วันวิศวกรรม บูชา

ซอกซอนตะลอนไป                           (24 ตุลาคม 2564)

วันวิศวกรรม บูชา

โดย                   เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ

               วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2564  เป็นวันสำคัญของผู้มีอาชีพ วิศวกร  สถาปนิก  ช่างเท็คนิค  และ  ช่างก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ของชาวฮินดูในประเทศอินเดีย และ เนปาล  เพราะวันนี้เป็นวันเทพวิศวกรรม บูชา (VISHVAKARMA PUJA)  หรือ  วันแห่งการบูชาต่อเทพเจ้าแห่งวิชาการช่าง


(วันวิศวกรรม บูชา ตรงกับวันที่ 17 กันยายน ของทุกปี)

               ในวันนั้น  บรรดาผู้มีอาชีพทางช่าง  การออกแบบ  วิศวะ  สถาปัตย์ ชาวฮินดู  จะหยุดพักการทำงาน 1 วัน  และ จะทำการตรวจดูเครื่องไม้เครื่องมือในการประกอบอาชีพของตนเองให้อยู่ในสภาพดี  และ  ทำการบูชาเทพวิศวกรรม กัน 

               ชื่อของเทพวิศวกรรม ปรากฎอยู่ในคัมภีร์ฤคเวท(RIGVEDA) หรือ ส่วนหนึ่งของคัมภีร์พระเวท เล่มที่ 10 ถึง 5 ครั้งด้วยกัน

               คัมภีร์พระเวท ของฮินดู มีอายุอย่างน้อยก็ตั้งแต่ประมาณ 1500 ปีก่อนคริสตกาล หรือ อย่างน้อยก็ประมาณ 3500 ปีที่แล้ว

               จึงถือว่า เทพวิศวกรรม เป็นเทพที่ดีรับการเคารพมายาวนานเก่าแก่ที่สุดองค์หนึ่งของศาสนาฮินดู

               ตำนานปรัมปราของฮินดูบอกว่า   เทพวิศวกรรม เป็นผู้สร้างทุกสรรพสิ่งในโลก  ตั้งแต่เครื่องมือทำการเกษตร  เช่น  พลั่ว  เสียม  จอบ  คันไถ  จนกระทั่งบรรดาอาวุธต่างๆที่เทพเจ้าถืออยู่ในมือ

               เช่น  ตรีศูล(TRIDENT) ที่พระศิวะ ถืออยู่ในมือ  หรือ  วัชระ(VAAJRA) ที่พระอินทร์ถือในมือ ว่ากันว่าเป็นฝีมือของเทพวิศวกรรม

แต่ก็มีบางกระแสโต้แย้งในเรื่องนี้ ซึ่งผมจะเขียนถึงเรื่องอาวุธของเทพเจ้าฮินดูอีกครั้งในอนาคตครับ 


(พระกฤษณะ ในพระวิมาน ที่ เทพวิศวกรรม สร้างให้-ภาพจากวิกิพีเดีย)

               นอกจากนี้  ในตำนานปรัมปราของฮินดู ยังระบุว่า  เทพวิศวกรรม เป็นผู้สร้างพระราชวังดวาร์กา(DWARKA) ให้แก่พระกฤษณะ อีกด้วย  พระราชวังแห่งนี้ตั้งอยู่ริมทะเลในรัฐคุชราฏ ของอินเดีย  นักโบราณคดีได้ค้นพบทรากเมืองโบราณที่ว่านี้จมอยู่ใต้ทะเลเมื่อไม่นานมานี้


(สถานที่ตั้งของพระราชวัง ดวาร์กา ของ พระกฤษณะ)

               แบบเดียวกับที่นักโบราณคดีค้นพบพระราชวังของพระนางคลีโอพัตรา ที่ 7 ของอียิปต์ที่จมอยู่ใต้ทะเลที่เมืองอเล็กซานเดรีย เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว

               ยิ่งไปกว่านั้น   เทพวิศวกรรม ยังเป็นผู้สร้าง  วิมาน  หรือ  สวรรค์ ให้แก่เทพเจ้าอีกด้วย


(วิมาน ที่ เทพวิศวกรรม เป็นผู้สร้าง)

               วิมาน(VIMANA) ในความหมายนี้มีรูปลักษณ์เป็นรถเทียมม้าบ้าง  เป็นอาคารบ้าง  และอาคารที่ว่านี้มีทั้งหมด 7 ชั้น  ซึ่งน่าจะเป็นที่มาของคำว่า  สวรรค์ชั้นเจ็ด


(วิมาน  ที่ทศกัณฐ์ ไปแย่งชิงมาจากเทพกุเวร- ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ตามตำนานกล่าวว่า  เทพวิศวกรรม ได้สร้างวิมานดังกล่าวให้แก่ เทพกุเวร(KUBERA) เทพเจ้าแห่งความมั่งคั่ง   แต่ต่อมา  ทณกัณฐ์(RAVANA) ได้มาแย่งวิมานนี้ไปจากเทพกุเวร   จนพระราม(RAMA)ต้องตามไปแย่งวิมานนี้กลับคืนมาให้แก่เทพกุเวรในที่สุด

               แม้ว่า   เทพวิศวกรรม จะเป็นผู้สร้างทุกสรรพสิ่งในโลก   แต่สิ่งที่เทพวิศวกรรม สร้างล้วนเป็นเพียงสิ่งไม่มีชีวิตเท่านั้น  เพราะผู้ทำหน้าที่สร้างสรรสรรพสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายเป็นหน้าที่ของ  พระพรหม(BRAHMA)


(พระพรหม ทรงหงส์)

               อาจเป็นเพราะเทพทั้งสองมีบทบาทหน้าที่คล้ายกัน  จึงทำให้รูปร่างหน้าตาของเทพวิศวกรรม  มีความคล้ายคลึงกับพระพรหม เป็นอย่างมาก

               เทพทั้งสอง มีใบหน้าเป็นคนแก่  มีเคราขาวยาว  และ  มี 4 หน้า  4 แขน เป็นเหตุให้บางครั้ง  ผู้คนเกิดความสับสนกันระหว่าง  เทพวิศวกรรม กับ พระพรหม


(ภาพจากวิกิพีเดียระบุว่าเป็นเทพวิศวกรรม   แต่โดยส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับวิกิพีเดีย เพราะผมเห็นว่า  รูปนี้น่าจะเป็น พระพรหม มากกว่า  โดยดูจากอุปกรณ์ที่ถืออยู่ในมือ)

               บางตำนานถึงกับบอกว่า  เทพวิศวกรรม เป็นโอรสของพระพรหม ไปเลย

               ในประเทศไทย  น่าจะมีความเข้าใจผิดกันระหว่าง  เทพวิศวกรรม กับ เทพวิษณุกรรม ว่าเป็นเทพองค์เดียวกัน  ซึ่งไม่ใช่

               วันเทพวิศวกรรม บูชา จะถูกกำหนดด้วยแนวคิดที่แตกต่างจากเทศกาลอื่นๆของฮินดู กล่าวคือ  จะถูกกำหนดตายตัววันเดียวกันของทุกปี คือ ทุกวันที่ 17 กันยายน  เป็นเทศกาลของฮินดูเทศกาลเดียวเท่านั้นที่กำหนดวันตายตัวตามปฎิทินสุริยคติ

               โดยถือว่า วันที่ 17 กันยายน มีดิถีที่เรียกกันตามภาษาโหราศาสตร์ภารตะว่า กันยา สังกรานติ(KANYA SANKRANTI)   คำว่า  KANYA แปลว่า  เด็กหญิง หมายถึง ราศีกันย์  ส่วน SANKRANTI แปลว่า  การเปลี่ยนผ่านจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง

               รวมความแล้วมีความหมายว่า  เป็นวันที่พระอาทิตย์(๑) โคจรย้ายจากราศีสิงห์เข้าสู่ราศีกันย์

               แม้ว่า  เทพวิศวกรรม จะไม่ค่อยเป็นที่นิยมในประเทศไทยเท่าไหร่นัก  ก็ถือเสียว่า รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม แล้วกันครับ

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

               ท่านผู้อ่านสามารถอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังทั้งหมด 7 ปี  สามารถไปที่ www.whiteelephanttravel.co.th    แล้วไปที่ blog  “ซอกซอนตะลอนไป” ได้ครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .