ซอกซอนตะลอนไป (21 มีนาคม 2564)
การศึกษาอินเดีย ทิ้งไทยไม่เห็นฝุ่น(ตอน 7-จบ)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
อังกฤษเปิดวิทยาลัยการแพทย์แห่งแรกของอินเดียที่ เมืองกัลกัตตา ในปีค.ศ. 1835 หรือ พ.ศ. 2378 หลังจากนั้นอีก 22 ปี คือในปีค.ศ. 1857 หรือ พ.ศ. 2400 อินเดียก็วางรากฐานทางการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญตราบจนทุกวันนี้ ก็คือ
การก่อตั้งมหาวิทยาลัย กัลกัตตา(UNIVERSITY OF CALCUTTA) ซึ่งถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของเอเชีย
นับเป็นการเปิดประตูประเทศอินเดียไปสู่โลกอันกว้างใหญ่ทางการศึกษาสมัยใหม่
เพื่อเป็นข้อมูล มหาวิทยาลัยโตเกียว เปิดในปีค.ศ. 1877 หรือ พ.ศ. 2420 , มหาวิทยาลัยปักกิ่ง เปิดในปี ค.ศ.1898 หรือ พ.ศ.2441 และ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยเปิดในปีค.ศ.1917 หรือ พ.ศ. 2460
การก่อตั้งก่อนหรือหลังเป็นองค์ประกอบบางส่วน แต่การบริหารงานให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีประสิทธิภาพตราบจนทุกวันนี้ เป็นเรื่องสำคัญกว่า
ปัจจุบันนี้ มหาวิทยาลัยกัลกัตตา ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยระดับ 5 ดาว ของอินเดีย และได้รับการยกย่องให้เป็นมหาวิทยาลับเกรด A โดย National Assessment and Accreditation Council และ ได้รับรางวัลในฐานะ มหาวิทยาลัยที่มีพัฒนาการไปสู่ความเป็นเลิศ โดย University Grants Commission (UGC)
มีข้อมูลที่น่าสนใจของความสำเร็จทางการศึกษาของอินเดีย ที่ผมอยากนำมาเสนอให้ท่านผู้อ่านได้ทราบก็คือ อินเดียมีผู้ได้รับรางวัลระดับนานาชาติมากมาย รวมทั้ง รางวัลโนเบลด้วย
ท่านรพินทรนาถ ตะกอร์ (RABINDRANATH TAGORE) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เมื่อปีค.ศ. 1913 หรือ พ.ศ. 2456 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จากผลงานรวมบทประพันธ์ของเขาที่เรียกว่า คีตาญชลี (GITANJALI)
เป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้
นอกจากนี้ เขายังได้รับพระราชทานตำแหน่ง “อัศวิน”(KNIGHT) จากรัฐบาลอังกฤษที่ปกครองอินเดีย ในปีค.ศ. 1915 แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวอินเดียที่ออกมาเรียกร้องอิสรภาพจากอังกฤษ ที่ สวนจัลเลียนวาลา (JALLIANWALA BAGH) ที่เมือง อัมริตสา(AMRITSAR) รัฐปัญจาบ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1500 คน
รพินทรนาถ ตะกอร์ ก็ประกาศขอคืนตำแหน่งดังกล่าวให้กับอังกฤษทันที เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วย และ แสดงการขัดขืนต่อการปกครองของอังกฤษ
คนต่อมาก็คือ ซี วี รามาน (C V RAMAN) เจ้าของรางวัลโนเบล ปีค.ศ. 1930 หรือ พ.ศ. 2473 สาขาฟิสิกซ์ เป็นผู้ค้นพบการกระจายตัวของแสง (LIGHT SCATTERING)
เอ็ช โกบินด์ โครานา (H GOBIND KHORANA) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาชีววิทยา หรือ การแพทย์ ในปี ค.ศ. 1968 เขาเกิดในรัฐปัญจาบ ของอินเดีย ต่อมาเปลี่ยนไปถือสัญชาติอเมริกา
แม่ชีเทซา (MOTHER TERESA) สาขาสันติภาพในปีค.ศ. 1979 หรือ พ.ศ. 2522 แม้ว่าแม่ชีเทเรซา จะไม่ใช่ชาวอินเดีย แต่ท่านก็ได้อุทิศตนให้แก่ภาระกิจแห่งความเมตตา ที่กอลกัตตาตราบจนวันเสียชีวิต
สุวาบห์มานยาม จันดราเซคหาร์ (SUBRAHMANYAM CHANDRASEKHAR) เจ้าของรางวัลโนเบล สาขา ฟิสิกซ์ ปีค.ศ. 1983
อมาร์ตยา เซน (AMARTYA SEN) ได้รับรางวัลโนเบลสาขา เศรษฐศาสตร์ ในปีค.ศ. 1998
เวนกิ รามากฤตชนาน (VENKI RAMAKRISHNAN) รับรางวัลโนเบล สาขาเคมี ในปีค.ศ. 2009
อภิจิต วินายัค บันเนอจี (ABHIJIT VINAYAK BANERJEE) รับรางวัลโนเบล สาขาวิทยาศาสตร์เศรษฐศาสตร์(ECONOMIC SCIENCES) ในปีค.ศ. 2009
ไกลาศ สัตยาร์ธิ (KAILASH SATYARTHI) รับรางวัลโนเบล สาขาสันติ ปีค.ศ.2014 คู่กับ มาลายา ยูซาฟไซ (MALAYA YOUSAFZAI) ชาวปากีสถาน
นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่มีผลงานที่น่าทึ่ง แม้จะไม่ได้รับรางวัลใดๆ เช่น ราดาห์นาถ ซิคดาร์ (RADHANATH SIKDAR) (ปีค.ศ.1813 -1870) ผู้คิดค้นวิธีวัดความสูงของภูเขาเอเวอร์เรสเป็นคนแรกในปีค.ศ. 1852 แต่ถูก แอนดรู สก็อตต์ วอจห์ (COLONEL ANDREW SCOTT WAUGH) ขโมยความสำเร็จไปเป็นของตนเอง
จากาดิช จันทรา โบส (JAGADISH CHANDRA BOSE) (ปีค.ศ. 1858 – 1937) ผู้ค้นพบคลื่นความถี่ของวิทยุ และ คลื่นไมโครเวฟ น่าจะเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ มาร์โคนี่ ชาวอิตาเลียน ค้นพบคลื่นวิทยุด้วย
ศรีนิวาสา รามานุจัน (SRINIVASA RAMANUJAN) (22 ธันวาคม ปีค.ศ.1887 – 26 เมษายน ปีค.ศ. 1920) นักคณิตศาสตร์ผู้คิดคำนวน INFINITE SERIES เป็นคนแรก
และ สัตยาจิต เรย์ (SATYAJIT RAY) ผู้กำกับภาพยนต์ ผู้ได้รับรางวัล ออสก้าสาขา LIFETIMES ACHIEVEMENT และรางวัลอื่นๆอีกมากมาย
บิลเกตต์ และ มาร์ซัคเคอร์เบิร์ก จะต้องเดินทางไปอินเดียเพื่อไปเยี่ยมมหาวิทยาลัย IT หลายแห่งของอินเดียทุกปี เพื่อทำการคัดเลือกคนไปทำงานที่บริษัทของเขา
นี่ยังไม่นับรวมบรรดา CEO ของบริษัท IT ดังๆของทั้งยุโรป และ สหรัฐอเมริกา เกือบทั้งหมดที่เป็น ชาวอินเดีย
ทำไม อินเดียซึ่งหลุดพ้นจากการปกครองของอังกฤษมานาน 74 ปีแล้ว จึงยังคงรักษาความก้าวหน้าทางการศึกษา และ การพัฒนาคนของเขาเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น และมั่นคง จนมีมหาวิทยาลัยดังๆที่มีผู้ประสบความสำเร็จในการทำงานในต่างประเทศด้วยระดับเงินเดือนที่สูงมาก เช่น IIM BANGALORE , IIM AHMEDABAD และ IIM KOLKATA
ยังไม่นับรวมจำนวนของผู้ดำรงตำแหน่ง CEO ชาวอินเดีย หรือ เชื้อสายอินเดีย ของบริษัท IT ขนาดใหญ่ของตะวันตกกว่า 20 บริษัท เช่น ซุนดรา พิชัย ของ บริษัทกูเกิ้ล , สัตยา นาเดลลา ของ ไมโครซอฟต์
ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า คนจะพัฒนาเพราะมีระบบการศึกษาที่ดี หรือ เพราะบรรพบุรุษยุคโบราณได้วางรากฐานเอาไว้ให้อย่างดี หรือเพราะมีเผ่าพันธุ์ หรือ สายเลือดที่ดี
เป็นเรื่องที่น่าขบคิด และ เสาะแสวงหาคำตอบ
ก็ขอจบเรื่องการศึกษาของอินเดีย ที่ก้าวล้ำไปอย่างไม่น่าเชื่อ แต่เราคนไทยก็ยังติดตาอยู่เพียงแค่ว่า ชาวอินเดียเป็นแค่แขกขายถั่ว ขายโรตี เป็นชาติสกปรก และ เป็นชาติด้อยพัฒนาเท่านั้น
สนใจจะไปเจาะลึกอินเดียแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ขอเชิญไปเจาะลึกด้วยกันหลังการระบาดของโควิด 19 ครับ
ท่านที่ต้องการอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังทั้งหมด 7 ปี สามารถไปที่ www.whiteelephanttravel.co.th แล้วไปที่ blog “ซอกซอนตะลอนไป” ได้ครับ
พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า ผมจะพูดถึงเรื่อง การทูตที่มีรสนิยมของ บราซิล ครับ