เทศกาลดิวาลี(ตอน 4-จบ)

ซอกซอนตะลอนไป                           (6 ธันวาคม 2563)

เทศกาลดิวาลี(ตอน 4-จบ)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               วันที่ 4 ของเทศกาลดิวาลี  จะเป็นวันแรกของเดือนใหม่ตามปฎิทินฮินดู มีชื่อว่า  เดือนคาร์ติกา (KARTIKA) และเป็นวันแรกของข้างขึ้น หรือ ขึ้น 1 ค่ำ  ที่เรียกว่า ศุกขลา ปักษ์ (SHUKLA PAKSHA)

               หลายๆพื้นที่ของอินเดีย  จะถือเอาวันนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวฮินดู

วันก่อนหน้าที่เป็นวันที่ 3 ของเทศกาลดิวาลี จะเป็นวันสุดท้ายของเดือน อัศวิน(ASHVIN) ตามปฎิทินฮินดู และเป็นวันแรม 15 ค่ำ  หรือ อมาวสี(AMAVASYA)


(มหาบาลี  จากจินตนาการของศิลปิน  ดูไม่ค่อยโหดเท่าไหร่นัก)

               โอกาสที่จะมีการเฉลิมฉลองกันในวันนี้  เรียกว่า  บาลีพราติพาดา หรือ พัดวา  เพื่อเฉลิมฉลองการเดินทางกลับคืนสู่โลกของ มหาบาลี  (MAHABALI) ซึ่งบางท่านอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็น พาลี ที่เป็น ลิง  จากมหากาพย์ รามเกียรติ์  ที่ใช้ตัวสะกดในภาษาอังกฤษเหมือนกัน คือ BALI หรือ VALI

               มหาบาลี เคยเป็นกษัตริย์ปกครองบนโลกมนุษย์มาก่อน  และเป็นกษัตริย์ที่ดี  ทำให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข    นอกจากนี้  มหาบาลียังให้ความเคารพต่อพระวิษณุอย่างสูงสุด   ทำการบูชาพระวิษณุต่อเนื่องกันอย่างเคร่งครัด   จนกระทั่งพระวิษณุได้ให้พรแก่มหาบาลีว่า  จะไม่มีใครสังหารได้ 

               เมื่อได้พรนี้มา   มหาบาลี ก็รู้สึกเหิมเกริม  ไม่เกรงกลัวต่อใครอีกเลย   และปกครองแผ่นดินด้วยความโหดเหี้ยม  ทำให้ประชาชนเดือดร้อน  จนมีผู้ไปทูลต่อพระวิษณุให้มาช่วยจัดการ


(วามานา  อวตารหนึ่งของพระวิษณุ)

               พระวิษณุจึงต้องลงมาปราบ มหาบาลี  ด้วยการอวตารมาเป็น คนแคระ ที่มีชื่อว่า  วามานา(VAMANA)  ซึ่งถือว่าเป็นอวตารที่ 5 ของพระวิษณุ   แล้วออกมาท้าทาย มหาบาลีว่า  จะสามารถเอาชนะ มหาบาลี ได้ใน 3 ย่างก้าว   มหาบาลี  ย่ามใจคิดว่าศัตรูเป็นเพียงคนแคระ  จึงยอมจะต่อสู้ด้วย

               วามานา ขยับก้าวแรก ก็ก้าวลงไปยึดสวรรค์ทั้งหมด   ก้าวที่สอง  ก็ยึดโลกได้ทั้งหมด   ถึงตอนนี้  มหาบาลีรู้แล้วว่า  นี่ไม่ใช่คนแคระธรรมดา     หากแต่เป็นพระวิษณุ  จึงก้มศรีษะลงกราบแสดงความเคารพ  และ เพื่อมอบศรีษะให้แก่พระวิษณุ 


(วามานา ใช้เท้ากดลงไปบนศรีษะของ มหาบาลี)

               พระวิษณุ  ใช้หัวแม่เท้ากดลงบนศรีษะของ มหาบาลี ก็กดมหาบาลี ให้จมลงไปอยู่ในโลกใต้ดิน ที่เรียกว่า  พาตาล(PAATAL)

               แต่พระวิษณุ ก็ยังมีเมตตา เห็นแก่ มหาบาลี ว่าเป็นผู้ที่เคารพพระองค์อย่างสูงสุด  จึงอนุญาตให้ มหาบาลี สามารถกลับคืนสู่โลกได้ปีละหนึ่งวัน  ซึ่งก็คือ วันที่ 4 ของเทศกาลดิวาลี


(ภาพสลักก้าวย่าง 3 ก้าวของวามานา (TRIVIKRAMA-VAMANA-BALI) ที่ถ้ำบาดามิ ในรัฐการณาตะกะ อินเดีย)

               แนวคิดในเรื่องนี้ก็คือ  เป็นการย้ำเตือนให้มนุษย์ทุกคนอย่างหลงระเริงในอำนาจ  วาสนา  จนลืมคุณธรรม  จริยธรรม ที่มีความสำคัญยิ่ง

               บางพื้นที่ของอินเดีย  จะเฉลิมฉลองวันนี้ในฐานะ วันแห่งความรัก และ การอุทิศตนให้แก่กันของภรรยา และ สามี  สามีจะให้ของขวัญที่มีความหมายแก่ภรรยา

               วันที่ 5  ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเทศกาล ดิวาลี  เรียกว่า ไบ ดูจ (BHAI DOOJ) หรือ  ไบ ทิกา (BHAI TIKA)   เป็นวันที่เน้นการเฉลิมฉลองความผูกพันที่ดีระหว่าง พี่สาว น้องสาว ที่มีต่อ พี่ชาย น้องชาย

ตำนานของศาสนาฮินดู กล่าวว่า  หลังจากที่สังหารอสูร นะระกะสุรา แล้ว  พระกฤษณะได้เดินทางไปเยี่ยม ซับบราดรา(SUBHADRA)น้องสาว  ซึ่งต้อนรับพระกฤษณะ อย่างดียิ่งด้วยของหวาน และ ดอกไม้

นอกจากนี้  ซับบราดรา ยังได้แต้มสีบนหน้าผากของพระกฤษณะด้วย  ซึ่งเชื่อกันว่า  น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของ การฉลองในวันนี้    

               ตามธรรมเนียม  พี่สาวน้องสาว จะพบหน้ากับ พี่ชายน้องชาย  ในโอกาสนี้  พี่สาวก็จะใช้นิ้วก้อยเตะลงไปที่ลิ่มน้ำนม  แล้วแต้มลงบนหน้าผากของน้องชาย  แล้วใช้นิ้วเดิมแตะลงไปที่ถ่าน  แล้วแต้มลงไปที่จุดเดิมที่หน้าผาก  เพื่อให้สีของถ่านติดอยู่ตรงจุดนั้น   แล้วใช้นิ้วเดิมแตะลงไปที่ผงไม้กฤษณา  แล้วนำไปแต้มที่จุดเดิมที่หน้าผากของน้องชาย  เพื่อให้ความหอม  เป็นอันครบกระบวนการ

การแต้มที่หน้าผากนี้เรียกว่า  ไบ โฟตา (BHAI PHONTA) หรือ ไบ ดุจ  (BHAI DOOJ)


(สุขสันต์ วัน ไบดุจ)

               จากนั้น  พี่สาวก็จะทำการสวดมนต์ ที่เรียกว่า  มันตรา(MANTRA) เพื่ออวยพรให้น้องชายมีความสุข สุขภาพแข็งแรง

               เชื่อกันตามประเพณีว่า  จุดที่พี่สาวแต้มให้น้องชายบนหน้าผาก  เป็นนัยยะว่า  เป็นจุดที่ไม่อาจเคลื่อนย้ายได้  แม้ว่าจะมองไม่เห็นด้วยตาก็ตาม   และ  พี่สาวก็จะสวดมนต์ภาวนาให้พระเจ้าคอยดูแลน้องชายของเธอให้รอดปลอดภัย  จนถึงปีหน้าที่น้องชายจะมาให้พี่สาวแต้มหน้าผากอีกครั้ง

               ตรงจุดเดิม

               และวันนี้ก็คือ  วันสุดท้ายของเทศกาลดิวาลี  เทศกาลที่สำคัญที่สุดอีกเทศกาลหนึ่งของชาวฮินดู  ซึ่งเน้นปลูกฝังความรัก  ความผูกพัน  และ  การระลึกถึงกันของสมาชิกในครอบครัว

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .