ซอกซอนตะลอนไป (25 กรกฎาคม 2564)
ทำไม อินเดียจึงเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก(ตอน4)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
แม้อินเดีย จะเลือกรูปแบบการปกครองแบบอังกฤษ แต่กลับมีตำแหน่งประธานาธิบดี เพิ่มขึ้นมาอีกตำแหน่งหนึ่ง
หลังจากได้รับอิสรภาพจากอังกฤษในปีค.ศ. 1947 อินเดียมีสถานะเป็นประเทศเครือจักรภพที่มีกษัตริย์แห่งอังกฤษ ซึ่งขณะนั้นก็คือ พระเจ้าจอร์จ ที่ 6 (GEORGE VI)พระราชบิดาของสมเด็จพระราชินี เอลิซาเบธ ที่ 2 (ELIZABETH II) เป็นกษัตริย์แห่งอินเดีย
โดยมีผู้ดำรงตำแหน่ง ผู้สำเร็จราชการ (GOVERNOR GENERAL) ทำหน้าที่แทนพระเจ้าจอร์จ ที่ 6
รัฐธรรมนูญของอินเดีย ที่มี บี.อาร์. อัมเบดการ์(B.R.AMBEDKAR) เป็นหัวหน้าคณะกรรมการร่าง ได้ประกาศบังคับใช้ เมื่อวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 1950 ระบุให้มีตำแหน่งประธานาธิบดี ขึ้นมาอีกตำแหน่งหนึ่ง
จากร่างแรกๆของรัฐธรรมนูญอินเดียระบุว่า ประธานาธิบดีจะอยู่ในฐานะเดียวกับกษัตริย์อังกฤษ มีฐานะเป็นผู้นำของรัฐฯ แต่ไม่ได้เป็นผู้บริหารรัฐฯ ประกอบกับที่มาของประธานาธิบดี ไม่ได้เชื่อมตรงต่อประชาชน จึงมีอำนาจในขอบเขตที่จำกัด แต่มีเกียรติ
ประธานาธิบดี มีฐานะเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของทหารทุกเหล่า และมีอำนาจที่จะประกาศสงครามได้ โดยได้รับคำแนะนำ หรือ ชี้แนะจากคณะรัฐมนตรี
ประธานาธิบดี ยังมีฐานะเป็นผู้นำของสภาทั้งสอง มีสิทธิ์เรียกประชุมรัฐสภารวม สามารถสั่งให้สภาทั้งสองหยุดปฎิบัติงานชั่วคราว และ ยังสามารถสั่งยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ แต่ไม่มีสิทธิ์สั่งยุบวุฒิสภา
เทียบกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ประธานาธิบดีมีฐานะเป็นผู้นำของรัฐ(HEAD OF STATE) ในขณะที่ นายกรัฐมนตรีมีฐานะเป็นผู้นำของรัฐบาล(HEAD OF GOVERNMENT) ซึ่งทั้งสองตำแหน่งมีการผูกกัน และ คานกัน ในทางอำนาจโดยตลอด
จะว่าไป ประธานาธิบดีของอินเดีย จะทำหน้าที่คล้ายกับ กษัตริย์แห่งอังกฤษ กล่าวคือ เมื่อสภาทั้งสองผ่านกฎหมายใดมาแล้ว ก็จะต้องส่งมาให้ประธานาธิบดีเป็นผู้พิจารณาลงนามเป็นด่านสุดท้าย ซึ่งประธานาธิบดีมีทางเลือก 3 ทางคือ
ลงนามแล้วส่งกลับไป เพื่อประกาศเป็นกฎหมายในทันที
หรือ ประธานาธิบดี จะยึดกฎหมายเอาไว้เฉยๆ จนถึงกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ กฎหมายฉบับนั้นก็จะมีสถานะเป็นกฎหมายที่ประกาศใช้ไปโดยปริยาย
หรือ หากประธานาธิบดีส่งกลับไปให้รัฐสภา เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาใหม่อีกครั้ง หากรัฐสภาลงมติยืนยัน กฎหมายฉบับนั้นก็ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ทันที
ยกเว้นกฎหมายทางการเงินเท่านั้น ที่ประธานาธิบดีไม่มีสิทธิยับยั้ง
ที่รัฐธรรมนูญของอินเดียวางบทบาทเอาไว้แบบนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ประธานาธิบดี สามารถส่งสัญญาณเตือนแก่ประชาชนว่า รัฐสภา กำลังจะออกกฎหมายอะไรที่อาจจะขัดกับผลประโยชน์ของประชาชน เพื่อให้ประชาชน และ สื่อมวลชนจับตาดูกฎหมายนี้เป็นพิเศษ
เมื่อประธานาธิบดีจะเข้าดำรงตำแหน่ง เขาจะต้องสาบานตนกับ ประธานศาลฎีกา ในขณะเดียวกัน เมื่อประธานศาลฎีกาจะเข้ารับตำแหน่ง เขาก็จะต้องสาบานตนต่อหน้า ประธานาธิบดีด้วย
ศาลฎีกา สามารถลงมติปลดประธานาธิบดีได้ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 71 (1) แต่ประธานาธิบดีไม่สามารถปลดประธานศาลฏีกาได้
อำนาจในทางบริหารของประธานาธิบดีก็มีอยู่บ้างเช่นกัน ยกตัวอย่างในกรณีของรัฐเบงกอล ซึ่งผมได้เล่าให้ฟังไปในตอนก่อนหน้านี้ว่า เมื่อพรรค MTC ของนาง มามตา บาเนอร์จีได้ชัยชนะ และ นางบาเนอร์จี ได้ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าผู้บริหารรัฐฯ แต่เกิดปัญหาขัดแย้งกับ พรรคฝ่ายค้านคือ พรรค BJP จนทำให้เกิดทำร้ายกันจนมีผู้เสียชีวิตหลายราย
พรรคฝ่ายค้านจึงนำเรื่องร้องเรียนต่อ ผู้ว่าการรัฐฯ ซึ่งประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้ง เมื่อผู้ว่าการรัฐฯ เข้ามาไกล่เกลี่ยนก็ดูเหมือนจะสงบลงไป แต่หลังจากนั้นก็เกิดเรื่องขึ้นมาอีก
ฝ่ายค้านมีสองทางเลือก คือ หนึ่งนำเรื่องไปฟ้องร้องต่อศาล ซึ่งต้องใช้เวลานาน หรืออีกทางหนึ่งก็คือ ร้องต่อผู้ว่าการรัฐ เพื่อให้นำเรื่องเสนอไปยัง ประธานาธิบดี ให้ประธานาธิบดีมีความเห็นลงมา
หากประธานาธิบดีมีความเห็นว่า รัฐบาลของรัฐฯได้กระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เขาก็สามารถที่จะมีความเห็นสั่งให้ รัฐบาลแห่งรัฐฯหยุดปฎิบัติหน้าที่ชั่วคราวได้
กล่าวโดยรวม ประธานาธิบดี คือ ด่านหน้าสุดที่จะทำหน้าที่ปกป้องรัฐธรรมนูญ และ ไม่ให้ใครหน้าไหนก็ตาม กระทำการอันขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ติดตามเรื่อง ระบบประชาธิปไตยของอินเดีย ต่อในสัปดาห์หน้าครับ
ท่านที่ต้องการอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังทั้งหมด 7 ปี สามารถไปที่ www.whiteelephanttravel.co.th แล้วไปที่ blog “ซอกซอนตะลอนไป” ได้ครับ