ซอกซอนตะลอนไป (3 ตุลาคม 2564)
จากพิธี รถะ ยาตรา ของฮินดู ย้อนกลับไปสู่พิธีโอเปต ของอียิปต์โบราณ(ตอน4)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ใน 3 ตอนก่อน ผมได้พูดถึงเทศกาล รถะ ยาตรา ของ ศาสนาฮินดู สัปดาห์นี้ ผมขอเชื่อมโยงไปยังเทศกาลสำคัญที่สุดเทศกาลหนึ่งของอียิปต์โบราณ
อียิปต์โบราณที่ผมกำลังจะพูดถึงอยู่นี้ หมายถึง อียิปต์ในช่วงเวลาเมื่อกว่า 3 พันปีเศษที่แล้ว ซึ่งเป็นยุคอาณาจักรใหม่(NEW KINGDOM) ขณะนั้น อียิปต์มีเมืองหลวงอยู่ที่เมือง ธีบส์(THEBES) หรือ เมืองลักซอร์(LUXOR)ในปัจจุบัน
(ภาพเขียนบนผนังในสุสานของฟาโรห์ KHNUMHOTEP II อายุประมาณ 1900 ปีก่อนคริสตกาล ระบุว่า เป็นชาวฮิคโซส ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกของอียิปต์โบราณที่พูดถึงชื่อ ฮิคโซส-ภาพจากวิกิพีเดีย)
อียิปต์สถาปนาเมืองธีบส์เป็นเมืองหลวง หลังจากที่ได้ขับไล่ผู้รุกรานที่เรียกขานกันว่า ฮิคโซส(HYKSOS) ที่แปลว่า “คนต่างชาติ” ที่เข้ามายึดครองอียิปต์ในช่วง 1650 -1550 ปีก่อนคริสตกาล และตั้งเมืองหลวงที่เมือง อาวาริส(AVARIS) ที่อยู่ทางตอนเหนือในบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงปากแม่น้ำไนล์
จนเมื่อชนพื้นเมืองชาวอียิปต์สามารถรวมตัวกันขับไล่พวกฮิคโซส ออกไปได้ จึงเลือกที่จะสถาปนาเมืองหลวงแห่งใหม่ให้ไกลลงมาทางใต้ของประเทศ ในกรณีที่มีผู้รุกรานกลุ่มใหม่จากทางเหนือรุกรานเข้ามาอีก ก็จะมีระยะห่างพอสมควรที่จะตั้งรับได้
เมืองหลวงแห่งใหม่นี้ ถูกเรียกโดยชาวกรีกในเวลาต่อมาว่า ธีบส์
เนื่องจากสภาพภูมิอากาศของอียิปต์ แตกต่างจากประเทศในยุโรป และ ประเทศในเอเชียอย่างมาก จึงทำให้การแบ่งฤดูกาลของอียิปต์แตกต่างไปจากภูมิภาคอื่นๆทั่วโลกด้วย
อียิปต์แบ่งฤดูกาลออกเป็น 3 ฤดู เริ่มต้นด้วย ฤดูน้ำท่วม (AKHET) ฤดูเพาะปลูก(PERET) และ ฤดูเก็บเกี่ยว (SHEMU) แต่ละฤดูกาลจะกินเวลาประมาณ 4 เดือน
แต่ละฤดูกาล จะมีผลกระทบอย่างมากต่อวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่สองฝั่งแม่น้ำไนล์
นักโบราณคดีเชื่อว่า พีระมิดที่กีซ่า หรือ สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่อื่นๆ มักจะสร้างขึ้นในช่วงฤดูน้ำท่วม เพราะเป็นช่วงที่ชาวไร่ชาวนาไม่สามารถประกอบอาชีพของตนเองได้ ฟาโรห์จึงให้แรงงานที่กำลังว่างงานเหล่านี้มาช่วยสร้างพีระมิดของพระองค์
ซึ่งเป็นข้อโต้แย้งต่อข้อสันนิษฐานก่อนหน้านี้ว่า ฟาโรห์ใช้แรงงานทาสมาสร้าง
บันทึกโบราณระบุว่า เทศกาลโอเปต(OPET) จะอยู่ในเดือนที่ 2 ของฤดูน้ำท่วม หรือ ฤดูอัคเคทที่อยู่ในช่วงเดือนมิถุนายน ถึง กันยายน เพราะในประเทศเอธิโอเปีย และ อูกันดา ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำไนล์จะตรงกับช่วงฤดูมรสุม ฝนจะตกหนักมากในเขตป่าดงดิบของประเทศเหล่านี้
ฝนตกหนักในป่าดงดิบมากเท่าไหร่ น้ำทั้งหมดจะไหลลงไปตามแม่น้ำไนล์ ที่ไหลต่อเนื่องไปออกที่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในสมัยก่อนยังไม่มีเขื่อนกั้นน้ำ น้ำหลากทั้งหมดจึงไหลท่วมสองฝั่งแม่น้ำไนล์นานประมาณ 4-5 เดือน ชาวไร่ชาวนาจึงจำต้องหยุดพักไปโดยปริยาย เพราะไม่สามารถทำไร่ไถนาได้
ชาวอียิปต์โบราณซึ่งอยู่ปลายแม่น้ำไนล์รู้ดีว่า เมื่อไหร่ที่ฤดูน้ำท่วมจะมาถึง ด้วยการสังเกตุจากดาวซิริอุส(SIRIUS) ที่จะโผล่ขึ้นมาจากขอบฟ้าด้านทิศตะวันออกเป็นหลัก
เทศกาล โอเปต คืออะไร
ความหมายของเทศกาล “โอเปต” ก็คือ การกลับมาพบกัน หรือ มาอยู่ร่วมกันอีกครั้งของเทพอามุน รา (AMUN-RA) หรือบางครั้งก็เรียกว่า อามุน เฉยๆกับ มเหสีที่มีนามว่า เทพีมุท(MUT) พูดตามภาษาปัจจุบันก็คือ การฮันนีมูนกันนั่นเอง
ทำไม ถึงต้องมีพิธีฮันนีมูน สัปดาห์หน้า ผมจะมาเล่าต่อครับ
ท่านที่ต้องการอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังทั้งหมด 7 ปี สามารถไปที่ www.whiteelephanttravel.co.th แล้วไปที่ blog “ซอกซอนตะลอนไป” ได้ครับ