ซอกซอนตะลอนไป (27 กุมภาพันธ์ 2565)
ทำไม ชาวฮินดูจึงนิยมใช้เสื้อผ้าสีสดใส(ตอน2-จบ)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ตอนที่แล้ว ผมได้พูดถึงอิทธิพลของสีที่พิจารณาด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ตอนนี้เราจะมาพูดถึงอิทธิพลของสีที่พิจารณาด้วยเหตุผลด้านจิตวิญญาญทางศาสนาฮินดู
ผมได้ชมคลิปวิดีโอที่ ซาสกูรู (SADHGURU) ซึ่งเป็นกูรูนักพูดที่มีชื่อเสียงทางด้านปรัชญา ศาสนา ของอินเดีย ได้พูดถึงเรื่องการแต่งกายด้วยสีต่างๆ ว่ามีอิทธิพลต่อมนุษย์อย่างไร
เขาบรรยายว่า สีขาวที่ตามนุษย์เห็นนั้น มาจากการสะท้อนของสีทุกสียกเว้นสีขาวออกมา ดังนั้น สีขาวจึงเป็นสีที่สะท้อนทุกสิ่งออกไป
ในขณะที่ วัตถุที่เราเห็นเป็นสีดำ เพราะวัตถุสีดำได้ดูดกลืนทุกสีเอาไว้ ไม่สะท้อนสีใดๆออกไปเลย
ดังนั้น ซาสกูรู จึงแนะนำให้สวมใส่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย “สีขาว” เป็นหลัก เพราะสีขาวสะท้อนแสง และ พลังงานออกไป ซึ่งแสงที่สะท้อนออกไปก็จะมีพลังออร่าเปล่งประกายออกไปด้วย
แต่หากเราใส่เสื้อผ้าสีดำ มันจะดูดแสง และ พลังงานทุกอย่างเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น สี กลิ่น และ พลังงานอื่นๆเข้ามาในตัว
พลังงานที่ว่านี้ มีทั้งพลังงานด้านบวก และ พลังงานด้านลบ
หมายความว่า หากคุณใส่เสื้อผ้าชุดสีดำไปไหนมาไหนทั้งวัน คุณอาจะผ่านเข้าไปในพื้นที่ที่มีพลังงานบวก และ พื้นที่ที่มีพลังงานลบโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเข้าไปในสถานที่ที่เกี่ยวกับคนตาย หรือ การตาย
เราจึงเห็นลูกหลานชาวจีนจะสวมใส่ชุดไว้ทุกข์(ตามประเพณีจีน) เป็นผ้าสีขาว หรือ ผ้ากระสอบสีอ่อนในช่วงทำพิธีศพของบรรพบุรุษในวัด
เช่นเดียวกัน ชาวฮินดูจะแต่งกายชุดขาว ตอนไปร่วมงานพิธีเผาศพของพ่อแม่ หรือ คนที่เคารพ
เขาจะไม่แต่งชุดดำตามแบบที่ชาวตะวันตกทำกัน
นักบวชในศาสนาเชนในนิกายเศวตัมพร แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาว เพราะต้องการสะท้อนทุกสิ่งที่มากระทบออกไป ในขณะที่นักบวชของนิกายทิคัมพร ไม่ใส่เครื่องนุ่งห่มใดๆเลย เพราะไม่ต้องการรับเอาสิ่งใดๆทั้งสิ้นเข้ามาสู่ตัวเอง และไม่ต้องการสะท้อนสิ่งใดๆออกไปจากร่างกาย เพราะท่านเหล่านี้ ตัดขาดจากโลกแห่งกิเลสแล้ว
ทีนี้มาถึงเรื่องที่ว่า ทำไมชาวอินเดียโดยเฉพาะผู้หญิงมักจะแต่งกายด้วยสีสรรสดใส ฉูดฉาด อย่างที่เราเห็นๆกัน เรื่องนี้ ซาดกูรู ได้บรรยายว่า
ตามศาสตร์ของวิชาการนั่งสมาธิของฮินดูโบราณบอกว่า ในร่างกายมนุษย์จะมีจักระ (CHAKRA) อยู่ทั้งหมด 112 จุด แต่จะมีเพียง 7 จักระที่สำคัญ แต่ในทางศาสนาพุทธระบุว่ามีเพียง 5 จักระ เท่านั้น
แนวคิดในเรื่องจักระ ของฮินดูนี่เอง ที่เป็นพื้นฐานของวิชากำลังภายใน หรือ วิชากังฟูของจีน ที่เชื่อว่า พระสงฆ์ในศาสนาพุทธผู้มีชื่อว่า พระโพธิธรรม(BODHIDHARMA) หรือ หลวงจีนตั๊กม้อ จากอินเดียได้นำไปเผยแพร่ที่ประเทศจีนเมื่อประมาณศตวรรษที่ 5-6 ในสมัยราชวงศ์เหนือ และ ราชวงศ์ใต้ ของจีน
จนกลายมาเป็นวัดเส้าหลินที่โด่งดัง
ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู อัคนา จักระ(AJNA CHAKRA) ที่อยู่กลางหน้าผากเหนือตาทั้งสองหรือเรียกว่า ตาที่ 3 เป็นตาแห่ง ภูมิปัญญาของการหลุดพ้น มีสีส้ม ดังนั้น ผู้ที่เชื่อถือในตาที่ 3 มักจะสวมใส่เสื้อผ้าสีส้ม เช่น นักบวชในนิกาย ฮาเรกฤษณะ และนักบวชบางนิกายของอินเดีย
ส่วนจักระที่เรียกว่า มูละธารา(MULADHARA) ซึ่งเป็นจักระที่สำคัญที่สุด มีสีเหลือง ด้วยเหตุนี้ พระสงฆ์ทางศาสนาพุทธจึงเลือกใช้สีเหลือง
มาถึงข้อสรุปเรื่องการเลือกใช้สีเสื้อผ้าตามแนวคิดของซาสกูรูก็คือ ควรหลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าสีดำไปในสถานที่ที่เราไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานพิธีศพ เพื่อจะได้ไม่ไปรับเอาพลังงานด้านลบมาใส่ตัว แต่ควรจะใส่เสื้อผ้าชุดขาว หรือ ชุดที่มีโทนสีระหว่างกลางสีขาวไปถึงสีดำ
นอกจากสีเหล่านี้แล้ว สีแดงเป็นสีที่ให้ความรู้สึกถึงพลัง สร้างความสั่นสะเทือน และ แฝงไว้ซึ่งความเป็นผู้หญิง ที่สำคัญก็คือ เป็นสีแห่งความมั่นใจ ในขณะที่ชาวจีนจะถือว่า สีแดงเป็นสีแห่งความรัก ความชื่นชมยินดี ความสุข
ดังนั้น หากหญิงใดมีความมั่นใจสูง ก็สามารถเลือกใช้ชุดสีแดงเดินเข้าไปในงาน จะดึงให้ทุกสายตาจ้องมาที่คุณได้เลย
ขออย่างเดียว อย่าเดินสะดุดขาตัวเองด้วยความประหม่าเสียก่อน
นี่คือเหตุผลที่ชาวอินเดียส่วนใหญ่มักจะใส่เสื้อผ้าสีสรรสดใส และพยายามหลีกเลี่ยงที่จะใส่เสื้อผ้าสีดำกัน
เชื่อหรือไม่ ก็ตามอัธยาศัยครับ
สวัสดี