เทศกาล ปิตรุ ปักษา ก่อนเทศกาลนวราตรี(ตอน1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (31 ตุลาคม 2564)

เทศกาล ปิตรุ ปักษา ก่อนเทศกาลนวราตรี(ตอน1)

โดย                 เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ

               วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2564  ตามปฎิทินปัญจางของชาวฮินดู  ถือเป็นวันพระจันทร์ดับ(AMARVASYA KRISHNA) หรือ วันแรม 15 ค่ำ  ดังนั้น  ในวันรุ่งขึ้น  คือวันที่ 7 ตุลาคม  จึงเป็นวันที่เรียกว่า  วันพระจันทร์เกิดใหม่ (NEW MOON) หรือ วันขึ้น 1 ค่ำ

               แต่ที่สำคัญก็คือ  วันที่ 7 ตุลาคม 2564 จะเป็นวันแรกของเทศกาล นวราตรี(NAVARATRI)  หรือ  เทศกาล ราตรีทั้งเก้า ที่ถือว่าเป็นเทศกาลสำคัญมากเทศกาลหนึ่ง ของชาวฮินดู 


(วันที่ 6 ตุลาคม ระบุว่าเป็น PITRU AMAVASYA หรือ แรม 15 ค่ำ)

               เนื่องจากผมเคยเขียนถึง เทศกาล นวราตรีมาแล้ว   ในบทความนี้  จึงขอเขียนถึงอีกเทศกาลหนึ่ง ที่มาก่อนหน้าเทศกาลนวราตรี

เทศกาลนี้เรียกว่า  ปิตุร ปักษา(PITRU PAKSHA)  เป็นช่วงที่ชาวฮินดูจะประกอบพิธีทางศาสนาตามความเชื่อภายในช่วงเวลา 15 วันก่อนหน้าวันนวราตรี  โดยจะเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือนบาห์ดราปาดา(BHADRAPADA) ตรงกับวันที่ 22 กันยายนโดยประมาณ (ขึ้นอยู่กับการคำนวนของแต่ละปฎิทิน)   และมาสิ้นสุดในวันที่ 6 ตุลาคม เป็นวันสุดท้าย

               ปิตรุ แปลว่า  บิดา หรือ บรรพบุรุษ   ส่วนคำว่า  ปักษา ก็คือ ปักษ์ ในภาษาไทย หมายถึงช่วงเวลา 15 วันหรือ 2 สัปดาห์ของการโคจรของดวงจันทร์  เป็นช่วงเวลา 15 วันที่ชาวฮินดู จะประกอบพิธีกรรมในการบูชา  รำลึกถึง และ  ทำบุญถวาย ให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว

               ปรัชญาที่สำคัญอันหนึ่งของชาวฮินดู ก็คือ  ความผูกพันต่อสมาชิกในครอบครัว  และ การเคารพรักต่อบรรพบุรุษของตัวเอง   ซึ่งวัฒนธรรมนี้ได้ถ่ายทอดมาสู่วัฒนธรรมไทยในเวลาต่อมาก

               เมื่อบรรพบุรุษในครอบครัวเสียชีวิต  คนรุ่นหลังก็จะมีพิธีกรรมอย่างหนึ่งในการอุทิศถวายสิ่งของ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหาร ไปให้แก่ผู้ล่วงลับ  เรียกว่า โสทรา (SRADDHA) เป็นภาษาสันสกฤติแปลว่า ความเชื่อมั่น ,  การอุทิศถวายให้  โดยเฉพาะแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว  เน้นที่บิดามารดา

               เป็นความหมายโดยรวมของการแสดงความเคารพโดยทั่วไป 

               ในช่วง 15 วันดังกล่าว  ชาวฮินดูเชื่อว่า  วิญญาณของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ จะกลับมาหาลูกหลานเพื่อรับอาหาร และ ผลบุญที่ลูกหลานทำอุทิศถวายให้  หากไม่มีใครทำบุญไปให้  วิญญาณเหล่านั้นก็จะกลับไปด้วยความผิดหวังอย่างยิ่ง

               เหมือนแนวคิดของวัฒนธรรมไทยที่มีต่อบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไป


(พระยม)

               ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู  วิญญาณของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ 3 รุ่นจะไปสถิตอยู่ใน ปิตริโลกา(PITRILOKA)  หรือ  ดินแดนที่อยู่ระหว่าง สวรรค์ และ โลก  ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของ พระยม(YAMA) ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งความตาย

               พระยมเป็นเทพเจ้าผู้นำเอาวิญญาณของผู้ตายจากโลกมนุษย์ ไปสู่ ปิตริโลกา เมื่อบุคคลผู้นั้นสิ้นอายุขัย

               เมื่อมีบุคคลในรุ่นถัดมาเสียชีวิต  วิญญาณของเขาจะถูกนำไปสู่ ปิตริ โลกา พร้อมกันนั้นเองวิญญาณของบรรพชนรุ่นแรกสุดก็จะถูกนำออกไปเพื่อจะไปพิจารณาว่า  ดวงวิญญาณที่ถูกนำออกไปจาก ปิตริโลกาจะได้ไป สวาร์กา(SWARGA)หรือ สวรรค์  หรือ  จะไปสู่ นาระกา (NARAKA)หรือ นรก  ตามแต่กรรมของผู้นั้นที่เคยทำไว้ตอนมีชีวิต

               ในช่วง ปิตรุ ปักษา 15 วันนี้  ชาวฮินดูจะประกอบพิธีทำบุญเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ  ในแบบที่เรียกว่า ทาร์พาน(TARPANA) 

พิธี ทาร์พาน จะกระทำกันในแม่น้ำคงคง แม่น้ำที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุด  มีต้นธารมาจากเทือกเขาหิมาลัย  หรือ  เขาพระสุเมรุอันเป็นที่สถิตของเทพเจ้า

แม่น้ำคงคา นอกจากจะเชื่อมโลกมนุษย์ไปยังสวรรค์แล้ว   ยังเชื่อกันว่า   แม่น้ำคงคาจะชำระล้างบาปของมนุษย์ให้หมดสิ้นไป (ซึ่งน่าสนใจว่าอาจจะเป็นต้นธารของพิธี แบ๊ปไทส์ หรือ พิธีรับศีลล้างบาปของศาสนาคริสต์ก็ได้)  


(ชาวฮินดูประกอบพิธีทาร์พาน ในแม่น้ำคงคา)

               ผู้ประกอบพิธีจะลงไปในแม่น้ำคงคา ในระดับที่น้ำท่วมถึงหน้าอก หรือ คอ  ในมือจะถือภาชนะเหมือนช้อนที่เรียกว่า โคชา คูชิ (KOSHA KUSHI) ที่ทำด้วยโลหะทองแดง 


(โคชา คูชิ ภาชนะที่ใช้ในการประกอบพิธี  เรียบง่าย  ราคาไม่แพง)

               ในภาชนะดังกล่าวจะมี  ข้าวปั้นเป็นก้อนที่เรียกว่า พินดา ประกอบด้วยข้าวสุกผสมกับเนยที่เรียกว่า กีห์ และ งาดำ ดอกไม้ และ น้ำ    ผู้ประกอบพิธีจะใช้โคชา คูชิ ตักน้ำในแม่น้ำคงคาขึ้นมาแล้วเทกลับลงไปในแม่น้ำ  เป็นนัยยะว่า อาหารที่อุทิศแด่บรรพบุรุษ ได้ล่องลอยไปตามแม่น้ำคงคาไปสู่บรรพบุรุษของเขาแล้ว


(ในโคชา คูชิ ที่ใส่น้ำ  งาดำ ดอกไม้  ข้าวปั้น )

               แนวคิดคล้ายกับการทำบุญ และ กรวดน้ำของศาสนาพุทธของไทย

               ความหมายของเมล็ดงาดำนั้น เจตนาจะถวายให้แด่ เทพชานี  หรือ  เทพเจ้าแห่งดาวเสาร์ (SATURN) ซึ่งเป็นเทพเจ้าในดินแดนคนตายด้วย

               สำหรับคนที่แม่น้ำคงคงอยู่ห่างไกลจากบ้าน  และมีสตางค์พอที่จะเดินทางไปที่เมือง พุทธคยา  ก็สามารถประกอบพิธีกันในแม่น้ำ ฟัลกู(PHALGU) ได้

               คนไทยจะรู้จัก และ คุ้นเคยเป็นอย่างดีกับแม่น้ำ ฟัลกู  แต่เป็นในชื่อแบบไทย

               สัปดาห์หน้า  ผมจะมาเฉลยว่า  ทำไมจึงต้องไปทำพิธีที่เมือง พุทธคยา  และ  แม่น้ำฟัลกู มีชื่อไทยว่า อย่างไรครับ 

               สวัสดีครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .