ซอกซอนตะลอนไป (20 มิถุนายน 2564)
วิชาการตลาด ที่ลอกจากคัมภีรอุปนิษัท(ตอน1)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ในวิชาการตลาดสมัยใหม่ของโลกตะวันตก มีคำสอนอันหนึ่งว่า “ลูกค้าคือพระเจ้า”
แนวคิดทางการตลาดที่ว่านี้ เกิดขึ้นหลังยุคปฎิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งก่อให้เกิดผลผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก มากจนล้นและต้องระบายด้วยการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคที่มากขึ้น ความสำคัญจึงตกไปอยู่ที่ “ผู้บริโภค” หรือ “ผู้ซื้อ” เป็นหลัก
จึงเกิดวิชาการตลาดขึ้นมา
ในปี ค.ศ. 1909 เกิดวลีสำคัญทางการตลาดขึ้น “ลูกค้าถูกเสมอ” (CUSTOMER IS ALWAYS RIGHT) โดยนาย แฮร์รี่ กอร์ดอน เซลฟริดจ์(HARRY GORDON SELFRIDGE) ผู้เป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้า เซลฟริดจ์ ในกรุงลอนดอน
เป็นการประกาศเพื่อให้บรรดาลูกค้าได้ทราบว่า เขาจะได้รับการบริการที่ดีที่สุด และ เป็นการส่งข้อความสู่บรรดาพนักงานของเขาทั้งหมดว่า พวกเขาจะต้องให้บริการแก่ลูกค้าอย่างดีที่สุดด้วย
สันนิษฐานว่า ก่อนหน้านั้น การบริการลูกค้าคงจะเป็นไปแบบ “ตามยถากรรม” คือ ถ้าเจอพนักงานใจดีหน่อย อารมณ์ดีหน่อย ก็ได้รับบริการที่ดี แต่ถ้าเจอพนักงานโหด ก็ซวยไป
ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ อาจจะถูกพนักงานขายฉ้อโกง หรือ หลอกลวงก็ได้
หลังจากนั้นไม่นานนัก นายมาร์แชลล์ ฟิลด์ (MARSHALL FIELD) เจ้าของห้างสรรพสินค้าชิคาโก้ ก็ได้ประกาศให้พนักงานทุกคนถือเป็นคำสั่งว่า “อะไรก็ตามที่คุณผู้หญิงต้องการ จัดการให้เธอ”
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน นายซีซาร์ ริตซ์(CESAR RITZ) ชาวสวิสฯ ผู้เป็นเจ้าของโรงแรมชื่อดังหลายแห่ง เช่น โรงแรม ริตซ์(RITZ HOTEL) และ โรงแรม คาร์ลตัน(CARLTON HOTEL) ผู้กำหนดสโลแกนของโรงแรมให้พนักงานทุกคนปฎิบัติตามว่า
“ลูกค้าไม่เคยผิด”
เขายังออกนโยบายให้แก่พนักงานว่า “หากมีลูกค้าคนใดตำหนิเรื่องอาหาร หรือ ไวน์ ให้รีบเปลี่ยนอาหารจานนั้น หรือ ไวน์แก้วนั้นทันที โดยไม่ต้องถามอะไรทั้งสิ้น”
นโยบายทั้งหมดที่ว่ามา ไม่ต่างจากคำขวัญที่ว่า “ลูกค้าถูกเสมอ” ของนาย แฮร์รี่ กอร์ดอน เซลฟริดจ์ นัก
คำขวัญดังกล่าวแพร่กระจายออกไปในหมู่ผู้ทำงานการตลาด แต่อาจถูกดัดแปลงไปบ้างตามความเหมาะสมของประเทศเช่น เยอรมัน ปรับไปใช้เป็นว่า ลูกค้าคือพระราชา (THE CUSTOMER IS KING) ในขณะที่ญี่ปุ่นไปไกลสุดจินตนาการโดยใช้คำว่า ลูกค้าคือพระเจ้า (THE CUSTOMER IS A GOD)
จนถึงขนาดที่พนักงานของห้างในญี่ปุ่น จะต้องมายืนโค้งคำนับลูกค้าตอนเดินเข้าออกจากห้างเลยทีเดียว
คำพูดดังกล่าวได้กลายเป็นแนวคิดใหม่ที่สุดเพริดแพร้วของวิชาการตลาด และเป็นวิชาการตลาดที่สอนกันในมหาวิทยาลัยอย่างคึกคักในช่วง 40-50 ปีนี้ เพื่อตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้า
แต่เชื่อมั้ยครับว่า ชาวฮินดู เข้าใจปรัชญาการการขาย และ การบริการมานานกว่า 2 พันปีแล้ว
ทำไมผมถึงพูดแบบนี้ รอติดตามในตอนหน้าครับ
ท่านที่ต้องการอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังทั้งหมด 7 ปี สามารถไปที่ www.whiteelephanttravel.co.th แล้วไปที่ blog “ซอกซอนตะลอนไป” ได้ครับ