น้ำตานองแผ่นดินอินเดียเพื่อทหาร(ตอน4)

ซอกซอนตะลอนไป                           (9 มกราคม 2565)

น้ำตานองแผ่นดินอินเดียเพื่อทหาร(ตอน4)

โดย                     เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ความซวยที่มาเยือน นางอินทิรา คานธี  นายกรัฐมนตรีอินเดียในช่วงปี ค.ศ. 1971 มีสาเหตุที่อาจเรียกได้ว่า  ตายน้ำตื้น

               ในปีค.ศ. 1971 มีการเลือกทั่วไปสภาผู้แทนราษฎรของอินเดีย  นางอินทิรา คานธีลงสมัครในเขต ไร บาเรลี รัฐอุตตราประเทศ ซึ่งเป็นเขตเลือกตั้งที่ถือว่าเป็นฐานเสียงของตระกูลคานธี และ พรรคคองเกรส มาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยบิดาของนาง คือ  นายเยาวหราล เนห์รู  หมายความว่า  ตระกูลคานธีลงเลือกตั้งที่นี่เมื่อไหร่ก็ได้รับเลือกเสมอมา


(นายราช  นารายัน ซึ่งรัฐบาลอินเดียทำสแตมป์เป็นรูปของเขาในปีค.ศ. 2007  สะท้อนว่า  เขาเป็นผู้เสียสละต่อประเทศชาติคนหนึ่ง)

แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้  นางอินทิรา คานธี จะต้องแข่งกับนาย ราช นารายัน (RAJ NARAIN) จากพรรค SAMYUKTA SOCIALIST  ผู้เคยร่วมในกลุ่มนักศึกษาที่เคลื่อนไหวเรียกร้องอิสรภาพจากอังกฤษ และน่าจะรู้จักมักคุ้นดีกับ นายเนห์รูด้วย

               ขณะนั้น   นางอินทิรา คานธี  ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่

               บางท่านอาจจะสงสัยว่า  นางอินทิรา คานธี มีภูมิลำเนาอยู่ในเดลี  แต่ทำไมมาสมัครเป็นผู้แทนราษฎรที่รัฐอุตตราประเทศ ได้  


(รัฐอุตตรา ประเทศ และ เขตเลือกตั้ง ไร บาเรลี่)

               ผมจึงขอนอกเรื่องเพื่ออธิบายเรื่องนี้เพิ่มเติมสักนิดครับ 

รัฐธรรมนูญของอินเดียฉบับแรกในปีค.ศ. 1950 ไม่ห้ามการสมัครรับเลือกตั้งนอกเขตที่อยู่อาศัย  เพราะเขาถือว่า  หากกฎหมายกำหนดห้าม ก็จะเป็นการละเมิดสิทธิขั้นต้นของพลเมืองอินเดีย 

               ยิ่งไปกว่านั้น  ในปีค.ศ.2004  รัฐสภายังได้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ผู้ต้องการสมัครรับเลือกตั้งทั้งในระดับรัฐ และ ระดับประเทศ  สามารถลงสมัครได้ใน 2 เขตพร้อมกัน  

บางท่านอาจจะงง

               กล่าวคือปัจจุบันนี้  ผู้สมัครชิงตำแหน่ง สส. ของอินเดีย สามารถสมัครในรัฐใดก็ได้  ไม่จำเป็นจะต้องเป็นรัฐที่ตัวเองอาศัยอยู่   และ  สามารถสมัครได้พร้อมกัน 2 เขตเลือกตั้ง  หรือ 2 รัฐได้เลย

               ขณะเดียวกัน  ผู้สมัครชิงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติของรัฐ ก็สามารถลงสมัครในเขตใดก็ได้   และ  สามารถลงสมัครได้ 2 เขต เช่นกัน  หากได้รับเลือกตั้งเข้ามาทั้งสองเขต ก็เพียงแต่สละสิทธิ์ในเขตใดเขตหนึ่งเท่านั้น

               เขาจึงพูดกันว่า   อินเดียเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยมาก    จนอาจเรียกได้ว่า  มากเกินไป


(ประชาชนอินเดียให้ความสำคัญกับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นอย่างมาก สถิติในการเลือกตั้งปีค.ศ. 2019 มีผู้มาลงคะแนนเสียงคิดเป็น 67.40 เปอร์เซนต์)

               แต่ในยุคปีค.ศ. 1971  ยังอนุญาตให้สมัครชิงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เพียงเขตเดียว  จึงเป็นเรื่องชี้เป็นชี้ตายของผู้สมัคร เพราะหากแพ้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็จะต้องรอไปอีก 5 ปีตามวาระของสมาชิกสภาผู้แทนฯ

               การเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1971  นางอินทิรา คานธี เป็นฝ่ายมีชัยเหนือนายราช นารายัน  ต่อมา  นายราช นารายันได้ฟ้องร้องต่อศาลสูงของเมือง อัลลาลาบาด(ALLAHABAD HIGH COURT) รัฐอุตตราประเทศ กล่าวหาว่า  นางอินทิรา คานธี ใช้อำนาจของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในทางมิชอบ  เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อตนเองในการเลือกตั้ง

               เป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงมากของระบบประชาธิปไตยของอินเดีย

               ด้วยความที่มีเรื่องกินใจกันมาก่อนระหว่าง นายกรัฐมนตรีอินทิรา คานธี  กับ ศาลฎีกา  และ  ความที่เป็นหญิงแกร่ง ไม่ยอมใครง่ายๆ   นางอินทิรา คานธี  จึงตอบโต้ศาลด้วยการสั่งสอบสวนศาลสูงในหลายเรื่อง


(ศาลสูงแห่ง อัลลาอาบาด)

               ในที่สุดวันตัดสินคดีระหว่าง นายราช นารายัน กับ นางอินทิรา คานธี ก็มาถึง  แม้ว่าจะมาช้าสักหน่อยเพราะกินเวลานานเกือบ 5 ปี

               วันที่ 12  มิถุนายน ปีค.ศ. 1975  ศาลสูงแห่งอัลลาลาบาด ตัดสินว่า  นายกรัฐมนตรีอินทิรา คานธี มีความผิดจริงในการใช้เครื่องมือของรัฐช่วยตัวเองหาเสียงเลือกตั้ง และ ใช้ตำรวจของรัฐในการสร้างฐานคะแนนของตนเอง  ใช้ความได้เปรียบของตำแหน่งของตนเองร่วมกับ นาย ยัชปาล คาปูร์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งวุฒิสภาจากพรรค คองเกรส ให้ช่วยเหลือนางอินทิรา คานธี ในการเลือกตั้ง

               และยังมีความผิดฐานใช้ไฟฟ้าของรัฐโดยไม่จ่ายเงินด้วย

แต่ข้อกล่าวหาที่ว่า  นางอินทิรา คานธี ซื้อเสียง  และ การจัดการเลือกตั้งที่ไม่ถูกต้อง อันเป็นข้อหาร้ายแรง  ศาลให้ยกฟ้อง

ศาลสูงยังประกาศให้การเลือกตั้งของปี ค.ศ. 1971 เป็นโมฆะ

               ที่ร้ายที่สุดก็คือ  ศาลสูงได้สั่งห้ามนางอินทิรา คานธี ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลา 6 ปี  เหมือนเจตนาให้คร่อมการเลือกตั้ง 2 สมัย 10 ปีไปเลย

               โดนไม้นี้เข้าไป   นางอินทิรา ก็คงจะไปไม่ถูกเหมือนกัน 

               แต่ระดับนางสิงห์ของอินเดีย ผู้เคยท้าทายแม้กระทั่งอำนาจของ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา มาแล้ว   เธอย่อมต้องหาทางออกของตนเองได้

               แต่ทางออกของนางจะเป็นอย่างไร   รอติดตามอ่านในสัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .