ซอกซอนตะลอนไป (28 พฤศจิกายน 2564)
ปรัชญาฮินดู อันเป็นต้นกำเนิดของปรัชญาไทย(ตอน2)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ราทาน ตาต้า มีศักดิ์เป็นหลานของ จัมเซทจิ ตาตา(JAMSETJI TATA) ผู้บุกเบิก และ ผู้ก่อตั้งธุรกิจอุตสาหกรรมของอินเดีย จัมเซทจิ ยังเป็นผู้ก่อตั้ง ตาต้า กรุ๊ป (TATA GROUP) เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว จนปัจจุบันกลายมาเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ราทาน ตาต้า มีสายเลือดฟาร์ซี(PARSI) หรือ เปอร์เชี่ยนโบราณ ที่นับถือศาสนาโซโรแอสเทรียนกลุ่มย่อย ได้รับการศึกษาช่วงต้นในประเทศอินเดีย หลังจากนั้นก็สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล และ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ในวันที่เขาคุยกับ พระเอกหนังชื่อดัง อะมิตตาป ปัจจัน บนเครื่องบินนั้น เขาทำงานในบริษัทตาต้าแล้ว และ กำลังได้รับการโปรโมทขึ้นสู่ตำแหน่งบริหาร
ผมนึกในใจว่า หากราทาน ตาต้า เป็นเพียงลูกหลานเศรษฐีกร่างคนหนึ่ง ซึ่งเขามีสิทธิ์ที่จะกร่างได้ เขาก็อาจจะตอบไปว่า
“ผมชื่อ ราทาน ตาต้า ผมเป็นผู้บริหาร ตาต้ากรุ๊ป เป็นหลานของ จัมเชทจิ ตาต้า ผู้ก่อตั้งบริษัทตาต้ากรุ๊ป” ซึ่งชาวอินเดียเกือบทั้งประเทศจะรู้จัก หรือ จะพูดอะไรประมาณนี้
แต่ราทาน ตาต้า ก็ตอบแบบอ่อนน้อมถ่อมตน ว่า “ผมชื่อ ราทาน ตาต้า(RATAN TATA) ผมมาจากมุมไบครับ”
เชื้อสายตระกูลตาต้า อพยพมาจากภาคใต้ของเปอร์เชีย หรือ อิหร่านในปัจจุบัน เมื่อประมาณศตวรรษที่ 8 ตอนที่พวกมุสลิมเข้ายึดครองเปอร์เชีย และเริ่มใช้มาตรการบังคับทางด้านศาสนากับชาวเปอร์เชียนเดิมที่นับถือศาสนา โซโรแอสเทรียน(ZOROASTRIAN) จนทำให้ผู้ที่เคร่งศาสนาทนไม่ได้ต้องอพยพออกไป
จนถึงปัจจุบัน ตระกูลตาต้าได้อพยพเข้ามาสู่อินเดียนานกว่า 25 ชั่วอายุคนแล้ว
แม้ว่าจะเข้ามาอยู่ในอินเดีย ซึ่งเป็นวัฒนธรรมฮินดูนานกว่า 1200 ปีแล้ว แต่ตระกูลตาต้า และ ชาวฟาร์ซีจำนวนมากก็ยังคงรักษาวัฒนธรรมความเชื่อของตนเองเอาไว้อย่างมั่นคง แต่สงบ
แน่นอนว่า ความเชื่อของศาสนาฮินดูจำนวนมากได้ซึมซับผ่านการรับรู้ การอ่าน และ จากสังคมรอบข้างมาโดยตลอด จนถูกกลั่นกรองออกมาเป็นคำพูด และ พฤติกรรมของสมาชิกตาต้า
ความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่พึงมีของมนุษย์ผู้เจริญ ตามที่บันทึกอยู่ในตำราของ ชานัคเคีย(CHANAKYA) ที่เรียกว่า นาชัคเคีย นิติ (CHANAKYA NEETI) ซึ่งเป็นตำรารวมรวบคุณสมบัติของการเป็นคนดีของฮินดู
ชานัคเคีย ได้รับการยกย่องว่าเป็นทั้งครู นักปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์ นักกฎหมาย และ ที่ปรึกษาของกษัตริย์ในราชสำนัก
ชานัคเคีย มีบทบาทอย่างมากในการเป็นกำลังสำคัญให้จักรพรรดิ จันทรคุปต์(CHANDRAGUPTA) สถาปนาราชวงศ์เมาระยะ (MAURYA DYNASTY) ขึ้นสู่อำนาจในช่วงศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล หรือ ประมาณ 2200 ปีที่แล้ว
และยังช่วยให้คำปรึกษาแก่ พระเจ้าพินทุสาร(BINDUSARA)โอรสของพระเจ้าจันทรคุปต์ จนราชวงศ์เมาระยะ มีความมั่นคงในเวลาต่อมา
อาจกล่าวได้ว่า หากจีนมี ขงจื่อ(KONG QIU) เป็นผู้วางแนวทางการปกครองของประเทศจีนในอดีต อินเดีย ก็มี ชานัคเคีย เป็นผู้เขียนตำราวางแผนการบริหารประเทศอินเดียเช่นเดียวกัน
เขาระบุในตำราของเขาที่เรียกว่า อาร์ธาศาสตรา(ARTHASHASTRA) หรือ เทียบได้กับตำราพิชัยยุทธก็ได้ เขาระบุว่า
“ประเทศจะเข้มแข็งได้ ผู้ปกครองจะต้องมีสปาย หรือ สายลับ ในการหาข่าว”
ตำราที่เขาเขียนอย่างตำราเศรษฐศาสตร์ ยังได้รับการยกย่อง และ ถือเป็นแบบอย่างในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจแม้ในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ปัจจุบันนี้ สโลคหนึ่งที่เขาเขียนในภาษาสันสกฤติ คือ
नमन्ति फलिनो वॄक्षा नमन्ति गुणिनो जना: |
शुष्ककाष्श्च मूर्खश्च न नमन्ति कदाचन ||
อ่านว่า namanti phalino vrukshaa namanti gunino janaah.
shushkakaash thashcha moorkhashcha na namanti kadaachana
แปลความได้ว่า ต้นไม้ที่มีผลไม้เต็มกิ่ง จะโค้งต่ำลงมา เช่นเดียวกับนักปราชญ์ จะค้อมกายเพื่อแสดงการให้เกียรติ และ เคารพต่อผู้อื่น
ส่วนคนยะโส และ โง่ จะไม่ต่างจากไม้แห้งที่ตายแล้ว ไม่สามารถโน้มกิ่งลงมาได้
สำนวนไทย ที่น่าจะได้รับอิทธิพลจาก สโลคของชานัคเคีย ก็คือ
“เมล็ดข้าวที่เต็มรวง จะโน้มกิ่งค้อมต่ำ แต่รวงข้าวที่ไร้เมล็ด จะเหยียดชี้ขึ้นไปบนฟ้า”
ผมเตรียมจะเดินทางไปอินเดีย รัฐกุจราฎ และ โอดิสสา ช่วงเดือนมกราคม ปีหน้า และจะเดินทางไปตามเส้นทางที่ผมเขียนในบทความทั้งหมด หากสนใจร่วมเดินทางด้วย ติดต่อ 0885786666 หรือ LINE ID – 14092498
พบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีครับ