อามาร์นา ที่น่าพิศวง(ตอน 1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (11 เมษายน 2564)

อามาร์นา ที่น่าพิศวง(ตอน 1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ขอเปลี่ยนบรรยากาศจากเรื่องของศาสนาฮินดู มาเล่าเรื่องของอียิปต์โบราณ ที่ผมขอนำท่านผู้อ่านไปสู่ยุคที่ยังเป็นปริศนาในหลายๆเรื่องแม้จนทุกวันนี้

               ยุค อามาร์นา(AMARNA) ครับ


(ภาพด้านข้างของ ฟาโรห์ อัคเคนนาเตน หรือ อาจจะเป็นของ พระนางเนเฟอร์ตีติ ที่ให้อารมณ์ที่น่าลึกลับ ชวนพิสวงได้มาก – ขอบคุณเจ้าของภาพ)

               นักประวัติศาสตร์ให้น้ำหนักความสำคัญกับประวัติศาสตร์ยุคนี้มาก  จนกระทั่งพิพิธภัณฑ์ไคโร(เก่า) ได้จัดห้องแสดงวัตถุโบราณของยุคนี้เป็นพิเศษ

               เป็นยุคที่มีเสน่ห์ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ และ  ศิลปะ  ผมสนุกทุกครั้งที่ได้นำชมให้คณะของไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่  


(แผนที่แสดงที่ตั้งของเมืองหลวงเก่าของอียิปต์โบราณ)

               อียิปต์โบราณมีการย้ายเมืองหลวงอยู่หลายครั้ง  ครั้งแรกลงหลักปักฐานที่เมืองเมมฟิส(MEMPHIS) เมื่อประมาณ 5 พันปีที่แล้ว  อยู่ห่างจากกรุงไคโรประมาณ 20 กิโลเมตรเศษ   จากนั้นก็ย้ายลงมาทางใต้ อยู่ที่เมืองลักซอร์(LUXOR)ในปัจจุบัน ประมาณเกือบ 4 พันปีที่แล้ว ซึ่งนักประวัติศาสตร์มักจะเรียกชื่อเมืองนี้ว่า ธีบส์(THEBES)  ตามชื่อที่ชาวกรีซโบราณเรียกกัน

               จากนั้น  เมืองหลวงก็ถูกย้ายไปอยู่ที่เมืองอเล็กซานเดรีย(ALEXANDRIA) ทางเหนือสุดริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เมื่อประมาณ 2300 ปีที่แล้ว  ซึ่งเป็นเมืองหลวงสุดท้ายของอียิปต์โบราณก่อนที่จะย้ายมาอยู่ที่ไคโรจนทุกวันนี้  

               แต่ประวัติศาสตร์ช่วงสั้นๆช่วงหนึ่ง ประมาณ 17 ปี ในยุคอาณาจักรใหม่ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงนัก  อียิปต์โบราณมีเมืองหลวงอยู่ที่เมือง อามาร์นา(AMARNA)  ห่างจากเมืองลักซอร์ขึ้นไปทางเหนือประมาณ 400 กิโลเมตร  


(อาเมนโฮเทป ที่ 3)

               ประวัติศาสตร์ในยุค อามาร์นา ยังไม่ค่อยชัดเจนนัก  เนื่องจากการขุดค้นเมืองโบราณอามาร์นา ยังไม่คืบหน้าเท่าไร่นัก  และ  เมืองอามาร์นา มีอายุสั้นมาก จึงไม่เหลือหลักฐานทางโบราณคดีให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาสักเท่าไหร่นัก  

แต่ไม่แน่ว่า  ในอนาคตอาจจะพบหลักฐานมากกว่านี้ก็ได้  


(อาเมนโฮเทป ที่ 3 หรือ อัคเคนนาเตน)

               แต่เท่าที่รู้เคร่าๆก็คือ  เมืองอามาร์นา สถาปนาโดย ฟาโรห์ อาเมนโฮเทป ที่ 4 (AMENHOTEP IV) หรืออีกพระนามหนึ่งก็คือ อัคเคนนาเตน (AKHENATEN)

               ชื่อทั้งสองดังกล่าว  มีความหมายแฝงที่สำคัญยิ่งของประวัติศาสตร์อียิปต์โบราณ

               อาเมนโฮเทป ที่ 4 เป็นโอรสของ อาเมนโฮเทป ที่ 3 ซึ่งหากพิจารณาตามสำนึกแห่งจริยธรรมของยุคปัจจุบัน   ทั้งสองน่าจะต้องมีความสัมพันธที่ดีต่อกันฉันพ่อลูก

               แต่ไม่ใช่


(วิหารลักซอร์ ซึ่งทั้ง อาเมนโฮเทป ผู้พ่อและลูก ต่างก็มีส่วนในการสร้างต่อเติมด้วยกันทั้งคู่)

               ทั้งสองดูเหมือนจะมีความขัดแย้งอย่างร้าวลึกในเรื่องความเชื่อทางศาสนา  จนนำไปสู่การล้างผลาญกันอย่างดุเดือด

               ความขัดแย้งดังกล่าว  อาจจะถือได้ว่าเป็นความขัดแย้งแบบถอนรากขุดโคนกันเลยทีเดียว เสมือนเป็นการปฎิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง  ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบอย่างหนักหน่วง และ กว้างขวาง

               เพราะในยุคก่อนหน้าฟาโรห์ อาเมนโฮเทป ที่ 4  ชาวอียิปต์นับถือเทพเจ้าจำนวนมากมาย(POLYTHEISM) จนแทบจะนับไม่ถูก  โดยมีนักบวชเป็นผู้ผูกขาดอำนาจ และ สิทธิในการติดต่อ  และ  การจัดการพิธีกรรมในการบวงสรวงต่อเทพเจ้าอียิปต์แต่เพียงผู้เดียว

               จะว่าไป   นักบวชเหล่านี้  ก็เหมือนวรรณะพราหมณ์ของฮินดู  เพียงแต่ไม่ปรากฎหลักฐานชัดเจนว่า  อียิปต์โบราณได้แบ่งชนชั้นอย่างเคร่งครัด แบบของฮินดูหรือไม่

               แต่ที่แน่ๆก็คือ  ในสถานการณ์ดังกล่าว  นักบวชอียิปต์โบราณจึงเป็นผู้ทรงอิทธิพลอย่างยิ่งในแวดวงชั้นสูงของอียิปต์

               ซึ่งผมจะได้เล่าต่อในตอนต่อไป  เกี่ยวกับเรื่อง อามาร์นา

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

               ท่านที่ต้องการอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังทั้งหมด 6 ปี  สามารถไปที่ www.whiteelephanttravel.co.th    แล้วไปที่ blog  “ซอกซอนตะลอนไป” ได้ครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .