ซอกซอนตะลอนไป (25 เมษายน 2564)
อามาร์นา ที่น่าพิศวง(ตอน 3)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
เป็นเรื่องที่ค่อนข้างสับสน และ โต้แย้งกันในหมู่นักวิชาการว่า อาเมนโฮเทป ที่ 4 ได้ครองราชร่วมกับฟาโรห์ อาเมนโฮเทป ที่ 3 พระบิดาของพระองค์ในช่วงปลายรัชสมัยหรือไม่ เพราะแนวคิดแยกออกเป็นสองฝ่าย
พวกหนึ่งบอกว่า ทั้งสองเคยครองราชร่วมกันเป็นเวลาประมาณ 12 ปี แต่อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่า ไม่น่าจะเคยครองราชร่วมกันเลย แต่หากจะมี ก็น่าจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆไม่เกิน 2 ปี
แต่สุดท้าย ในเดือนกุมภาพันธ์ ปีค.ศ. 2014 กระทรวงโบราณวัตถุของอียิปต์(EGYPTIAN MINISTRY FOR ANTIQUITIES) ก็ประกาศโดยอ้างถึงหลักฐานจารึกที่นักโบราณคดีชาวสเปนขุดค้นขึ้นมาจากสุสานของ ผู้สำเร็จราชการต่างพระเนตรแห่งแคว้นคุช ที่มีชื่อ อาเมนโฮเทป ฮาย(AMENHOTEP-HUY)
อาเมนโฮเทป-ฮาย เคยเป็นสำเร็จราชการต่างพระเนตรของฟาโรห์ ตุตันคามุน และ เคยทำงานรับใช้ฟาโรห์ อัคเคนนาเตน ด้วย
หลักฐานดังกล่าวยืนยันว่า พ่อลูกคู่นี้ เคยครองราชร่วมกันอย่างน้อยที่สุด 8 ปี หรือ อาจจะสูงสุดถึง 12 ปี
ก็น่าจะสรุปได้ว่า ความสัมพันธ์ของสองพ่อลูกคงจะใกล้ชิดกันพอสมควร
แต่หลังจากอาเมนโฮเทป ที่ 3 สิ้นพระชนม์ อาเมนโฮเทป ที่ 4 ก็ขึ้นครองราชต่อมา และ ยังประทับอยู่ที่เมืองธีบส์
ทันที่ที่ขึ้นครองราช พระองค์ก็โปรดให้ประดับประดาประตูทางเข้าวิหารทางทิศใต้ของวิหารคาร์นัค ที่เมืองลักซอร์เสียใหม่ โดยให้แกะสลักเป็นภาพของพระองค์กำลังทำการบูชาเทพเจ้า รา-ฮอรัคตี (RE-HORAKHTY)
รา-ฮอรัคตี เป็นอีกรูปหนึ่งของ เทพเจ้ารา คือ เป็นส่วนผสมของเทพเจ้ารา กับ เทพฮอรัส และเช่นเดียวกับ เทพอามุน-รา ที่เป็นส่วนผสมของเทพเจ้ารา กับ เทพอามุน ซึ่งเป็นเทพท้องถิ่นของเมืองลักซอร์ในอดีต
หลังจากเป็นฟาโรห์ร่วมกับบิดามานานหลายปี อาเมนโฮเทป ที่ 4 ก็ขึ้นครองราชเป็นฟาโรห์เดี่ยวในเวลาต่อมา หลังจากบิดาของพระองค์สิ้นพระชนม์
ช่วง 4 ปีแรกของการขึ้นครองราช อาเมนโฮเทป ที่ 4 ยังเป็นฟาโรห์ปกติตามประเพณีของอียิปต์โบราณ และ ประทับอยู่ที่เมืองธีบส์ ซึ่งเป็นเมืองหลวง จนถึงปีที่ 5 ของการขึ้นครองราช แนวคิดของพระองค์ในเรื่องศาสนาก็เปลี่ยนแปลงไป
พระองค์โปรดให้สร้างวิหารเพื่อถวายแด่เทพอะเตน ขึ้นทางด้านทิศตะวันออกของวิหารคาร์นัค นักวิชาการเรียกรวมกันว่า วิหารของอาเมนโฮเทป ที่ 4 หรือ เกมปาเตน(GEMPAATEN) ที่มีความหมายว่า “เทพอะเตนสามารถประจักษ์ได้ในวิหารของเทพอะเตน”
เทพอะเตน (ATEN) คืออะไร
อันที่จริง หลักการของเทพอะเตน ก็ไม่ต่างไปจากแนวคิดทางศาสนาเดิมเท่าไหร่นัก เพราะอะเตน มีรูปลักษณ์ของวงกลมแบน คล้ายพระอาทิตย์ มีรัศมี หรือ แสงส่องออกไปทั่วทุกด้าน แสงของอะเตน จะมีรูปร่างเหมือนแขนที่ยื่นออกไป และมีมืออยู่ตรงปลาย
อาจไม่ต่างจากแนวคิดของเทพเจ้ารา เท่าใดนัก เพียงแต่ แนวคิดของอัคเคนาเตน เน้นที่การเคารพต่อแสงของอะเตน มิใช่ตัวเทพอะเตน
นักวิชาการบางคนบอกว่า อาเมนโฮเทป ที่ 4 ได้ออกคำสั่งให้ทำลายภาพสลักของเทพอามุน และ เทพเจ้าองค์อื่นๆของศาสนาอียิปต์โบราณทิ้งเสีย และ สั่งให้หันมานับถือ อะเตนแต่เพียงอย่างเดียว
เป็นการเปลี่ยนแนวคิดแบบนับถือเทพเจ้าหลายองค์(POLYTHEISM) มาสู่การเคารพเทพเจ้าเพียงองค์เดียว (MONOTHEISM) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตรของอียิปต์โบราณ
การเปลี่ยนความเชื่อเรื่องศาสนาในครั้งนี้ มีความรุนแรงเหมือนการเขย่าแผ่นดินอียิปต์ เพราะนอกจากประชาชนอาจจะเกิดความสับสนแล้ว ในแวดวงของพิธีกรรมภายในราชสำนัก ยังเกิดความโกลาหลอีกด้วย
โกลาหลเพราะ นักบวชผู้ทำพิธีในวิหารต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หัวหน้านักบวชประจำวิหารของเทพอามุน-รา เกิดความไม่มั่นใจในอนาคตของตัวเอง ว่าจะดำเนินไปในแนวทางไหน
ซึ่งก่อให้เกิดคลื่นใต้น้ำที่รุนแรงปานสึนามิ ขึ้นมาได้
จะรุนแรงอย่างไร รอติดตามอ่านได้ในสัปดาห์หน้าครับ
ท่านที่ต้องการอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังทั้งหมด 7 ปี สามารถไปที่ www.whiteelephanttravel.co.th แล้วไปที่ blog “ซอกซอนตะลอนไป” ได้ครับ