ซอกซอนตะลอนไป (21 พฤศจิกายน 2564)
ปรัชญาฮินดู อันเป็นต้นกำเนิดของปรัชญาไทย(ตอน1)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
วันหนึ่งเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2517 บนเครื่องบินของสายการบิน แอร์ อินเดีย ที่กำลังจะบินไปยังเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย
ชายหนุ่มรูปร่างสูงใหญ่ สง่า หน้าตาดี วัยประมาณ 30 เศษๆ เดินเข้ามาในเครื่อง ทันใดนั้นเอง ทั้งผู้โดยสาร และ แอร์โฮสเตส ต่างก็หันมามองเขาเป็นตาเดียวกัน แล้วแทบจะทุกคนต่างพากันกรูเข้ามาหาชายหนุ่มคนนี้
เพื่อขอลายเซ็นต์
ยังความโกลาหลไปทั้งเครื่องบิน แต่ดูเหมือนทุกคนบนเครื่องจะมีความสุข รวมทั้งแอร์ โฮสเตส ด้วย
สักพัก ทุกอย่างก็กลับเป็นปกติเมื่อชายหนุ่มคนดังกล่าวได้แจกลายเซนต์จนครบ จากนั้น เขาก็นั่งลงบนที่นั่งของเขา
เขาสังเกตเห็นว่า ข้างๆที่นั่งของเขาก็คือชายวัยกลางคน อายุน่าจะใกล้เคียงกับเขา อาจจะมากกว่าสักสองสามปี ชายคนดังกล่าวนั่งอ่านหนังสืออย่างสงบ และมีสมาธิ
ดูเหมือนเขาจะไม่ถูกรบกวนจากความโกลาหลเล็กๆบนเครื่องเมื่อสักครู่เลยแม้แต่น้อย และ ไม่ได้แม้แต่จะหันมามอง หรือ ขอลายเซนต์จากเขาเลย
ชายหนุ่มรู้สึกแปลกใจ แต่ก็เก็บความรู้สึกนี้เอาไว้
เขาอาจจะเป็นชาวต่างประเทศก็ได้
ระหว่างเครื่องบินกำลังบิน ชายหนุ่มก็ชวนชายวัยกลางคนสนทนา สักพักเดียว ทั้งคู่ก็สนทนากันอย่างถูกคอ เพราะดูเหมือนจะมีภูมิความรู้พอๆกัน และ วัยใกล้เคียงกัน
เมื่อคุยกันมาได้นานพอสมควร จนเครื่องใกล้ถึงจุดหมายปลายทาง ชายหนุ่มก็พูดว่า
“เราคุยกันมาตั้งนานแล้ว เรายังไม่รู้จักกันเลย ผมชื่อ อะมิตาป ปัจจัน ครับ”
ชายวัยกลางคนตอบแบบสุภาพว่า “ผมทราบว่าคุณเป็นใคร คุณเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียง” แล้วเขาก็ถามชายหนุ่มเกี่ยวกับอาชีพการแสดงของเขา
“แล้วคุณละครับ ชื่ออะไร อยู่ที่ไหนครับ” อามิตาป ปัจจัน ถาม
ชายวัยกลางคนตอบแบบสุภาพเช่นเคย
“ผมชื่อ ราทาน ตาต้า(RATAN TATA) ผมมาจากมุมไบครับ”
ช่างเป็นคำแนะนำตัวเองที่แสนจะสุภาพ และ ธรรมดามากๆ แต่ก็ทำให้ชายหนุ่มอึ้งไปเลย และ ตื่นเต้นที่ชายคนที่นั่งอยู่ข้างเขาตลอดทางคือบุคคลที่ทรงอิทธิพลทางธุรกิจ และ ร่ำรวยมากที่สุดคนหนึ่งของอินเดีย
อาจจะกล่าวได้ว่า ร่ำรวยที่สุดของอินเดียก็ว่าได้
แต่เขากลับแนะนำตัวเองราวกับเป็นชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น ทั้งๆที่สายการบินที่เขาโดยสารมา ครั้งหนึ่งก็เคยเป็นของตระกูลของเขามาก่อน
อามิตาป ปัจจัน เล่าเรื่องดังกล่าวให้สื่อมวลชนฟังเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า คนที่มีการศึกษา และ มีวัฒนธรรม ของอินเดียเขาสุภาพอ่อนน้อมอย่างไร
ตามสโลคคำสอนของ ชะนัคเคีย (CHANAKYA) ที่จารึกไว้เป็นภาษาสันสกฤติดังนี้
नमन्ति फलिनो वॄक्षा नमन्ति गुणिनो जना: |
शुष्ककाष्श्च मूर्खश्च न नमन्ति कदाचन ||
สัปดาห์หน้า ผมจะมาขยายความว่า ชะนัคเคีย เป็นใคร มีความสำคัญอย่างไร และ จะเอาคำแปลของสโลคนี้มาเล่าให้ฟังครับ
ผมเตรียมแผนที่จะเดินทางไปอินเดีย รัฐกุจราฎ และ โอดิสสา ช่วงเดือนมกราคม ปีหน้า และจะเดินทางไปตามเส้นทางที่ผมได้เขียนเอาไว้ทั้งหมด หากสนใจร่วมเดินทางด้วย ติดต่อ 0885786666 หรือ LINE ID – 14092498
สวัสดีครับ