บาตรของพระพุทธเจ้าที่เมืองคาบุล

ซอกซอนตะลอนไป                           (31 มกราคม 2564)

บาตรของพระพุทธเจ้าที่เมืองคาบุล

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               เมื่อ 2 เดือนก่อน  ผมได้รับข่าวชิ้นนี้ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ TIMES OF INDIA จากเพื่อนมัคคุเทศก์ ที่กอลกัตตา อินเดีย  จึงขอนำมาเล่าให้ฟัง

สาระสำคัญคือ รัฐบาลแห่งรัฐพิหาร ซึ่งมีเมืองสำคัญของสังเวชนียสถานทางศาสนาพุทธหลายเมืองตั้งอยู่  พยายามที่จะผลักดันให้รัฐบาลอินเดีย ดำเนินการขอคืน “บาตรของพระพุทธเจ้า” กลับคืนสู่อินเดีย


(ข่าวจากหนังสือพิมพ์ TIMES OF INDIA ที่เห็นบาตรที่ว่านี้ด้วย)

เพื่อเป็นไปตามความประสงค์สุดท้ายก่อนตายของนาย ประตาป ซิงค์(PRATAP SINGH) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการของชนบท(FORMER UNION RURAL DEVELOPMENT MINISTER)  และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ของ เมืองไพสาลี

               ทั้งนี้  เป็นผลมาจากการทำงานค้นคว้าวิจัยอย่างนักของ นักโบราณคดี ที่ประจำการอยู่ใน กอลกัตตา และ นาย พานิกันตา มิชรา(PHANIKANTA MISHRA) ผู้อำนวยการของ หน่วยงานขุดค้นทางโบราณคดีแห่งอินเดีย (ARCHEOLOGICAL SURVEY OF INDIA)   และได้ลงความเห็นว่า บาตรที่จัดแสดงอยู่ใน พิพิทภัณท์แห่งชาติคาบุล  ในอัฟกานิสถาน เป็นบาตรของพระพุทธเจ้าจริง

               ในจดหมายสั่งเสียก่อนตายของ  ซิงค์ ที่เขียนถึงท่านนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี(NARENDRA MODI) ขอให้ดำเนินการนำเอาบาตรของพระพุทธเจ้ากลับมาสู่สถานที่เดิมที่เคยประดิษฐาน  คือ  เมืองไพสาลี  และ  นายกโมดี ก็ได้สั่งการให้ดำเนินการไปตามความประสงค์ของนายซิงค์  


(เซอร์ อเล็กซานเดอร์  คันนิงแฮม)

               ย้อนกลับไปที่รายงานของ ผอ.คนแรกของหน่วยงานขุดค้นทางโบราณคดีของอินเดีย , ท่านเซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม(SIR ALEXANDER CUNNINGHAM)  นักโบราณคดีชาวอังกฤษ  ซึ่งได้รับการยกย่องว่า เป็น “บิดาแห่งการสำรวจทางโบราณคดีของอินเดีย”  (ปีพ.ศ. 2357  –  พ.ศ.2436)  ระบุว่า 

บาตรยักษ์ทำด้วยหินน้ำหนัก 350 – 400 กิโลกรัม  เป็นบาตรของพระพุทธเจ้า ที่ได้ประทานให้แก่ชาวไพสาลี ก่อนที่พระองค์จะเดินทางไปยังเมืองกุสินากา(KUSHINAGAR) เพื่อเข้าสู่การดับขันธ์ปรินิพพาน

เมืองไพสาลี ห่างจาก เมืองกุสินากา ประมาณ 214 กิโลเมตร   


(เหรียญทองคำของพระเจ้า อนิษฐกะ จะเห็นว่าได้รับอิทธิพลจากศิลปะของกรีกเป็นอย่างมาก)

               ต่อมา  ในศตวรรษที่ 2 กษัตริย์กนิษฐกะ(KANISHKA) ได้นำเอาบาตรใบนี้จากเมืองไพสาลี ไปยังเมือง ปูรุชปูระ(PURUSHPURA) เมืองหลวงของพระองค์ ซึ่งปัจจุบันนี้ก็คือเมือง เปชวาร์(PESHWAR) ในประเทศปากีสถาน  

จากนั้น  บาตรใบนี้จึงถูกนำไปยังเมืองคันธาราฐ(GANDHARA) ปัจจุบันคือเมือง กันดาฮาร์ (KANDAHAR) ของประเทศอัฟกานิสถาน และ ถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ คาบุล เมื่อไม่กี่สิบปีนี้

ในปีค.ศ. 2014  นายกฯโมดี ได้มอบหมายให้ มิสรา (PHANIKANT MISHRA) ผอ.หน่วยงานขุดค้นทางโบราณคดีของอินเดีย  และ จี เอส ควาจา(MISHRA AND G S KHWAJA)  ผอ. ฝ่ายศึกษาจารึกโบราณของ อาหรับและเปอร์เชี่ยน แห่งเมือง นากปูร์ ในการปฎิบัติภารกิจนี้

มิสรา ได้พูดเอาไว้ ในปีค.ศ. 2014 ว่า   “หลังจากที่ทำการวิจัยที่เมืองคาบุล   ผมเชื่อมั่นว่า  นี่เป็นบาตรของพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน   ตัวอักษรบราห์มิ  (BRAHMI SCRIPT)ที่จารึกบนบรรทัดที่ 5 และ 6  ระบุชัดเจนว่า  นี่คือบาตรของพระพุทธเจ้า”

               เขายังยืนยันว่า  ดอกบัว 24 กลีบ เป็นดอกบัวเรียบๆ  ซึ่ง 6 กลีบยังอยู่ในสภาพเกือบเหมือนเดิม  เป็นสิ่งยืนยันว่า  มาจากยุคแรกๆของศาสนาพุทธ

นอกจากนี้  มีจารึกบนผนังด้านนอกของบาตรเป็นภาษาเปอร์เชี่ยน 6 บรรทัด  เป็นข้อความยืนยัน  ว่าเป็นบาตรของพระพุทธเจ้า (แต่ไม่ได้ระบุในเนื้อหาข่าวว่า  เขียนอย่างไร)


(พระถัง ซัม จั๋ง)

               นอกจากนี้ จากบันทึกของ หลวงจีน ฟาเหียน(FAXIAN) (ปีค.ศ. 337 – 422)  และ พระถังซัมจั๋ง(XUAN ZHANG)(ปีค.ศ. 602 – 664)  ที่เดินทางไปทั่วอินเดีย  ได้พูดถึง บาตรของพระพุทธเจ้าที่เมืองไพศาลีเอาไว้ด้วย  ซึ่งรายละเอียดในบันทึกของ หลวงจีน ฟาเหียน นั้น ตรงกับรายละเอียดของบาตรนี้ทุกประการ 


(เส้นทางการเดินทางของพระถัง ซัม จั๋ง ในประทศอินเดีย)

ความกังวลของ ผอ. หน่วยงานขุดค้นทางโบราณดีของอินเดีย ก็คือ เกรงว่าบาตรนี้จะถูกทำลายไปด้วยแบบเดียวกับการทำลายพระพุทธรูปบามิยัน(BAMIYAN BUDDHAS) โดยพวกตาลิบัน ในปีค.ศ. 2001 

               แต่โชคดีที่จนถึงขณะนี้ บาตรองค์นี้ ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด

               เกิดความถามมากมายว่า  ทำไม บาตรของพระพุทธเจ้า  จึงมีน้ำหนักมากขนาดนี้   และ  เป็นบาตรของพระพุทธเจ้า จริงหรือไม่

               ซึ่งผมจะไม่วิจารณ์  แต่ขอแค่นำข่าวมาถ่ายทอดต่อเท่านั้น   และรอดูผลว่า   การขอบาตรของพระพุทธเจ้าคืนมาสู่อินเดีย  จะลงเอยอย่างไร

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้า  ในเรื่อง  การศึกษาของอินเดีย ทิ้งการศึกษาไทยอย่างไม่เห็นฝุ่น ครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .