ซอกซอนตะลอนไป (16 มกราคม 2565)
น้ำตานองแผ่นดินอินเดียเพื่อทหาร(ตอน5)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ขณะที่รอผลของคดีที่นายราช นารายัน ฟ้องร้องต่อนางอินทิรา คานธี ในข้อหาโกงเลือกตั้งซึ่งยาวนานร่วม 5 ปีนั้น ประชาชนเริ่มตื่นตัวในเรื่องการใช้อำนาจโดยมิชอบในการเลือกตั้งของนางอินทิรามากขึ้น แม้ว่าก่อนหน้านั้นประชาชน และ นักการเมืองอินเดีย เริ่มตระหนักถึงวิธีการที่ไม่ค่อยโปร่งใสของนางอินทิรา จนทำให้ผู้แทนราษฎรของพรรคคองเกรส ลดลงอย่างมาก
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเริ่มเอาคืน ด้วยการลงมติ 7 ต่อ 6 เสียง ให้เข้มงวดต่อการทีของรัฐสภาที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลว่า อาจจะกระทบกระเทือนต่อโครงสร้างหลักของกฎหมายรัฐธรรมนูญได้
เป็นการยิงหมัดตรงเข้าหานางอินทิรา คานธี
นางอินทิรา ไม่อ่อนข้อให้เช่นกัน เธอออกคำสั่งแต่งตั้งให้ นาย เอ.เอ็น. เรย์ (A.N.RAY)ให้เป็นหัวหน้าคณะตุลาการของอินเดีย(CHIEF JUSTIC OF INDIA) เป็นการแต่งตั้งข้ามหัวตุลาการที่มีอาวุโสมากกว่า เรย์ ถึง 3 คน ซึ่งผิดหลักการปฎิบัติที่เคยเป็นมา
ประชาชนเริ่มมองเห็นว่า นางอินทิรา คานธี มีเจตนา ครอบงำระบบตุลาการของอินเดีย ซึ่งเป็นอันตรายต่อความยุติธรรมของประชาชนทั้งประเทศแล้ว
นักเรียนในรัฐกุจราฎเริ่มออกมาประท้วงรัฐมนตรีศึกษาฯของรัฐฯว่าไร้ประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน เกิดการลอบสังหารด้วยระเบิดต่อ นาย ละลิต นารายัน มิชรา(LALIT NARAYAN MISHRA)รัฐมนตรีกระทรวงรถไฟจนเสียชีวิต
มีนาคมปีค.ศ. 1974 นักเรียนจำนวนมาก ภายใต้การนำของนาย จะยาปรากาช นารายัน(JAYAPRAKASH NARAYAN) ซึ่งเป็นผู้ยึดแนวทางการเมืองของมหาตะมะ คานธี (GANDHIAN) และเป็นผู้นำที่ประชาชนให้ความเคารพมาก ได้ออกมาเดินขบวนประท้วงรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐพิหาร
เดือนเมษายน ปีเดียวกัน ในเมืองปัตนะ รัฐพิหาร นาย จะยาปรากาช นารายัน เรียกร้องให้นักเรียน ชาวนา และ สหภาพแรงงาน ออกมาร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลท้องถิ่นทำการปฎิรูปทางการเมือง และเรียกร้องให้รัฐบาลท้องถิ่นยุบสภา
เดือนถัดมา สหภาพแรงงานพนักงานรถไฟ ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย นำโดยนาย จอร์จ เฟอร์นานเดส(GEORGE FERNANDES) ประธานสหภาพแรงงาน และ เป็นประธานพรรคการเมือง ชื่อ พรรคสังคมนิยม (SOCIALIST PARTY)ได้ร่วมใจกันออกมาประท้วงพร้อมกันทั่วประเทศ
แต่ใช่ว่าจะมีแต่กลุ่มผู้ประท้วงนางอินทิรา คานธีเท่านั้น พวกที่สนับสนุนนางก็มีด้วยเช่นกัน ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการปะทะกันอย่างมาก เพราะฐานเสียงจำนวนมากของ คานธี เป็นชาวมุสลิม
รัฐบาลของนางอินทิรา คานธี จึงใช้กองกำลังเข้าปราบปรามการประท้วงครั้งนี้อย่างโหดร้าย และสลายการชุมนุมในเวลาต่อมา รวมทั้งจับกุมพนักงานการรถไฟที่ออกมาประท้วงไปหลายพันคน
รัฐบาลของนางอินทิรา คานธี เริ่มคล้ายกับรัฐบาลอังกฤษสมัยที่ปกครองอินเดียเข้าไปทุกที
สถานการณ์ทุกอย่างบีบบังคับให้นางอินทิรา คานธี ต้องถอยเข้ามุมอย่างไม่มีทางเลี่ยง แต่คราวซวยยังไม่หมดลงแค่นั้น
12 มิถุนายน ปีค.ศ. 1975 ศาลสูงของเมืองอัลลาลาบาด ได้ตัดสินว่า นายกรัฐมนตรีอินทิรา คานธี มีความผิดฐานใช้อำนาจในทางมิชอบในการเลือกตั้งปีค.ศ. 1971 และประกาศให้ การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ และ ประกาศตัดสินนางอินทิรา คานธีในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลา 6 ปี
นางอินทิรา คานธี ร้องค้านต่อศาลฎีกาของประเทศที่เมืองเดลีทันทีทันควัน ศาลฏีการับฟ้องเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ทำให้นางยังสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปตามที่นางร้องขอ
แต่สถานการณ์รอบด้านก็ยังไม่เอื้อต่อนางอินทิรา เลย แต่ผมจะเลือกเอามาเล่าเฉพาะที่เห็นว่าสำคัญที่สุดเท่านั้น
25 มิถุนายน ปีค.ศ. 1975 หรือ 13 วันหลังจากศาลสูงของเมืองอัลลาลาบาด ตัดสินคดีของนาง นางอินทิรา คานธี ก็ประกาศภาวะฉุกเฉินโดยผ่านทางประธานธิบดี ฟาครุดดิน อาลี อาห์เมด ซึ่งเป็นสมาชิกของพรรคคองเกรสด้วย
จากนั้น ขบวนการจับกุมคุมขังฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองก็เริ่มขึ้น หนังสือพิมพ์ทุกฉบับต้องให้รัฐบาลเซ็นเซอร์ข่าวเสียก่อนที่จะจะตีพิมพ์ และยังให้ยกเลิกการเลือกตั้งทั้งหมดออกไปก่อนโดยไม่มีกำหนด
อำนาจสูงสุดของอินเดียอยู่ในมือของนายกรัฐมนตรี อินทิรา คานธี เพียงคนเดียว ไม่ต่างอะไรกับ “เผด็จการ” เพราะนางมีอำนาจในการสั่งการกองทัพทุกกองทัพ และ ตำรวจทั่วประเทศ
ทหาร ทั้งประเทศสงบนิ่งเพื่อรอคำสั่งของนางคนเดียว อาจพูดได้ว่า เพราะระเบียบวินัยที่ค้ำคอมาตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนโรงเรียนทหารก็ได้
แล้วทหารจะมีบทบาทอย่างไรบ้าง
รอติดตามอ่านในตอนหน้าครับ