ซอกซอนตะลอนไป (3 มกราคม 2564)
แม้แต่เทพเจ้าฮินดู ก็หนีกรรมไม่พ้น(ตอน3)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ก่อนที่จะสิ้นชีพจากธนูของพระราม พาลีได้พูดกับพระรามหลายเรื่อง
พาลี ถามว่า “สุครีพ ได้ทำให้ภรรยาของข้าเป็นหม้าย และ ขโมยอาณาจักรของข้าไป นี่เป็นอาชญากรรม หรือความผิด หรือไม่”
พระราม ตอบว่า “ต่อน้องชายของท่าน ท่านจะต้องปฎิบัติกับเขาเช่นลูกชายของท่าน แม้ว่าเขาจะได้กระทำความผิด ท่านต้องให้อภัยแก่เขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเขาได้ให้สัญญาแก่ท่านแล้วว่า เขาจะเคารพท่านไปตลอดจนชีวิตจะหาไม่”
พาลีถามว่า “แม้ว่า ข้าจะได้กระทำผิด ก่ออาชญากรรมต่อน้องของข้า แต่ท่านมีสิทธิ์อะไรที่จะมาสังหารข้า”
พระรามตอบว่า
“ข้าได้รับอนุญาตจาก กษัตริย์ ภารตะ(KING BHARATA) ให้เป็นผู้แพร่ความถูกต้องเป็นธรรมให้กว้างไกลออกไป และ ให้จัดการลงโทษต่อพวกกระทำการที่เลวร้าย”
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม สาเหตุส่วนหนึ่งของการตายของพาลีก็มาจากที่เขาได้สัญญาว่า หากเขาผิดสัญญาในเรื่องนางทารา ก็ขอให้เขาตายด้วยคมธนูของพระวิษณุ
และ พระราม ก็คือ อวตารที่ 7 ของพระวิษณุ ที่เกิดอยู่ในยุค เทรต้า(TRETA YUGA) ซึ่งถือเป็นยุคที่ 2 ต่อจาก สัตยา ยุค (SATYA YUGA) ตามตำนานความเชื่อของศาสนาฮินดู ที่แบ่งยุคของโลกออกเป็น 4 ยุคใหญ่ๆด้วยกัน คือ สัตยา ยุค , เทรตา ยุค , วาพารา ยุค (DVAPARA YUGA) และ กลี ยุค (KALI YUGA)
หลังจากพาลีตายไป เรื่องราวของรามเกียรติ์ ก็ดำเนินต่อไปจนกระทั่งพระราม และ พวกสามารถตามไปเอาตัวนางสีดากลับคืนจากทศกัณฐ์ได้ ซึ่งผมจะไม่พูดถึงในบทความนี้
กาลเวลาผ่านไป จากยุคเทรค้า ก็มาถึงยุคที่ 3 คือ ยุควาพารา
ณ.เมืองมธุรา(MATHURA) มีเด็กชายคนหนึ่งถือกำเนิดขึ้นในราชวงศ์ ยาดาวา(YADAVA DYNASTY)
เด็กชายคนนี้มีลักษณะผิวพรรณที่โดดเด่น คือ มีสีดำ หรือ น้ำเงินแก่ ซึ่งต่อมาเด็กชายคนนี้ ถูกเรียกชื่อว่า กฤษณะ(KRISHNA) ซึ่งเป็นคำในภาษาสันสกฤต แปลว่า ดำ หรือ สีน้ำเงินเข้ม หรือ สีมืดๆ และยังมีความหมายว่า ผู้มีเสน่ห์อย่างมาก
นอกจากนี้ ในภาษาโหราศาสตร์ฮินดู ยังเรียกช่วงเวลาตั้งแต่ แรม 1 ค่ำเรื่อยไปจนถึงแรม 15 ค่ำประมาณร่วม 15 วันว่า กฤษณะปักษ์ ที่มีความหมายว่า (ช่วงเวลา)ที่กำลังจะมืด
ชีวิตตอนเด็กของพระกฤษณะ ค่อนข้างจะทุกข์เวทนามาก เพราะถือกำเนิดในคุก ต้องระหกระเหินจากบ้านเกิด ไปเป็นเด็กเลี้ยงวัว ภาพของพระกฤษณะ จึงมักจะปรากฎคู่กับวัว หรือ ลูกวัว เสมอ
เนื่องจากพระกฤษณะ เป็นเด็กสนุกสนาน ซุกซน ขี้เล่น ชอบล้อเล่นแกล้งเพื่อน จึงมีชื่อเรียกว่า มัคหาน ชอร์(MAKHAN CHOR) ที่แปลว่า โจรขโมยเนย
(ผมจะเล่าเรื่องของพระกฤษณะในรายละเอียด ในโอกาสหน้าครับ)
นอกจากนี้ พระกฤษณะยังได้รับฉายาว่า ผู้ขโมยหัวใจของผู้คน เพราะความเป็นคนน่ารัก ใส่ใจต่อคนอื่นๆ ทำให้ภาพที่ปรากฎของพระกฤษณะ มักจะห้อมล้อมไปด้วยผู้หญิง
ลักษณะประจำของพระกฤษณะ ก็คือ มักจะมีขลุ่ยอินเดียที่เรียกว่า บานสุรี (BANSURI) ติดตัวอยู่เสมอ และมักจะเป่าบรรเลงเพลงอยู่ริมแม่น้ำ ยมุนา ที่ไหลผ่านเมืองมธุรา
ว่ากันว่า เพลงที่บรรเลงด้วยขลุ่ยของพระกฤษณะ ช่างมีความหวานแหวว และ ไพเราะอย่างยิ่ง ราวกับเสียงขับขานของวิหคจากสวรรค์เลยทีเดียว
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ
สวัสดีครับ