แม้แต่เทพเจ้า ก็หนีกรรมไม่พ้น(ตอน2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (27 ธันวาคม 2563)

แม้แต่เทพเจ้า ก็หนีกรรมไม่พ้น(ตอน2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               พระศิวะ สั่งให้พาลี และ สุครีพ ซึ่งเป็นพี่น้องวานร มาช่วยกันผลักดันให้เขาพระสุเมรุตั้งตรง เพราะไม่เช่นนั้น  พระองค์ก็ไม่สามารถประทับบนเขาพระสุเมรุได้ 

               ทั้งสองเตรียมการโดยใช้ตัวของพญานาคมาพันรอบเขา แล้วให้บรรดาเทพเจ้า และ ผู้มีฤทธิ์ทั้งหลายมาช่วยกันฉุดลาก  แต่  เขาพระสุเมรุก็ไม่ขยับเขยื้อน   สุครีพจึงใช้อุบายเข้าไปจี้ที่สะดือพญานาค  จนพญานาคตกใจ  สะดุ้งสุดตัว  ทำให้เขาพระสุเมรุกลับมาตั้งตรงดังเดิม


(พาลี จะเห็นว่า  ผิวกายของพาลีมีสีแดง -ภาพจากวิกิพีเดีย)

               พระศิวะพอใจ จึงมอบตรีเพชรให้แก่พาลีเป็นรางวัล   และ ประทานพรให้แก่พาลีว่า  คราใดที่พาลีทำสงครามกับศัตรู  ขอให้พละกำลังของศัตรูลดลงครึ่งหนึ่ง และให้พลังนั้นมาอยู่ในตัวของพาลี

               เข้าใจว่า   ตอนนั้นสุครีพคงไม่ได้มาเข้าเฝ้าพระศิวะด้วย   พระศิวะจึงมอบ ผอบแก้วที่บรรจุนางทารา ให้ไปเป็นของขวัญแก่สุครีพ  แต่ฝากพาลีให้นำไปให้

               พระวิษณุ เห็นเช่นนั้นก็คัดค้าน  แต่พาลีทูลกับพระศิวะว่า  หากพระศิวะไม่ไว้ใจ  ก็จะขอสาบานว่า  หากตนเองยักยอกนางทาราไว้เอง  ไม่ยอมมอบให้แก่สุครีพ  ก็ขอให้ตัวเองต้องตายด้วยศรของพระวิษณุ

               พระศิวะ และ  พระวิษณุ จึงต้องยอมมอบผอบให้ไป  สุดท้าย  นางทาราก็ตกเป็นของพาลี ผู้พี่  ยังความแค้นแก่สุครีพน้องชาย 

               นี่คือรามเกียรติ์ ภาคภาษาไทย  ซึ่งออกจะติดมุกตลกแบบไทยๆ เช่น  จี้สะดือ    แต่ในฉบับภาษาสันสกฤตบอกว่า  พาลีเป็นกษัตริย์ปกครองนครขีดขิน(KISHKINDHA) มีนางทารา เป็นมเหสี  

               (ข้อมูลของภาคอินเดียบอกว่า  ผู้ที่ประทานพรให้แก่พาลี ก็คือ  พระพรหม ก็แล้วแต่จะเชื่อครับ)


(เทพเจ้าหลัก 3 องค์ของศาสนาฮินดู ประกอบด้วย พระวิษณุ  พระศิวะ และ  พระพรหม) 

               วันหนึ่ง  มีอสูรตนหนึ่ง นามว่า  มายาวี(MAAYAAVI) มาท้าทายพาลีที่หน้าประตูเมืองให้ออกไปสู้กัน   พาลียอมรับและออกไปสู้กัน  มายาวีสู้ไม่ได้วิ่งหนีเข้าไปในถ้ำ   พาลีตามเข้าไป   แต่ได้สั่งสุครีพให้รอข้างนอกถ้ำ

               พากพิจารณาเปรียบเทียบ  มายาวี  ก็น่าจะเป็น ทรพา ในฉบับไทย

               สุครีพ รออยู่นานก็ไม่เห็นพาลีออกมา  ซ้ำยังเห็นเลือดไหลออกมาจากในถ้ำอย่างมากมาย  ทำให้สุครีพเข้าใจว่า  พาลีตายเสียแล้ว  จึงเลื่อนแผ่นหินมาปิดที่ปากถ้ำ  แล้วกลับไปขึ้นครองราชเป็นกษัตริย์แห่งเมืองขีดขินแทนพาลี

               แต่ปรากฎว่า  พาลีสามารถเอาชนะอสูรมายาวี  และกลับออกมาได้   เมื่อเห็นว่า สุครีพ ได้เป็นกษัตริย์แทนตัวเองก็คิดว่า  สุครีพทรยศ

พาลีโกรธ และไม่ยอมรับฟังคำอธิบายใดๆจากสุครีพ  ขับไล่สุครีพออกจากเมืองไป  ซ้ำยังยึด รูมา(RUMA) ภรรยาของสุครีพมาเป็นภรรยาของตัวเอง

               ทำให้พี่น้องทั้งสองกลายเป็นศัตรูที่ไม่อาจคืนดีกันได้ตลอดไป


(พระราม และ พระลักษณ์ พบกับ สุครีพ ที่เขา ริชยามุค – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               สุครีพ หนีไปอยู่บนเขา ริชยามุค(RISHYAMUKH) ซึ่งเป็นที่เดียวที่พาลีไม่สามารถตามมาได้  เพราะ นักพรต มาตัง ได้สาปเอาไว้ว่า หากพาลีเหยียบเข้ามาในเขตแดนนี้เมื่อไหร่  เขาจะตาย

               เมื่อได้ทราบข่าวว่า  พระราม และ พระลักษณ์ กำลังออกตามหา สีดา ที่ถูกทศกัณฐ์ จับตัวไป  สุครีพ จึงขอไปร่วมกับพระรามในภารกิจนี้  ทั้งสองมีข้อตกลงกันว่า พระรามจะสังหารพาลี และ นำเอาบัลลังก์ของเมืองขีดขิน กลับมาให้แก่สุครีพเป็นการตอบแทน

               ตามความเห็นของพระราม   พาลี กระทำการไม่ถูกต้องที่ไปยึด รูมา ภรรยาของสุครีพมาเป็นของตน


(สุครีพ และ พาลี ต่อสู้กัน ในภาพนี้จะเห็นว่า  ผิวกายของทั้งคู่ไม่แตกต่างกันเลย พระรามแอบอยู่หลังต้นไม้ ยิงธนูสังหารพาลี – ภาพจากกูเกิ้ล)

               พระราม และ สุครีพ กลับมายังเมืองขีดขิน   ท้าทายให้พาลีออกไปสู้กัน  โดยมีพระรามแอบอยู่หลังต้นไม้เพื่อใช้ธนูสังหารพาลีเสีย  แต่ปัญหาก็คือ  พระรามไม่รู้ว่าวานรตัวไหนคือ  พาลี  เพราะทั้งสุครีพ และ พาลี เป็นพี่น้องฝาแผด  รูปร่างหน้าตาเหมือนกันมาก

               นี่คือข้อแตกต่างอีกเรื่องหนึ่งระหว่างภาคภาษาไทยกับต้นฉบับ  เพราะต้นฉบับเขาบอกว่า  พาลี และ สุครีพเป็นลูกฝาแฝดของกษัตริย์ ริคชาราชา (VRIKSHARAJA) จึงทำให้ทั้งสองมีรูปร่างหน้าตาเหมือนกันมากจนแยกไม่ออก

               แม้จะเป็นลูกตามสายเลือดของกษัตริย์ ริคชาราชา  แต่ทั้งพาลี และ สุครีพ เป็นลูกที่เกิดจากการภาวนาของพระพรหม (SPIRITUAL SONS)


(พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ  ซึ่งบางครั้งก็เรียกว่า กษัตริย์แห่งเทพ ผู้ปกครองสวรรค์ – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               บางข้อมูลบอกว่า  พาลีเป็นลูกของพระอินทร์ ที่เกิดกับ ริคชาราชา ซึ่งตอนนั้นเป็นผู้หญิง (อย่างงนะครับ  เพราะผมก็งง)  มีกายสีเขียว  และ  สุครีพเป็นลูกของสุริยเทพ  จึงมีกายสีแดง 

ทั้งนี้  ต้องเข้าใจก่อนว่า  เรื่อง รามเกียรติ์ นั้นมีที่มาจาก คัมภีร์ปุราณะ 18 คัมภีร์  ที่เขียนต่อๆกันมา  จึงย่อมมีความแตกต่างกัน


(สุริยะเทพ ทรงรถเทียมม้า 7 ตัว เพื่อขับเคลื่อนดวงอาทิตย์ –  ภาพจากวิกิพีเดีย)  

               แต่ของภาคภาษาไทยบอกว่า  พาลีเป็นลูกของพระอินทร์ที่แอบมาสมสู่กับนางสวาหะ ภรรยาของฤษี จึงมีผิวกายสีเขียว  ในขณะที่สุครีพเป็นลูกของพระอาทิตย์ที่แอบมาสมสู่กับนางสวาหะ  จึงมีผิวกายสีแดง

               สุดท้าย   สุครีพต้องเอาพวงมาลัยสีแดงมาคล้องคอ  ทำให้พระรามรู้ว่า  คนไหนคือพาลี  และสามารถลั่นธนูสังหารพาลีได้

               ทำให้น่าสงสัยว่า  หากพาลี และ สุครีพ มีสีกายที่แตกต่างกัน เป็นเขียว กับ แดง  ทำไม พระรามจึงมองไม่ออกว่า   วานรตัวไหนเป็นพาลี

               ในที่สุด   พาลีก็ถึงแก่ชีวิตด้วยน้ำมือของ พระราม ซึ่งเป็นอวตารของพระวิษณุ  ตามคำสาบานของพาลีที่ให้ต่อพระวิษณุ  

ก่อนพาลีจะตาย  ได้พูดอะไรบ้าง  ซึ่งจะนำไปสู่กรรมที่จะต้องชดใช้ในเวลาต่อมา  โปรดติดตามตอนต่อไปครับ

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ   สวัสดีครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .