เมื่อวันมาฆะบูชา ไม่ตรงกับวันในประเพณีนิยม

เมื่อวันมาฆะบูชา ไม่ตรงกับวันในประเพณีนิยม

โดย             เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ

               วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ถือเป็น  วันมาฆะบูชา ตามประเพณีความเชื่อพุทธศาสนาในประเทศไทย

               เชื่อกันว่า  วันมาฆะบูชา ในสมัยพุทธกาล  เกิดเหตุการณ์สำคัญทางศาสนาพุทธ 4 ประการด้วยกัน คือ

               หนึ่ง  พระสงฆ์ 1250 รูป มาประชุมพร้อมเพรียงโดยไม่ได้นัดหมาย  สอง พระสงฆ์ที่มาประชุมพร้อมกัน เป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าเป็นผู้อุปสมบทให้  สาม  พระสงฆ์ทุกรูปล้วนบรรลุเป็นพระอรหนต์ทั้งสิ้น  สี่  วันนั้นตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 หรือที่เรียกว่า มาฆะ ปูรณิมา (MAGHA PURNIMA)

               รวมเรียกว่า  วันจาตุรงคสันนิบาต

               ดังนั้น  การรำลึกถึงวันมาฆะบูชา  จึงต้องเน้นที่การกำหนดวันที่ถูกต้อง คือ  วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 3  ตามปฎิทินไทย 

               ปฎิทินของไทยจึงระบุวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ว่า  ตรงกับวันมาฆะบูชา  ซ้ำยังระบุว่า  เป็นวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 4 (เดือน 4 หรือ เดือน 3 เป็นการนับในแบบปีที่มีเดือน 8 สองครั้ง หรือ ครั้งเดียว ตามปีนั้นๆ)

               ซึ่งผิดพลาดอย่างมาก

               เพราะเมื่อไปตรวจดูจากปฎิทิน ดริก ปัญจาง ของฮินดู ก็จะเห็นว่า  เขาระบุว่า  วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำของเดือนมาฆะ ตรงกับวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564 

               เราจะมาดูรายละเอียดเรื่องนี้กันครับ

               บางแนวคิดในเรื่องการกำหนดวันมาฆะบูชา ระบุว่า  จะเป็นวันที่ พระจันทร์(๒)เพ็ญเต็มดวง  หรือ  ตรงกับขึ้น 15 ค่ำในมาฆะฤกษ์ ซึ่งตามแนวทางของโหราศาสตร์ไทย ถือว่าเป็นกลุ่มดาวฤกษ์ที่ 10 ของจักราศี  ซึ่งเป็นฤกษ์ที่ดี เพราะเป็นฤกษ์เต็ม  คือ ไม่ใช่ฤกษ์ที่คร่อม 2 ราศี ที่เรียกว่า  ฤกษ์ขาด

               ในวิชาโหราศาสตร์ไทยกำหนดให้มีฤกษ์นักษัตร อยู่ 27 ฤกษ์ด้วยกัน คือ  อัศวินี , ภรณี , กฤติกา , โรหิณี , มฤคศิร , อาทรา , ปุณรวสุ , บุษยะ , อาษเลษ , มาฆะ , บูรพผล , อุตรผล , หัสตะ , จิตรา , สวาดิ , วิสาขะ , อนุราธะ , เชษฐะ ,  มูละ , บูรพษฒ , อุตรษฒ , ศรวณะ , ธนิษฐะ ,  ศตภิษัช , บูรพภัทร , อุตรภัท และ  เรวดี

               แต่ละฤกษ์จะมีความกว้างประมาณ 13.333องศา  

               ประเพณีไทยสอนกันต่อๆมาว่า  วันมาฆะบูชา จะถูเป็นวันจันทร์เพ็ญขึ้น 15 ค่ำในฤกษ์ที่ 10 หรือ มาฆะฤกษ์  และเป็นวันพระใหญ่ของประเพณีไทยด้วย (วันพระใหญ่ มี 2 วัน  คือ วันขึ้น 15 ค่ำ และ แรม 15 ค่ำ   ส่วนวันพระเล็กก็จะตรงกับวันแรม 8 ค่ำ และ  ขึ้น 8  ค่ำ ของแต่ละเดือน)

หมายความว่า   พระจันทร์(๒) จะต้องโคจรเพ็ญเต็มดวงใน มาฆะฤกษ์ ซึ่งอยู่ใน 4 ลูกนวางค์แรกของราศีสิงห์

               ในวันนั้น  พระอาทิตย์(๑) ก็จะต้องอยู่ในราศีกุมภ์ เล็งกันสนิทองศากับพระจันทร์(๒)  หรือ  ทั้งพระจันทร์(๒) และ พระอาทิตย์(๑) จะต้องมีองศาเท่ากันพอดี  (ตามรูป) 

               แต่สิ่งผิดปกติในปีนี้ก็คือ  พระจันทร์ ไม่เพ็ญ 15 ค่ำเต็มในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564  แต่จะเพ็ญในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564 ที่เวลาประมาณ 15 น.12 นาที 57 วินาที โดยประมาณ

               และปีนี้  พระจันทร์จะไม่เพ็ญใน มาฆะฤกษ์ ซึ่งเป็นฤกษ์ที่ 10  แต่จะเพ็ญในบูรพผลฤกษ์ ซึ่งเป็นฤกษ์ที่ 11 แทน

               ทำให้วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564 จะเป็นวันสุดท้ายของเดือนมาก์คะ (MAKHA)  และ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ก็จะเป็นวันแรม 1 ค่ำ  และเป็นวันแรกของเดือน ฟัลกูนา (PHALGUNA)

               ก่อนจะผ่านเรื่องนี้ไป  ขอเล่าเรื่องปฎิทินของฮินดู ก่อนครับ

               ปฎิทินของฮินดูเป็นแบบที่เรียกว่า ปฎิทินจันทรคติ ซึ่งยึดการโคจรของดวงจันทร์ เป็นหลัก   แต่ก็ไม่ทิ้งการโคจรของพระอาทิตย์ ไปเสียทีเดียว   เพียงแต่จะแตกต่างไปจากปฎิทินแบบสุริยคติของตะวันตกอย่างเช่น ปฎิทินเกรกอเรียน ตรงชื่อเรียกของเดือน  และ  วิธีการนับเดือน

               เพราะปฎิทินฮินดูจะยังอิงกับการโคจรของพระจันทร์อยู่บ้าง  ตรงที่การนับวันแรกของเดือน

               เดือนแรกของฮินดู มีชื่อเรียกว่า ไบซาคห์ ซึ่งจะตรงกับเดือนเมษายนตามปฎิทินสากลโดยประมาณ  จากนั้น  เดือนถัดไปก็คือ  เจสธา ,  อชาดา ที่ไทยเรียกว่า  อาสาฬหะ , ชราบาน  , บาห์ดรา  , อัศวิน ,  คาร์ติค  , มาร์กาซีร์ , โพซะ , มาก์คะ หรือ  มาฆะ , ฟาลกุน และ ชัยทรา

               แต่เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศที่กว้างใหญ่มาก และ มีความแตกต่างกันในเรื่องประเพณี  วัฒนธรรม อย่างค่อนข้างมาก   ดังนั้น  เดือนแรกของปีจึงอาจจะแตกต่างกันได้ในแต่ละพื้นที่   เช่น  ในรัฐเบงกอล จะนับเดือนไบซาคห์ เป็นเดือนที่ 1  

               ขณะที่รัฐพิหาร ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย  จะนับเดือนชัยทรา เป็นเดือนที่หนึ่ง 

               แต่ทุกรัฐจะเหมือนกันอยู่ข้อหนึ่งก็คือ  วันที่หนึ่งของเดือนจะเป็นวันแรม 1 ค่ำของเดือนเสมอ


(ปฎิทิน ปัญจาง ที่แสดงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ เป็นวัน PURNIMA SHUKLA หมายถึง วันพระจันทร์เต็มดวง) 

               แต่เมื่อพิจารณาจากปฎิทินปัญจางของฮินดู  ก็เป็นไปได้ว่า  วันมาฆะบูชา อาจจะนับเอาวันจันทร์เพ็ญ ในเดือน มาก์คะ เท่านั้น ซึ่งก็คือเดือนกุมภาพันธ์ ก็เป็นได้

               โดยไม่ได้มองว่า  ดวงจันทร์จะต้องเพ็ญใน มาฆะฤกษ์ ที่อยู่ในราศีสิงห์

               แต่ไม่ว่า   วันมาฆะบูชา จะตรงกับวันที่ 26 หรือ 27 หรือ 25 หรือ 28 ก็ตาม  มันก็คือเรื่องสมมติ ที่มนุษย์กำหนดขึ้นมาเอง ที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้ตามกาลเวลา

               แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลยก็คือ  การทำบุญ  ทำกุศล ไม่ว่าจะทำวันไหน  ทำข้างขึ้น หรือ  ข้างแรม   หรือ  จะทำในเดือนอะไร  ในฤกษ์อะไรก็ตาม

               ล้วนเป็นสิ่งที่ดีทั้งนั้น

               เพราะฉะนั้น   แม้จะผ่านวันมาฆะ ไปแล้วก็ตาม   ก็ยังสามารถทำบุญ  ทำกุศล  สวดมนต์  และ  สามารถปฎิบัติธรรมได้ทุกนาที

               และ ทุกลมหายใจ

               สวัสดีครับ

Posted in ชีวิตเป็นของมีค่า โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ.