ทำไม ชาวฮินดูจึงนิยมใช้เสื้อผ้าสีสดใส(ตอน1)

ซอกซอนตะลอนไป                              (20 กุมภาพันธ์ 2565) 

ทำไม ชาวฮินดูจึงนิยมใช้เสื้อผ้าสีสดใส(ตอน1)

โดย                             เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ 

               เคยสงสัยมั้ยครับว่า  ทำไมชาวอินเดียที่เป็นชาวฮินดูจึงมักนิยมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสันฉูดฉาดที่ดูเหมือนจะเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไปแล้ว  เช่น  สีแดงสด  สีส้มสด  สีเขียวสด  สีเหลืองสด  สีฟ้าใส  หรือ ไม่ก็เป็นสีขาวไปเลย

               น้อยมากที่เราจะเห็นชาวฮินดู แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีดำ


(ส่าหรี ของหญิงชาวอินเดีย  สีสรรสดใสมาก)

               เพราะอะไร

               เรื่องนี้มีเหตุผล 2 ประการ  เหตุผลแรกก็คือเหตุผลทางวิทยาศาสตร์  เหตุผลที่ 2 เป็นเหตุผลทางด้านจิตวิญญาณ  หรือ  เหตุผลเหนือมิติที่รับรู้ทางกายภาพได้

               ก่อนอื่น  ต้องเข้าใจก่อนว่า  อินเดิยมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มานานนับพันๆปีแล้ว ยกตัวอย่างเช่น  อินเดียเป็นชาติแรกคิดค้นเลข 0 ขึ้นมาในระบบคณิตศาสตร์  อินเดียเป็นชาติแรกที่ค้นพบระบบการวิวัฒนาการของมนุษย์ชาติ

               แต่ถูกชาติตะวันตกใส่ความคิดว่า อินเดียนั้นล้าหลัง  สกปรก  และ  ไร้ประสิทธิภาพ  มาเป็นเวลานาน  จนคนทั่วโลกมองข้ามในเรื่อง  วิทยาศาสตร์ที่ก้าวล้ำนำหน้า และ ล้ำลึกกว่าวิทยาการของตะวันตกมานานนับพันปี

               ปัจจุบันนี้  วิทยาศตร์ได้พิสูจน์เรื่องการมองเห็น “สี” แล้วว่า   เป็นขบวนการของการสะท้อนของแสง  และ  สี จากวัตถุมาเข้าตาของมนุษย์จนทำให้เรามองเห็นวัตถุว่าเป็นสีอะไร (ซึ่งก็ไม่แน่เหมือนกันว่า  วัตถุที่เราเห็นเป็นสีแดง สีเขียว  มีสีที่แท้จริงอย่างนั้นหรือไม่)  

               หมายความว่า  หากเราเห็นวัตถุนั้นเป็นสีแดง ก็เพราะวัตถุนั้นสะท้อนทุกเฉดสีของแสงที่มาตกกระทบ  ยกเว้น“สีแดง”  เราจึงเห็นวัตถุนั้นเป็นสีแดง  เช่นเดียวกับที่เราเห็นวัตถุเป็น “สีเขียว” เพราะวัตถุนั้นสะท้อนแสงทุกเฉดสีออกไปยกเว้น “สีเขียว”  เราจึงเห็นวัตถุเป็นสีเขียว

               แต่การสะท้อนของวัตถุบางอย่างที่เราเชื่อว่า  มีสีดำ  เพราะวัตถุนั้นได้ดูดซับเอาทุกเฉดสีของแสงเอาไว้จนหมด   และ ไม่ได้สะท้อนสีใดๆออกไปเลย 

               เราจึงเห็นวัตถุนั้นเป็น “สีดำ”  ซึ่งไม่มีใครบอกได้ว่า  แท้ที่จริงแล้ว   วัตถุนั้นสีดำจริงหรือไม่ 

               ทฤษฎีเรื่องการมองเห็นสีต่างๆที่ผมว่ามานี้  เป็นบทเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ของไทย  แต่อยู่ในบทเรียนของนักเรียนระดับประถมของอินเดีย

               เห็นได้ชัดว่า  วัตถุสีดำสามารถดูดซับเอาแสงสีทุกเฉดเอาไว้ได้   ซึ่งจะรวมทั้งความร้อนที่ติดมากับแสงด้วย   ยืนยันได้จากนักเดินทางผ่านทะเลทรายในสมัยโบราณ  มักจะสวมใส่ผ้าสีขาวกัน


(สภาพบ้านเรือนทั่วไปในแคว้นอันดาลูเซียของสเปน)

               หากใครเคยเดินทางไปในแคว้นแอนดาลูเซีย ที่อยู่ทางใต้สุดของสเปน   ก็จะพบว่า  บ้านเรือนในภูมิภาคนี้มักจะใช้สีอ่อน  หรือ  สีขาวกัน  เพราะโดยปกติในฤดูร้อนอุณหภูมิจะสูงประมาณ 40 องศาเซลเซียส


(บ้านเรือนบนเกาะซานโตรินี ประเทศกรีซ)

               หรือแม้แต่บนเกาะต่างๆของประเทศกรีซ   ก็จะใช้สีขาวเป็นพื้น  และ  อาจจะแซมด้วยสีฟ้าสดใส  เพื่อรับมือกับอากาศที่ร้อนอย่างโหดในช่วงฤดูร้อน 

               ในประเทศไทยที่พระนครคีรีในจังหวัดเพชรบุรี  ไม่ว่าจะเป็นราวบันไดขึ้นพระราชวัง และ ตัวอาคารต่างๆจะมีสีขาวทั้งสิ้น 


(พระนครคีรี หรือ เขาวัง – ภาพจากผู้จัดการออนไลน์)

               แต่ที่ลึกซึ้งไปมากกว่านั้นก็คือ  ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษของไทยที่ใช้ปูนขาวแช่น้ำ  ตากแดดให้แห้ง  แล้วตำให้ละเอียด  จากนั้นก็ผสมกับน้ำตาลอ้อย หรือ น้ำผึ้งผสมกับกระดาษสา  แล้วนำมาฉาบบนผิวด้านนอกของอาคาร

               สีขาว และ  ปูนขาวจะช่วยทำให้อาคารไม่ร้อน   แม้กระทั่งในช่วงเที่ยงหรือบ่ายที่อากาศร้อนที่สุดก็ตาม

               ยิ่งไปกว่านั้นไม่น่าเชื่อว่า    ในช่วงที่พระอาทิตย์ตรงหัว อากาศร้อนที่สุดของวัน   ในช่วงที่เราไม่สามารถเดินเท้าเปล่าได้   แต่ราวบันไดจะเย็นอย่างไม่น่าเชื่อ

               นี่คืออานุภาพของสีขาว ในทางวิทยาศาสตร์ 

               สัปดาห์หน้า  ผมจะมาพูดถึงอานุภาพของสีขาว และ ดำ ในทางจิตวิญญาณของชาวฮินดูครับ

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .