอูร์ดู เป็นภาษาราชการเพียงภาษาเดียวของประเทศ  และปฎิเสธการมีอยู่ของภาษาอื่นๆที่ติดมาในรัฐเบงกอลตะวันออก ก่อนจะมาเป็นประเทศปากีสถานตะวันออก

               ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชนปากีสถานตะวันออกอย่างยิ่ง

               เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป   โปรดรอติดตามในสัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .