จากพิธี รถะ ยาตรา ของฮินดู ย้อนกลับไปสู่พิธีโอเปต ของอียิปต์โบราณ(ตอน5)

ซอกซอนตะลอนไป                           (10 ตุลาคม 2564)

จากพิธี รถะ ยาตรา ของฮินดู ย้อนกลับไปสู่พิธีโอเปต ของอียิปต์โบราณ(ตอน5)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               เหตุผลที่ต้องมีเทศกาล ฮันนีมูน หรือ  โอเปต  ของเทพอามุน-รา กับ มเหสี มุท ก็เพราะ เทพ อามุน-รา ประทับอยู่ที่วิหารคาร์นัค   ในขณะที่ เทพีมุท ประทับอยู่ที่วิหารลักซอร์

               ทั้งสองวิหารตั้งอยู่ริมแม่น้ำไนล์ในเมืองลัคซอร์  ห่างกันประมาณ 2 กิโลเมตรเศษ (ระยะห่างของวิหารจักกานนาถแห่งปูรี กับวิหารกันดิชา ก็ประมาณ 3 กิโลเมตร)  มีถนนศักดิ์สิทธิ์ตัดตรงเชื่อมสองวิหารเข้าด้วยกัน  สองข้างถนนดังกล่าวประดับด้วยสฟิงซ์ ทั้งสฟิงซ์หัวคน และ สฟิงซ์หัวแพะ ที่แกะสลักจากหินทรายสีเหลือง (โอกาสหน้า  ผมจะเล่าให้ฟังว่า  ทำไมเทพอามุน-รา จึงมีศรีษะเป็นแพะ)

               เทพอามุน-รา ซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุดที่ได้รับการเคารพอย่างมากในยุค อาณาจักรกลาง เรื่อยมาจนถึงยุคอาณาจักรใหม่  ส่วนเทพีมุท ได้รับการเคารพในฐานะ “มารดา”  คล้ายๆกับแนวคิดเรื่องพระแม่ ต่างๆของอินเดีย  ไม่ว่าจะเป็นพระแม่อุมา  พระแม่ปาร์วาตี  และ พระแม่สรัสวาตี   

               เทพทั้งสองมีโอรสองค์หนึ่ง คือ คอนซู(KHONSU) เป็นเทพเจ้าแห่งดวงจันทร์  รวมกันเป็นครอบครัวเทพเจ้า 3 องค์ ตามแนวความคิดของมนุษย์ที่ครอบครัวจะประกอบด้วย พ่อแม่ และ ลูก


(เทพอามุน-รา , เทพีมุท และ เทพ คอนซู)

               เลข 3 เป็นตัวเลขที่น่าสนใจมาก  เพราะมักจะเชื่อมโยงกับเทพเจ้าของหลายๆศาสนา  เช่น ไตรเอกภาพ (TRINITY) ของศาสนาคริสต์  อันประกอบด้วย  พระบิดา  พระจิต และ พระบุตร   หรือ  ตรีมูรติ(TRIMURTI)  ของศาสนาฮินดู อันประกอบด้วย  พระพรหม  พระนารายณ์  และ พระศิวะ  หรือ  ศาสนาพุทธที่ประกอบด้วย  พระพุทธ  พระธรรม  และ  พระสงฆ์


(ตรีมูรติ – พระศิวะ  ,  พระวิษณุ  และ  พระพรหม – ภาพจากอินเตอร์เน็ต)

               แม้กระทั่ง  เทพจักกานนาถ ในขบวนแห่ รถะ ยาตรา ก็ยังปรากฎเป็นเทพ 3 องค์  

               ด้วยเหตุที่ เทพ อามุน-รา เป็นเทพที่ได้รับการเคารพอย่างมากในยุคอาณาจักรใหม่  เหตุนี้เอง  วิหารคาร์นัค ซึ่งเป็นวิหารที่ประทับของเทพอามุน-รา จึงได้รับการบูรณะต่อเติมขยายออกไปเรื่อยๆจนกลายเป็นวิหารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก  เพราะฟาโรห์แต่ละพระองค์ต่างก็อยากจะมีส่วนร่วมในการทำบุญสร้างวิหารให้แก่เทพเจ้าที่เขาเคารพ   

               กระนั้น  ก็ยังเป็นวิหารที่ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์อยู่ดี  แม้จนทุกวันนี้


(ภาพมุมสูงของวิหารคาร์นัค  จะเห็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ทางด้านซ้าย  และบนสุดของภาพก็คือ แม่น้ำไนล์ ) 

               ในส่วนที่เป็นห้องที่ประดิษฐานของเทวรูป (HOLY OF THE HOLY) ของอามุน-รา ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ที่สุด  และ  น่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างยุคสุดท้าย   คือ ในสมัยของอเล็กซานเดอร์ มหาราช เมื่อประมาณ 2 พันกว่าปีที่แล้ว ตอนที่อเล็กซานเดอร์ เข้ายึดครองอียิปต์ในปี 332 ก่อนคริสตกาล  บนผนังมีภาพสลักบนหินแกรนิตเป็นเหตุการณ์เรื่องราวของเทศกาลโอเปต


(ภาพแกะสลักในวิหารเอ็ดฟู  แสดงการขบวนแห่เรือที่ประทับของเทพโดยบรรดานักบวช ที่คล้ายกันกับภาพในวิหารคาร์นัค )

               ภาพดังกล่าวสอดคล้องกันกับภาพสลักบนหินทรายในวิหารลัคซอร์  ที่ระบุว่าเป็นภาพเหตุการณ์ของเทศกาลโอเปตด้วย   แต่ปัจจุบันนี้เสียหายมากจนแทบจะมองไม่เห็นแล้ว

               รูปสลักดังกล่าวแสดงภาพตอนที่บรรดานักบวช กำลังแบกหามเรือที่ทำด้วยไม้  มีเก๋งปิดมิดชิดอยู่ตรงกลาง   สันนิษฐานว่า  ภายในเก๋งจะมีรูปสลักที่ทำด้วยทองคำของเทพเจ้าประจำวิหารวางอยู่ 


(เรือที่ประทับของเทพเจ้าอียิปต์ในตอนเดินทาง ที่ออกุส มาเรียส นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสได้จำลองขึ้นด้วยขนาดเท่าของจริง  วางอยู่ในวิหารเอ็ดฟู ส่วนด้านหลังคือ ที่ประทับของเทพเมื่อเทพกลับมาอยู่ในห้องศักดิ์สิทธิ์)

               ปกติเรือไม้ลำนี้จะวางอยู่บนแท่นบูชาในห้องศักดิ์สิทธิ์ ที่เรียกว่า HOLY OF THE HOLY เปรียบเทียบได้กับห้อง ครรคฤห ของวิหารฮินดู 

แท่นบูชา ดังกล่าวทำด้วยหินแกรนิต  หินที่มีคุณภาพดีที่สุดของอียิปตโบราณ  เป็นธรรมเนียมในยุคนั้นว่า   ของที่จะถวายแด่เทพเจ้าจะต้องเลือกเอาสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้  และ  ต้องไม่มีตำหนิ

เทพอามุน-รา กับ มเหสี คือ เทพีมุท ประทับอยู่กันคนละวิหาร  ทุกปี ปีละครั้ง  นักบวชของวิหารดังกล่าว  จะจัดพิธีเฉลิมฉลองการกลับมาอยู่ร่วมกันของเทพเจ้าทั้งสอง  เรียกว่าพิธี โอเปต  หรือ พิธีฮันนีมูน

ขบวนแห่ที่จะมีบรรดานักบวชช่วยกันหามเรือไม้ เคลื่อนไปพร้อมๆกับบรรดาชนชั้นนำของสังคมอียิปต์จำนวนมาก   ระหว่างเดินไป  ก็จะร้องรำทำเพลงไปด้วย  คล้ายๆกับขบวน รถะ ยาตรา ของ เมืองปูรี รัฐโอดิสสา ทีเดียว


(ขบวนแห่ของเทพอามุน-รา จะเดินจากห้องศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในสุด  ตรงมาข้างหน้าบนถนนสฟิงซ์ เพื่อตรงไปยังท่าน้ำริมแม่น้ำไนล์)

ตามข้อมูลระบุว่า  ขบวนแห่จะเดินออกจากห้องศักดิ์สิทธิ์ ตรงออกไปตามถนนสฟิงซ์  ซึ่งจะนำไปสู่ริมฝั่งด้านตะวันออกของแม่น้ำไนล์ในที่สุด

จากนั้น  ก็จะนำเรือที่แบกลงไปไว้ในเรือที่จอดเทียบท่าที่แม่น้ำไนล์  แล้วขบวนก็จะเคลื่อนที่ทวนน้ำไปยังวิหารลักซอร์

ส่วนวิธีที่ชาวอียิปต์โบราณเคลื่อนเรือไปตามแม่น้ำไนล์จะเป็นอย่างไร  รอติดตามอ่านในสัปดาห์หน้าครับ

               ท่านผู้อ่านสามารถอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังทั้งหมด 7 ปี  สามารถไปที่ www.whiteelephanttravel.co.th    แล้วไปที่ blog  “ซอกซอนตะลอนไป” ได้ครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .